ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1788/2565

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.นาถนริศ รัตนบุรี รอง ผกก.สส.สน.บางซื่อ (ตำรวจ)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1788/2565

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.นาถนริศ รัตนบุรี รอง ผกก.สส.สน.บางซื่อ (ตำรวจ)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1788/2565

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.นาถนริศ รัตนบุรี รอง ผกก.สส.สน.บางซื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1788/2565
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.นาถนริศ รัตนบุรี รอง ผกก.สส.สน.บางซื่อ

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1788/2565
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.นาถนริศ รัตนบุรี รอง ผกก.สส.สน.บางซื่อ

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1788/2565
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.นาถนริศ รัตนบุรี รอง ผกก.สส.สน.บางซื่อ

ความสำคัญของคดี

ใบปอ, “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) และ “เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม สมาชิกกลุ่ม “ทะลุวัง” ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุทำโพลสำรวจความคิดเห็นที่ตั้งคำถามว่า “คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อํานาจได้ตามอัธยาศัย” เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิตจนถึงสนามเป้า แม้ทั้งสามได้รับการประกันตัว แต่มีเงื่อนไขให้ติด EM และห้ามออกนอกบ้านวันละ 14 ชม. ภายหลังใบปอยังถูกถอนประกันจากการเข้าร่วมชุมนุมคัดค้านการประชุม APEC2022 ด้วย

การทำโพลดังกล่าวยังมีการดำเนินคดี "พลอย" เบญจมาภรณ์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี ด้วยอีกคน โดยมีรายงานว่าตำรวจได้ไปขอออกหมายจับ “พลอย” เช่นกัน แต่ศาลเยาวชนฯ ไม่อนุมัติ ทำให้ตำรวจต้องออกเป็นหมายเรียก และแยกดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชนเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นการดำเนินคดีกับเยาวชนเป็นการละเมิดสิทธิเด็กตามพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ต่อประชาคมโลก

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

มนัสวรรณ แก้วชัยสา พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 บรรยายฟ้องใจความโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุในคดีนี้และในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 2 และมาตรา 6

ระหว่างวันที่ 17-18 เม.ย. 2565 จําเลยทั้งสามและเบญจมาภรณ์ หรือพลอย ซึ่งเป็นเยาวชนแยกดําเนินคดีต่างหา กับพวกอีกจํานวนหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 17 และ 18 เม.ย. 2565 จําเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าวข้างต้นได้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี “ทะลุวัง ” หรือ “Thaluwang” โพสต์รูปภาพพร้อมด้วยตัวหนังสือ ประกาศจัดกิจกรรมสํารวจความคิดเห็นหัวข้อ "คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อํานาจได้ตามอัธยาศัย” ในวันที่ 18 เม.ย. 2565 เวลา 16.00 น. เริ่มต้นที่ BTS หมอชิต พร้อมทั้งข้อความแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว

ต่อมา วันที่ 18 เม.ย. 2565 จําเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันทํากิจกรรมโพลสํารวจความคิดเห็นตามที่ได้โพสต์เชิญชวน โดยการแจกสติ๊กเกอร์ให้ประชาชนที่อยู่ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสห้าแยกลาดพร้าว และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามเป้า นํามาติดแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยบนแผ่นกระดาษซึ่งมีข้อความว่า “คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อํานาจได้ตามอัธยาศัย”

ภายหลังที่จําเลยทั้งสามกับพวกทํากิจกรรมสํารวจความคิดเห็นในนามกลุ่มทะลุวังดังกล่าวเสร็จแล้ว ยังได้แถลงต่อสื่อมวลชนที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามเป้า จากนั้นนําป้ายผลโพลดังกล่าวไปยืนชูใต้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงใช้อํานาจตามความพอใจหรือตามอัธยาศัย โดยไม่เหมาะสม ไม่ได้เป็นไปตามทํานองคลองธรรม และละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย อันเป็นการใส่ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน โดยจําเลยทั้งสามกับพวกมีเจตนาอาฆาตมาดร้ายและทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1788/2565 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปยังห้องพักของ “ใบปอ” และ “บุ้ง” เนติพร (สงวนนามสกุล) สมาชิกกลุ่ม “ทะลุวัง” พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงร่วมด้วย โดยไม่แจ้งรายละเอียดว่าเป็นเหตุจากคดีใด และมีหมายศาลมาด้วยหรือไม่ ทำให้พวกเธอไม่เปิดประตูให้ตำรวจ และแจ้งทนายความ

    ภายในห้องพักซึ่งมี ใบปอ, เนติพร, "เมนู" สุพิชฌาย์ ชัยลอม, “พลอย” เบญจมาภรณ์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี และเพื่อนอีก 1 คน ตำรวจได้พยายามกดดันให้พวกเธอเปิดประตู เนติพรระบุในไลฟ์สดว่า ได้ยินเจ้าหน้าที่พูดว่า นิติบุคคลคอนโดกำลังไปตามช่างมาเปิดประตูซึ่งเป็นระบบดิจิตอล

    ต่อมา เวลา 16.40 น. หลังทนายความไปถึงคอนโดที่พักดังกล่าวแล้ว ได้ขอดูหมายจากตำรวจ เบื้องต้นทราบว่า ตำรวจมีหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญาตลิ่งชันเพื่อพบบุคคลที่ถูกออกหมายจับ รวมทั้งมีหมายจับนักกิจกรรม 3 ราย คือ ใบปอ, เนติพร และ “เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่ง สน.บางซื่อ เป็นผู้ขอออกหมาย

