สรุปความสำคัญ

ใบปอ, “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) และ “เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม สมาชิกกลุ่ม “ทะลุวัง” ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเหตุทำโพลสำรวจความคิดเห็นที่ตั้งคำถามว่า “คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อํานาจได้ตามอัธยาศัย” เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิตจนถึงสนามเป้า แม้ทั้งสามได้รับการประกันตัว แต่มีเงื่อนไขให้ติด EM และห้ามออกนอกบ้านวันละ 14 ชม. ภายหลังใบปอยังถูกถอนประกันจากการเข้าร่วมชุมนุมคัดค้านการประชุม APEC2022 ด้วย

การทำโพลดังกล่าวยังมีการดำเนินคดี "พลอย" เบญจมาภรณ์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี ด้วยอีกคน โดยมีรายงานว่าตำรวจได้ไปขอออกหมายจับ “พลอย” เช่นกัน แต่ศาลเยาวชนฯ ไม่อนุมัติ ทำให้ตำรวจต้องออกเป็นหมายเรียก และแยกดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชนเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นการดำเนินคดีกับเยาวชนเป็นการละเมิดสิทธิเด็กตามพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ต่อประชาคมโลก

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ใบปอ (นามสมมติ)
    • สุพิชฌาย์ ชัยลอม
    • เนติพร (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • เบญจมาภรณ์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

28 เม.ย. 2565 เวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปยังห้องพักของ “ใบปอ” และ “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) สมาชิกกลุ่ม “ทะลุวัง” พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงร่วมด้วย โดยไม่แจ้งรายละเอียดว่าเป็นเหตุจากคดีใด และมีหมายศาลมาด้วยหรือไม่ ทำให้พวกเธอไม่เปิดประตูให้ตำรวจ และแจ้งทนายความ

ภายในห้องพักซึ่งมี ใบปอ, เนติพร, "เมนู" สุพิชฌาย์ ชัยลอม, “พลอย” เบญจมาภรณ์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี และเพื่อนอีก 1 คน ตำรวจได้พยายามกดดันให้พวกเธอเปิดประตู เนติพรระบุในไลฟ์สดว่า ได้ยินเจ้าหน้าที่พูดว่า นิติบุคคลคอนโดกำลังไปตามช่างมาเปิดประตูซึ่งเป็นระบบดิจิตอล

ต่อมา เวลา 16.40 น. หลังทนายความไปถึงคอนโดที่พักดังกล่าวแล้ว ได้ขอดูหมายจากตำรวจ เบื้องต้นทราบว่า ตำรวจมีหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญาตลิ่งชันเพื่อพบบุคคลที่ถูกออกหมายจับ รวมทั้งมีหมายจับนักกิจกรรม 3 ราย คือ ใบปอ, เนติพร และ “เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่ง สน.บางซื่อ เป็นผู้ขอออกหมาย

หลังทนายความตรวจสอบหมายค้นแล้ว ได้แจ้งนักกิจกรรมที่อยู่ในห้องว่า เป็นหมายค้นเพื่อพบบุคคลเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิเข้าค้นห้อง และจะไม่มีการเข้าค้นห้องแต่อย่างใด ทำให้ใบปอ, เนติพร และเมนู ซึ่งถูกระบุชื่อว่ามีหมายจับยินยอมเปิดประตูออกจากห้องไปพบตำรวจ

ตำรวจชุดจับกุมได้อ่านหมายจับที่ออกโดยศาลอาญาให้ทั้งสามฟัง โดยพวกเธอรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง จากนั้นตำรวจแจ้งว่า จะนำตัวทั้งสามคนไปสอบปากคำที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) อย่างไรก็ตาม ก่อนออกเดินทาง โดยเมนูและใบปอ ถูกนำตัวขึ้นรถคันหนึ่ง มีเพื่อนเป็นผู้ไว้ใจติดตามไปด้วย ขณะเนติพรถูกแยกไปอีกคัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า จะเปลี่ยนไปทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำที่ สน.บางซื่อ แทน โดยระหว่างทางเมนูและใบปอได้เปิดกระจกรถและชูสามนิ้วไปตลอดทาง พร้อมตะโกนว่า “ตำรวจจับประชาชน”