    หลังทนายความตรวจสอบหมายค้นแล้ว ได้แจ้งนักกิจกรรมที่อยู่ในห้องว่า เป็นหมายค้นเพื่อพบบุคคลเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิเข้าค้นห้อง และจะไม่มีการเข้าค้นห้องแต่อย่างใด ทำให้ใบปอ, เนติพร และเมนู ซึ่งถูกระบุชื่อว่ามีหมายจับยินยอมเปิดประตูออกจากห้องไปพบตำรวจ

    ตำรวจชุดจับกุมได้อ่านหมายจับที่ออกโดยศาลอาญาให้ทั้งสามฟัง โดยพวกเธอรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง จากนั้นตำรวจแจ้งว่า จะนำตัวทั้งสามคนไปสอบปากคำที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) อย่างไรก็ตาม ก่อนออกเดินทาง โดยเมนูและใบปอ ถูกนำตัวขึ้นรถคันหนึ่ง มีเพื่อนเป็นผู้ไว้ใจติดตามไปด้วย ขณะเนติพรถูกแยกไปอีกคัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า จะเปลี่ยนไปทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำที่ สน.บางซื่อ แทน โดยระหว่างทางเมนูและใบปอได้เปิดกระจกรถและชูสามนิ้วไปตลอดทาง พร้อมตะโกนว่า “ตำรวจจับประชาชน”

    แต่เมื่อรถคันที่ควบคุมตัวใบปอและเมนูไปถึง สน.บางซื่อ แล้ว ตำรวจได้ขับออกทางด้านหลัง สน. เข้าไปในซอยอินทามระ 4 ทำให้ทั้งสองโต้เถียงกับตำรวจและยืนยันว่าจะไป สน.บางซื่อ เท่านั้น ก่อนลงจากรถ กระทั่งทนายติดตามมาถึง และพูดคุยกับหัวหน้าชุดจับกุม จนในที่สุดทนายนั่งรถไปพร้อมใบปอและเมนูกลับไปที่ สน.บางซื่อ ซึ่งเนติพรถูกควบคุมตัวไปถึงก่อนแล้ว

    ต่อมา เวลา 20.00 น. ตำรวจชุดจับกุมได้ทยอยทำบันทึกจับกุมใบปอ, เนติพร และเมนู ซึ่งทั้งสามทราบโดยเบื้องต้นว่า การจับกุมดังกล่าวเกิดจากเหตุ ทำโพลถามความเห็นประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามพระราชอัธยาศัย เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 ช่วงเย็น บริเวณทางเท้าระหว่างสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตกับรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร

    ในระหว่างการทำบันทึกจับกุม ได้มีเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มาที่ สน.บางซื่อ และพยายามจะขอตรวจโทรศัพท์ของทั้งสามคน โดยอ้างว่ามีหมายขอเข้าถึงข้อมูล แต่ไม่ได้มีการแสดงหมายดังกล่าวให้ดูแต่อย่างใด ทั้งสามคนจึงปฏิเสธคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ไม่อนุญาตให้ตรวจค้นมือถือ

    สำหรับบันทึกจับกุมครั้งนี้ ระบุว่าการจับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.กฤษฎางค์ จิตตรีพล ผู้กำกับ สน.บางซื่อ และ พ.ต.อ.อัครพล โยทะ ผกก.สส.บก.น.2 โดยมีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กก.สส.บก.น.2 และ สน.บางซื่อ กว่า 10 นาย ชั้นจับกุม ใบปอ, เนติพร, และเมนูได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมถึงไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม

    ในการสอบปากคำ พ.ต.ท.สุภัทร เหมจินดา พนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ได้ระบุรายละเอียดพฤติการณ์คดีว่า

    ก่อนเกิดเหตุทางเฟซบุ๊กของกลุ่ม “ทะลุวัง” ได้ประกาศจัดกิจกรรมสํารวจความคิดเห็นหัวข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยต่อมา เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 เวลาประมาณช่วงเย็น ใบปอ, เนติพร, สุพิชฌาย์ และเบญจมาภรณ์ได้ร่วมกันจัดทํากิจกรรมโพลสํารวจความคิดเห็นโดยมีการแจกสติกเกอร์ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่บริเวณทางเท้าหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT จตุจักร เพื่อให้ประชาชนนํามาติดแสดงความคิดเห็นบนแผ่นกระดาษซึ่งมีข้อความว่า “คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อํานาจได้ตามอัธยาศัย” ลงในช่องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

    โดยมีใบปอและสุพิชฌาย์ เป็นผู้ถือป้ายข้อความและแจกสติกเกอร์ เบญจมาภรณ์ทําหน้าที่คอยพูดเชิญชวนและช่วยแจกสติกเกอร์ให้ประชาชนเพื่อแสดงความคิดเห็น ส่วนเนติพรคอยเดินติดตามและช่วยถือของให้ โดยทั้งหมดได้ทํากิจกรรมโพลดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ย่านจตุจักร, ทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า BTS ห้าแยกลาดพร้าว, รถไฟฟ้า BTS สนามเป้า และบริเวณใต้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 หน้ากองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ โดยตลอดทางได้มีการแถลงต่อสื่อมวลชนอิสระที่ติดตามการทํากิจกรรมดังกล่าวด้วย

    จากการตรวจสอบพบว่า ข้อความการทํากิจกรรมโพลและการพูดแถลงต่อสื่อมวลชนดังกล่าว เป็นการกระทําที่ใส่ความให้ร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า พระมหากษัตริย์ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชน เป็นการเขียนโพลสํารวจความคิดเห็นที่ถามถึงอํานาจของกษัตริย์ และเป็นการทําโพลที่ไม่ตรงกับความจริง อันเป็นการไม่สมควร เป็นการล่วงอํานาจ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

    หลังจากจัดกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งสี่คนได้ยังได้มีการแถลงสรุปผลอ้างอิงในนามกลุ่มทะลุวัง เป็นการแสดงให้เห็นว่า ใบปอ, เนติพร, สุพิชฌาย์ และเบญจมาภรณ์ เป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม “ทะลุวัง ThaluWang” และมีการจัดทํากิจกรรมในลักษณะดังกล่าว

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาใบปอ, เนติพร และเมนู 1 ข้อหา คือ “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งสามให้การปฏิเสธ และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

    หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งใบปอ, เนติพร และเมนูได้ถูกคุมขังที่ สน.บางซื่อ 1 คืน

    การจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาในครั้งนี้ ทำให้คดีในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พุ่งขึ้นเป็น 204 คดี นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 – 29 เม.ย. 2565 โดยคดีนี้เป็นคดีตามมาตรา 112 คดีที่ 3 ของเมนูและใบปอ ขณะที่เนติพร รวมทั้งพลอย เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.บางซื่อ ลงวันที่ 28 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43039)
  • พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลอาญาฝากขังผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมคัดค้านการประกันตัวโดยระบุว่า เป็นความผิดเกี่ยวกับมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หากปล่อยตัวชั่วคราวไปอาจไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือกระทำความผิดในลักษณะซ้ำเดิมอีกได้

    ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลคัดค้านการฝากขัง และขอให้เรียกพนักงานสอบสวนไต่สวน รวมทั้งคัดค้านการไต่สวนผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยให้พนักงานสอบสวนนำตัวใบปอ, เนติพร และเมนูไปร่วมการไต่สวนที่ศาล โดยในช่วงกลางคืน ทนายความก็ได้ขอให้พนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำไว้ด้วยว่า ขอคัดค้านการฝากขังผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์หรือระบบจอภาพ

    อย่างไรก็ตาม ในราวเที่ยงวัน ศาลได้ทำการคอนเฟอเรนซ์มาที่ สน.บางซื่อ และสอบถามใบปอ, เนติพร และเมนู ว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่ โดยไม่ได้แจ้งให้ทนายความซึ่งรอฟังคำสั่งอยู่ที่ศาลอาญาว่าศาลจะมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอฝากขังหรือไม่ได้ทราบ ทั้งนี้ ทั้งสามคนได้คัดค้านการฝากขัง โดยอ้างเหตุผลว่าพวกตนไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ได้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่ศาลค้านว่าพฤติการณ์ข้างต้นไม่ได้เป็นเหตุที่จะให้ศาลอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฝากขัง ภายหลังทั้งสามพยายามบอกต่อศาลหลายครั้งว่า คัดค้านการฝากขัง แต่ศาลบอกให้ยอมรับโดยระบุว่า จะให้ประกันตัว ทั้งสามจึงกล่าวขอบคุณศาล ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน

    หลังทนายความทราบคำสั่งให้ฝากขัง ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดคนละ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตลอดถึงชั้นพิจารณาในวงเงินที่ทนายความยื่นขอไป พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามกระทําการในทํานองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ให้ติด EM, ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 16.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันใหม่ และให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

    ทั้งนี้ ในการแจ้งพฤติการณ์คดีและคำร้องของฝากขังปรากฏชื่อของ “พลอย” เบญจมาภรณ์ ซึ่งเป็นเยาวชนด้วย ซึ่งพนักงานสอบสวนจะออกเป็นหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 29 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43039)
  • พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องใบปอ, เมนู และบุ้ง ในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ กล่าวหาว่า ทั้งสามได้โพสต์เฟซบุ๊กบัญชี “ทะลุวัง ” หรือ “Thaluwang” ประกาศจัดกิจกรรมทำโพลสํารวจความคิดเห็นหัวข้อ "คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อํานาจได้ตามอัธยาศัย” ในวันที่ 18 เม.ย. 2565 เวลา 16.00 น. เริ่มต้นที่ BTS หมอชิต พร้อมทั้งข้อความแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว และทํากิจกรรมตามที่ได้โพสต์เชิญชวน ทั้งยังแถลงข่าวและนําป้ายผลโพลไปยืนชูใต้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10

    อัยการยังกล่าวหาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสาม เพื่อให้บุคคลที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงใช้อํานาจตามความพอใจหรือตามอัธยาศัย โดยไม่เหมาะสม ไม่ได้เป็นไปตามทํานองคลองธรรม และละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย อันเป็นการใส่ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน โดยจําเลยทั้งสามกับพวกมีเจตนาอาฆาตมาดร้ายและทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์

    ท้ายคำฟ้อง พนักงานอัยการคัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี อ้างเหตุว่า คดีมีอัตราโทษสูง และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1788/2565 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2565)
  • เมนูเดินทางไปศาลในนัดรายงานตัวตามสัญญาประกัน ส่วนใบปอและบุ้งถูกคุมขังอยู่ในคดีทำโพลขบวนเสด็จจึงไม่ได้ไปศาล โดยทนายความได้ยื่นคำร้องชี้แจงเหตุผลที่ทั้งสองไม่ได้มารายงานตัวตามนัด