แต่เมื่อรถคันที่ควบคุมตัวใบปอและเมนูไปถึง สน.บางซื่อ แล้ว ตำรวจได้ขับออกทางด้านหลัง สน. เข้าไปในซอยอินทามระ 4 ทำให้ทั้งสองโต้เถียงกับตำรวจและยืนยันว่าจะไป สน.บางซื่อ เท่านั้น ก่อนลงจากรถ กระทั่งทนายติดตามมาถึง และพูดคุยกับหัวหน้าชุดจับกุม จนในที่สุดทนายนั่งรถไปพร้อมใบปอและเมนูกลับไปที่ สน.บางซื่อ ซึ่งเนติพรถูกควบคุมตัวไปถึงก่อนแล้ว

ต่อมา เวลา 20.00 น. ตำรวจชุดจับกุมได้ทยอยทำบันทึกจับกุมใบปอ, เนติพร และเมนู ซึ่งทั้งสามทราบโดยเบื้องต้นว่า การจับกุมดังกล่าวเกิดจากเหตุ ทำโพลถามความเห็นประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามพระราชอัธยาศัย เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 ช่วงเย็น บริเวณทางเท้าระหว่างสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตกับรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร

ในระหว่างการทำบันทึกจับกุม ได้มีเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มาที่ สน.บางซื่อ และพยายามจะขอตรวจโทรศัพท์ของทั้งสามคน โดยอ้างว่ามีหมายขอเข้าถึงข้อมูล แต่ไม่ได้มีการแสดงหมายดังกล่าวให้ดูแต่อย่างใด ทั้งสามคนจึงปฏิเสธคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ไม่อนุญาตให้ตรวจค้นมือถือ

ชั้นจับกุมและสอบสวน ใบปอ, เนติพร, และเมนูได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมถึงไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งใบปอ, เนติพร และเมนูได้ถูกคุมขังที่ สน.บางซื่อ 1 คืน ก่อนในวันที่ 29 เม.ย. 2565 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลอาญาฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมคัดค้านการประกันตัวโดยระบุว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หากปล่อยตัวชั่วคราวไปอาจไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือกระทำความผิดในลักษณะซ้ำเดิมอีกได้

ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านการฝากขัง และขอให้เรียกพนักงานสอบสวนไต่สวน รวมทั้งคัดค้านการไต่สวนผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยให้พนักงานสอบสวนนำตัวใบปอ, เนติพร และเมนูไปร่วมการไต่สวนที่ศาล

อย่างไรก็ตาม ในราวเที่ยงวัน ศาลได้ทำการคอนเฟอเรนซ์มาที่ สน.บางซื่อ และสอบถามใบปอ, เนติพร และเมนู ว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่ โดยไม่ได้แจ้งให้ทนายความซึ่งรอฟังคำสั่งอยู่ที่ศาลอาญาว่าศาลจะมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอฝากขังหรือไม่ได้ทราบ ทั้งนี้ ทั้งสามคนได้คัดค้านการฝากขัง โดยอ้างเหตุผลว่าพวกตนไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ได้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่ศาลค้านว่าพฤติการณ์ข้างต้นไม่ได้เป็นเหตุที่จะให้ศาลอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฝากขัง ภายหลังทั้งสามพยายามบอกต่อศาลหลายครั้งว่า คัดค้านการฝากขัง แต่ศาลบอกให้ยอมรับโดยระบุว่า จะให้ประกันตัว ทั้งสามจึงกล่าวขอบคุณศาล ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน

หลังทนายความทราบคำสั่งให้ฝากขัง ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดคนละ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน

ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวงเงินที่ทนายความยื่นขอไป พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามกระทําการในทํานองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ให้ติด EM, ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 16.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันใหม่ และให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ ในการแจ้งพฤติการณ์คดีและคำร้องของฝากขังปรากฏชื่อของ “พลอย” เบญจมาภรณ์ ซึ่งเป็นเยาวชนด้วย โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้ไปขอออกหมายจับ “พลอย” เช่นกัน แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไม่อนุมัติ ทำให้ตำรวจออกเป็นหมายเรียกให้พลอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในเวลาต่อมา โดยคดีนี้เป็นคดีตามมาตรา 112 คดีที่ 3 ของเมนูและใบปอ ขณะที่เนติพร รวมทั้งพลอย เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 29 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43039)

ภูมิหลัง

  • เบญจมาภรณ์ (สงวนนามสกุล)
    นักกิจกรรมเยาวชน

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์