    เนื่องจากคดีนี้ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสามระหว่างสอบสวนตลอดถึงชั้นพิจารณาคดี ทนายจึงไม่ต้องยื่นประกันใหม่หลังอัยการฟ้องคดี ศาลนัดสอบคำให้การวันที่ 3 ส.ค. 2565

    (อ้างอิง: คำร้องขอแจ้งเหตุไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาล ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1788/2565 ลงวันที่ 22 ก.ค. 2565)
  • นัดสอบคำให้การในคดีนี้และคดีแชร์โพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “ทะลุวัง” เมนูและ “โบ” พี่สาวของบุ้งในฐานะทนายความ พร้อมคณะทนายความเดินทางมาที่ห้องเวรชี้ บริเวณใต้ถุนศาลอาญา ส่วนบุ้งและใบปอไม่ได้ถูกเบิกตัวมาศาล แต่จะสอบคำให้การผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากทัณฑสถานหญิงกลางแทน

    ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทนายความได้เคยขอให้เบิกตัวทั้งสองคนมาขึ้นศาลในวันนี้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในเรือนจำเห็นว่าทั้งสองมีอาการเจ็บป่วย “จนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้” จึงไม่ได้เบิกตัวพามาศาลในวันนี้

    เมื่อโบพบหน้าบุ้ง บุ้งบอกกับพี่สาวทันทีว่า “เจ็บบริเวณหัวใจ” และจับบริเวณหน้าอกอยู่ตลอดๆ การถ่ายทอดสัญญาณวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของบุ้งและใบปอไม่ค่อยดีนัก และมีเสียงขาดกระท่อนกระแท่นไม่ชัดเจนทำให้ยากต่อการสื่อสารพอสมควร

    ต่อมาเมื่อศาลจะเริ่มอ่านคำฟ้องในคดีแชร์โพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก ‘ทะลุวัง’ ให้กับใบปอและเมนูได้ฟัง ใบปอนั่งฟังศาลในลักษณะหลับตาคล้ายกึ่งหลับ หลังเอนพิงเก้าอี้ลงไปสุดตัวจนเกือบจะเป็นท่านอน มีอาการชัดเจนว่าไม่มีสติและอ่อนเพลีย

    ด้านบุ้งจับบริเวณหน้าอกของตัวเองตลอด โดยเธอพูดย้ำอีกว่า “เจ็บบริเวณหัวใจ” คาดว่าน่าจะเป็นเพราะสาเหตุจาก ‘ภาวะโพแทสเซียมต่ำกว่าปกติ’ จากการอดหารประท้วงสิทธิในประกันตัวนานกว่า 2 เดือน เนื่องจากโพแทสเซียมเกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรงของกล้ามเนื้อหัวใจ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. แพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์เปิดเผยว่า “บุ้งมีภาวะโพแทสเซียมต่ำจนอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายได้เลย”

    คณะทนายความเห็นอาการในขณะนั้นของทั้งสอง จึงได้แถลงต่อศาลว่าอาการของทั้งสองย่ำแย่จนไม่สามารถที่จะเข้าใจคำฟ้องได้เลย ผู้พิพากษาจึงหยุดอ่านคำฟ้องและทำการวินิจฉัยอาการวิกฤตของทั้งสองผ่านจอภาพ

    ผู้พิพากษาถามใบปอว่า “ไหวไหม” ใบปอตอบว่า “ไม่ไหว” และฟังคำฟ้องไม่รู้เรื่องเลย

    ต่อมาศาลจึงเห็นสมควรให้เลื่อนนัดสอบคำให้การทั้งสองคดีออกไปเป็นวันที่ 5 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 น. เพราะเห็นว่าจำเลยไม่มีความพร้อม อันเนื่องจากปัญหาทางสุขภาพและความเจ็บป่วย

    สุดท้ายทนายความยังได้ร้องขอให้ศาลกำชับกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่าขอให้พาบุ้งและใบปอไปโรงพยาบาล เพื่อรักษาตัวจากการเผชิญอาการวิกฤตจากการอดอาหารประท้วงนานกว่า 2 เดือนด้วย โดยศาลรับว่าจะไปเน้นย้ำเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มีส่วนรับผิดชอบให้

    หลังแล้วเสร็จกระบวนการ เจ้าหน้าที่ของทัณฑสถานหญิงกลางก็ได้ขอศาลตัดสัญญาณภาพวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ทันที ทนายความจึงไม่ทราบว่า ทั้งสองจะถูกพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือไม่

    ทนายเผยว่า หากให้เปรียบเทียบสภาพของทั้งสอง ระหว่างก่อนเข้าเรือนจำกับสภาพในวันนี้ จะเห็นได้ชัดว่า บุ้งผอมลงมาก ส่วนลำคอและใบหน้าเล็กลงอย่างชัดเจน ร่างกายผอมเล็กลงในลักษณะตัวลีบเล็ก ตัวซีดเซียวคล้ายป่วยหนัก ด้านใบปอมีอาการเหนื่อยหอบ สีหน้าไม่สดชื่น ดูอ่อนล้า ซึ่งทนายย้ำอีกว่าใบปอก่อนเข้าเรือนจำดูสีหน้าสดใสกว่านี้เยอะมาก

    ด้านญาติอีกคนที่มารอเข้ารับบุ้งและใบปอวันนี้ แต่ไม่สามารถเข้าห้องเวรชี้เพื่อเจอหน้าทั้งสองได้ เผยว่า คนส่วนใหญ่มีภาพจำของบุ้งว่าเป็นคนที่ค่อนข้างก้าวร้าว ไม่นอบน้อมกับผู้ใหญ่ แต่จริงๆ แล้วบุ้งเป็นคนที่น่ารักมาก ที่เห็นว่าบุ้งมักพูดออกสื่อด้วยถ้อยคำรุนแรงก็เป็นเพราะความโกรธเกรี้ยวกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น

    “จริงๆ แล้วบุ้งเป็นคนที่น่ารักมาก คนรอบตัวจะรู้ดี เป็นคนที่มีนิสัยอ่อนโยน รักสัตว์ ที่บ้านของบุ้งรับแมวจรจัดมาเลี้ยงดู 10 กว่าตัว เจอแมวที่ไหนบุ้งจะเข้าไปหาและเปลี่ยนไปเป็นอีกคนทันที เธอรักแมวมาก”

    ญาติบุ้งเล่าว่า เป็นเพราะบ้านตรงข้ามบ้านบุ้งเป็นคุณอาสัตวแพทย์ที่เปิดคลินิกรักษาสัตว์ บุ้งจึงได้ใกล้ชิดกับสัตว์และช่วยหยิบจับให้คุณอาสัตวแพทย์มาตั้งแต่เด็กๆ ถึงกับขนาดว่า ตอนนี้บุ้งสามารถฉีดน้ำเกลือหรือยาให้แมวเองได้แล้ว รวมถึงวินิจฉัยอาการเบื้องต้นของแมวที่ไม่สบายได้อีกด้วย

    ญาติของเธอบอกอีกว่า ถ้าบุ้งออกมาได้ อยากพาเธอไปกินแกงไตปลา หมูกรอบ และผัดสะตอ 3 เมนูของโปรดของบุ้ง เพราะครอบครัวของบุ้งพื้นเพเป็นคนใต้ จังหวัดสงขลา บุ้งเลยชอบอาหารที่มีรสเผ็ด จัดจ้าน ถึงเครื่อง

    ญาติของบุ้งยังพูดถึงใบปอด้วยว่า ถ้าใบปอได้ออกมาอยากจะพาไปกินโดนัทคริสปี้ครีม เพราะก่อนจะเข้าเรือนจำ ใบปอส่งข้อความในลักษณะพูดซ้ำๆ มาขอร้องว่าขอให้ซื้อโดนัทคริสปี้ครีมจากห้างสรรพสินค้ามาให้กินหน่อย เพราะเธอชอบกินของหวานมาก แทบทุกอย่าง

    วันนี้พ่อของใบปอก็มารอเข้าพบลูกสาวเช่นกัน แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องเวรชี้ด้วย พ่อใบปอบอกว่า ใบปอและบุ้งอดอาหารนานกว่า 2 เดือนแล้ว อยากให้ศาลให้ประกันตัวลูกสักที เทอมที่ผ่านมา ศาลก็ให้ใบปอได้ประกันเพื่อออกมาสอบปลายภาค อีกไม่กี่วันมหาวิทยาลัยก็จะเปิดเทอมอีกแล้ว (ปีการศึกษาที่ 2 ภาคการเรียนที่ 1) ในวันที่ 8 ส.ค. นี้ ศาลพรากทั้งอิสรภาพ โอกาสในการได้เรียน พรากไปหมดแล้วทุกอย่าง

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1788/2565 ลงวันที่ 3 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46823)
  • ใบปอและบุ้งพร้อมทนายความเดินทางมาศาลตามนัด ส่วนเมนูไม่มาศาล ศาลจึงสอบคำให้การเฉพาะใบปอและบุ้ง ก่อนนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 31 ต.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ในส่วนของเมนูศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ให้ออกหมายจับและปรับนายประกันเต็มตามสัญญาประกัน เป็นเงิน 90,000 บาท

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณาและรายงานเจ้าหน้าที่ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1788/2565 ลงวันที่ 5 ก.ย. 2565)
  • นัดตรวจพยานหลักฐาน ฝ่ายโจทก์แถลงจะนำสืบพยาน 30 ปาก โดยมีพยานปากผู้กล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงนักวิชาการ เช่น ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เป็นต้น ใช้เวลาสืบ 5 นัด

    ส่วนฝ่ายจำเลยประสงค์สืบพยาน 25 ปาก ประกอบด้วยตัวจำเลย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขา นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ รวมถึงสื่อมวลชนและประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ขอใช้เวลาสืบ 6 นัด

    ศาลได้นำสำนวนขึ้นปรึกษารองอธิบดีที่รับผิดชอบเรื่องกำหนดนัดวันสืบพยาน เนื่องจากคู่ความขอสืบพยานจำนวนหลายปาก จากนั้นได้แจ้งว่า ศาลเห็นว่าในส่วนของโจทก์มีพยานที่เป็นกลุ่มเดียวกัน จึงให้โจทก์เลือกพยานมาสืบบางคน อนุญาตให้สืบ 3 นัด และในส่วนของจำเลยมีพยานในส่วนที่เป็นพยานนักวิชาการ ให้ทำความเห็นมาเป็นเอกสาร ไม่ต้องนำมาสืบพยานเพื่อความรวดเร็ว ให้นำเฉพาะประจักษ์พยานมาสืบที่ศาล อนุญาตให้สืบ 2 นัด

    กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 20 ต.ค., 12-13 ธ.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 14-15 ธ.ค. 2566

    ทนายจำเลยยังได้ยื่นขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารหลายรายการเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี อาทิ

    1. ต้นฉบับหรือสำเนาฉบับรับรองถูกต้อง สำนวนคดีทั้งหมดของศาลแพ่ง ระหว่างกระทรวงการคลังโจทก์ กับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

    2. รายงานการใช้งบประมาณโครงการจัดแสดงสินค้าแนวใหม่ในต่างประเทศ สำหรับแบรนด์ Sirivannavari ซึ่งเอกสารมีอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์

    3. รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 – 2565

    4. รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

    5. รายการและรายละเอียดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินในพระองค์ และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2560-2565

    6. งบประมาณของสำนักพระราชวังในปี พ.ศ. 2561 – 2565

    ต้องจับตาการออกหมายเรียกพยานเอกสารเหล่านี้ของศาลต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1788/2565 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/50209)
  • เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนการถอนประกันใบปอในคดีนี้ แลคดีแชร์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ “งบสถาบันกษัตริย์” จากเพจ “ทะลุวัง” รวมทั้ง “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ในคดีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565

    ในช่วงเช้าก่อนเริ่มการพิจารณา ได้มีสื่ออิสระ ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร ญาติ และผู้มาให้กำลังใจ “เก็ท-ใบปอ” ส่วนหนึ่งทยอยมานั่งรอเต็มห้องพิจารณาคดี 703 เพื่อติดตามสถานการณ์การไต่สวนการถอนประกันนักกิจกรรมทั้ง 2 ราย

    เวลา 10.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ก่อนเริ่มการไต่สวน ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า กรณีการไต่สวนวันนี้ ทนายจำเลยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กล่าวหาและกล่าวหาจากเหตุใด รวมถึงโจทก์มีเอกสารที่อ้างส่งประกอบการไต่สวนเป็นจำนวนมาก และจำเลยประสงค์นำพยานเข้าสืบจำนวนหนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ทนายจำเลยจึงขอเลื่อนไปอีกสักนัด เพื่อเตรียมตัวและยื่นบัญชีระบุพยานเพื่อโต้แย้ง

    ด้านศาลชี้แจงว่า การไต่สวนเกิดจากเจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลว่า “ใบปอ” มีพฤติการณ์ผิดเงื่อนไขสัญญาประกัน จากภาพข่าวสารที่ศาลได้รับรายงานมาได้ปรากฏภาพของจำเลยที่เข้าร่วมการชุมนุมในช่วงการประชุม APEC ทั้งนี้ศาลย้ำว่าวันนี้เป็นเพียงการดูข้อเท็จจริงสั้นๆ ว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุจริงหรือไม่ จึงจะให้มีการไต่สวนวันนี้ โดยศาลได้ปรึกษากับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแล้ว

    ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ขอโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่อยากให้ใครมีอำนาจเหนือผู้พิพากษาเจ้าของคดี โดยทนายจำเลยและจำเลยจะขอปรึกษากับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ว่าจะสามารถเลื่อนการไต่สวนถอนประกันตัวออกไปได้หรือไม่

    ต่อมา 11.00 น. รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาออกนั่งพิจารณา ทนายจำเลยแถลงว่า โสภณและใบปอได้ถูกเจ้าหน้าที่เรียกมาศาล โดยอ้างว่ามีพฤติการณ์ที่ผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว โดยอัยการโจทก์เพิ่งมีการยื่นเอกสารหลักฐานเมื่อเช้า และมีพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการผิดสัญญาการประกันตัว ซึ่งทนายจำเลยจะขอใช้เวลาตรวจสอบดูก่อนและขอเลื่อนนัดไปสักนัด

    ด้านศาลชี้แจงว่า นี่เป็นเรื่องที่ศาลพิจารณาและสามารถไต่สวนเองได้ ไม่จำเป็นต้องมีใครร้องขอ อย่างไรก็ตาม ศาลอนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนการถอนประกันตัวไปเป็นวันที่ 19 ธ.ค. 2565 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1788/2565 ลงวันที่ 15 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51556)
  • ก่อนเริ่มการไต่สวนถอนประกันตัวเก็ทกับใบปอ ศาลได้แจ้งว่าตนมีหน้าที่เพียงมาจดบันทึกการไต่สวนและรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะต้องนำเข้าปรึกษากับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาต่อไป

    อัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่า ในการร้องขอถอนประกัน เหตุเนื่องจากโสภณได้เคลื่อนไหวและเข้าร่วมการชุมนุมในระหว่างการประชุม APEC 2022 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 และกระทำผิดเงื่อนไขประกัน

    อัยการได้ขอเบิกตัวพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนและสอบสวนหาข้อเท็จจริงเข้าเบิกความ 3 ปาก คือ ร.ต.อ.หัตถพล เทพภักดี รองสารวัตรสืบสวน สน.ลุมพินี ซึ่งไปสังเกตการณ์ในวันเกิดเหตุ, พ.ต.ท.สุภัทร เหมจินดา พนักงานสอบสวน บางซื่อ และ พ.ต.ท.สุระ ตั้งวัฒนกิตติกุล สารวัตรสืบสวน สน.บางซื่อ ผู้รวบรวมข้อเท็จจริงของใบปอจากโซเชียลมีเดีย

    ++พยานปากที่ 1 — ร.ต.อ.หัตถพล เทพภักดี เบิกความชี้การกระทำผิดของเก็ท แต่ไม่ทราบว่าพื้นที่ทำกิจกรรมไม่ใช่พื้นที่หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่

    ร.ต.อ.หัตถพล เบิกความว่า ในวันที่ 15 พ.ย. 2565 มีกลุ่มมวลชนนัดจัดกิจกรรมยื่นหนังสือต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา แต่พยานไม่ทราบว่าหนังสือฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาว่าอย่างไรหรือเป็นเรื่องอะไร โดยภายหลังการยื่นหนังสือเสร็จ พยานเบิกความว่า ใบปอได้มีการประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนว่า จะจัดกิจกรรมเดินขบวนไปยื่นหนังสือต่อผู้นำโลกที่เข้าร่วมการประชุม APEC 2022 ในวันที่ 17 พ.ย. 2565

    ในวันดังกล่าว บริเวณศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จัดเป็นพื้นที่หวงห้ามชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ตั้งแต่วันที่ 11 – 19 พ.ย. 2565 พยานพบมวลชนราว 30 คน บริเวณแยกอโศกซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้าม โดยห้ามประชาชนสัญจรตั้งแต่แยกอโศกจนถึงแยกพระราม 4 และมีการชูป้ายข้อความว่า ‘ยกเลิก 112’ และ ‘หยุดฟอกเขียวทุนเจ้า’ แต่ป้ายหยุดฟอกเขียวดังกล่าว พยานไม่เข้าใจว่ามีความหมายว่าอย่างไร ตลอดจนการพูดแถลงการณ์ของเก็ทที่เป็นภาษาอังกฤษ แต่พยานไม่เข้าใจเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่สันทัดภาษาอังกฤษ

    หลังจากการอ่านแถลงการณ์เสร็จสิ้นแล้ว มีเจ้าหน้าที่เขาไปเจรจาแจ้งว่า การชุมนุมผิด พ.ร.บ.การชุมนุมฯ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการโปรยกระดาษเอสี่ ลงบนพื้นถนนและราดน้ำสีเขียวลงบนป้ายผ้าที่เตรียมมา พยานเบิกความว่ามีผู้ชุมนุมนำน้ำเปล่าและสีสเปรย์พ่นใส่ตำรวจในบริเวณแยกอโศก

    อย่างไรก็ตาม ในการชุมนุมวันที่ 17 พ.ย. 2565 พยานไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำ แต่เข้าใจว่าการที่กลุ่มจำเลยพยายามเข้าไปในพื้นที่หวงห้าม เพราะต้องการยื่นหนังสือเรื่องความไม่เป็นธรรมของรัฐบาลไทย แต่พยานทราบมา ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งผู้ชุมนุมแล้วว่าให้ยื่นหนังสือผ่านตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ แต่ไม่เป็นผล โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้มาตั้งขบวนกันที่ถนนสุขุมวิท การชุมนุมยุติลงในเวลาประมาณ 15.00 น.

    ทนายจำเลยถามค้านพยานว่า ตามประกาศของนายกรัฐมนตรีที่มีคำสั่งเกี่ยวกับการชุมนุม ก็มีเพียงแค่ในบริเวณหน้าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และโรงแรมที่พักของผู้นำประเทศต่างๆ เท่านั้นใช่หรือไม่ พยานตอบว่า การยื่นหนังสือหน้าสถานทูตสหรัฐในวันที่ 15 พ.ย. 2565 ไม่ได้มีกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวาย และกลุ่มผู้ชุมนุมใช้เวลาเพียง 20 นาที ก่อนแยกย้ายกันกลับ และในวันที่ 17 พ.ย. 2565 ช่วงที่มีการอ่านแถลงการณ์ใช้เวลาเพียงคนละ 10 นาทีเท่านั้น แต่ไม่ทราบว่าบริเวณบริเวณแยกอโศกที่จัดกิจกรรมนั้น เป็นพื้นที่หวงห้ามตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และพยานไม่ทราบว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปห้ามกลุ่มผู้ชุมนุมทำกิจกรรมนั้นเป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

    ร.ต.อ.หัตถพล ยืนยันว่าพยานเป็นผู้ทำรายงานการสืบสวนด้วยตนเอง โดยเนื้อหาและข้อความในรายงานพยานเป็นคนจัดทำมาจากเหตุการณ์ที่เห็นด้วยตนเองทั้งหมด

    ทนายถามพยานต่อว่า ในการประชุม APEC มีหัวข้อหลักในการประชุมคือประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย แต่พยานเบิกความว่าไม่ทราบ และเมื่อทนายถามว่าการเรียกร้องของกลุ่มจำเลย เป็นการเรียกร้องทางด้านสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นประเด็นที่มีอยู่ในการประชุมดังกล่าว พยานตอบว่า ไม่มีความเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะสามารถชุมนุมเรียกร้องสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มผู้นำเอเปคได้หรือไม่ต้องไปถามผู้กล่าวหา ซึ่งพยานเองก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร

    นอกจากนี้ ทนายยังได้ถามต่อพยานว่า ในช่วงเวลาของการจัดประชุม APEC มีกลุ่มนักกิจกรรมกรีนพีซมาจัดกิจกรรมว่ายน้ำที่บริเวณสระน้ำหน้าศูนย์ประชุมในวันที่ 13 – 14 พ.ย. 2565 ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวน ของ สน.ในท้องที่ พยานทราบเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ พยานบอกว่าจำไม่ได้ว่าเคยได้รับรายงานหรือยัง

    ++พยานปากที่ 2 — พ.ต.ท.สุภัทร เหมจินดา ไม่ยืนยันหลักฐานที่ได้จาก สน.ท้องที่อื่นว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่

    พ.ต.ท.สุภัทร เหมจินดา สารวัตรสอบสวน สน.บางซื่อ เบิกความว่า ได้รับหนังสือของพนักงานอัยการว่าใบปอทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ โดยให้ตรวจสอบตามรายละเอียดในเอกสารแนบของเจ้าหน้าที่ศาลผู้ทำรายงาน ซึ่งอัยการได้ให้พยานไปตรวจสอบและแจ้งผลให้อัยการทราบ

    ทั้งนี้ พยานขยายความว่า ได้รับการแจ้งเรื่องการผิดเงื่อนไขประกันตัวของจำเลยทั้งสองคน จากเจ้าหน้าที่ศาลอาญา แผนกงานประกัน แต่ตนเองยังไม่ได้ทำอะไร เพียงแค่ประสานแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ก่อนที่ในหนึ่งสัปดาห์ต่อมา อัยการถึงส่งหนังสือให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการทำผิดเงื่อนไขประกันของจำเลยในช่วงการประชุม APEC ในวันที่ 17 พ.ย. และ 19 พ.ย. 2565 ที่ใบปอและเก็ทได้ไปเคลื่อนไหวเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้พายุ ทะลุฟ้า ที่ถูก คฝ. ยิงจนตาบอดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานจึงได้ทำหนังสือรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และจัดส่งหนังสือถึง สน.ลุมพินี และ สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อขอความร่วมมือให้ทำการสืบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว

    หลังจากได้รายงานการสืบสวนแล้ว พยานจึงรวบรวมข้อเท็จจริงส่งต่อพนักงานอัยการ ในการตรวจสอบต่อไปว่าจำเลยทำผิดเงื่อนไขประกันตัวหรือไม่ ในช่วงประมาณ 30 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

    ทนายจำเลยถามค้านว่า พยานได้รับแจ้งเรื่องการผิดเงื่อนไขประกันจากเจ้าหน้าที่ศาล แต่ได้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง พยานตอบว่า ในเหตุนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในท้องที่ของตน แต่คดีที่สั่งฟ้องของจำเลยเป็นคดีจากในพื้นที่รับผิดชอบของพยาน จึงได้ประสานท้องที่ที่มีการเคลื่อนไหวของจำเลยทั้งสองคนให้สืบเสาะว่ามีการกระทำผิดตามเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนดหรือไม่

    พ.ต.ท.สุภัทร ตอบทนายจำเลยว่า ขอไม่ยืนยันว่า รายงานการสืบสวนของ สน.ปทุมวัน และ สน.ลุมพินี และเจ้าหน้าที่ตำรวจของแต่ละ สน. ซึ่งรวบรวมส่งมาที่พยานจะเป็นจริงหรือไม่ อีกทั้ง พยานไม่เห็นว่าเป็นเรื่องแปลกที่จะไม่ลงความเห็นว่าการกระทำตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจะผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่สืบสวนมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงมาไว้ในสำนวนเท่านั้น และการตัดสินใจว่าจำเลยทั้งสองผิดเงื่อนไขประกันหรือไม่ เป็นดุลยพินิจของศาลที่จะต้องเป็นคนออกคำสั่ง

    นอกจากนี้ ทนายได้ถามต่อพยานว่าช่วงการประชุม APEC 2022 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้มีการประกาศยกเลิกใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไปแล้ว พยานไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธป็นการชุมนุมที่ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

    ต่อมา พ.ต.ท.สุภัทร ตอบอัยการถามติงว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลอาญา แผนกปล่อยตัวชั่วคราวทางโทรศัพท์ นอกจากนี้อัยการยังได้แนบรายงานของเจ้าหน้าที่ศาลคนดังกล่าวที่ระบุว่าจำเลยผิดเงื่อนไขมากับหนังสือของอัยการที่ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย

    พยานยืนยันกับอัยการว่าตนเองไม่มีหน้าที่ให้ความเห็นว่าการกระทำของใบปอและเก็ทผิดเงื่อนไขประกันตัวหรือไม่ มีหน้าที่เพียงรวบรวมข้อเท็จจริงจาก สน.ต่างๆ เท่านั้น

    ++พยานปากที่ 3 — พ.ต.ท.สุระ ตั้งวัฒนกิตติกุล ชุดสืบสวน ผู้รวบรวมข้อเท็จจริงของใบปอจากโซเชียลมีเดีย แจ้งว่าการชุมนุมทำให้การจราจรติดขัด แม้พยานเพียงแค่เห็นภาพจากไลฟ์สดเท่านั้น

    พ.ต.ท.สุระ ตั้งวัฒนกิตติกุล สารวัตรสืบสวน สน.บางซื่อ เบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบว่าใบปอได้กระทำผิดเงื่อนไขประกันตัวในระหว่างวันที่ 17 พ.ย. และ 19 พ.ย. 2565 จริงหรือไม่

    ในวันที่ 15 พ.ย. 2565 พยานได้ทำการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า ‘ทะลุวัง’ พบว่ามีการประกาศเชิญชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมยื่นหนังสือต่อผู้นำต่างประเทศในการประชุม APEC ในวันที่ 17 พ.ย. 2565 และพบว่าเฟซบุ๊กส่วนตัวของใบปอ ได้มีการแชร์โพสต์และมีการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจริง

    นอกจากนี้ พยานได้ติดตามความเคลื่อนไหวของจำเลยผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิเช่น ทวิตเตอร์ ยูทูบ และไลฟ์สดของสำนักข่าวต่างๆ พบว่าใบปอได้เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย. จริงจากการไลฟ์สด และทราบได้ทันทีจากการแต่งกายด้วยชุดดำกระโปรงสีเดียวกัน และผมสีแดง

    พยานเบิกความต่อไปว่า เฟซบุ๊กส่วนตัวของใบปอ มีการแชร์โพสต์จากข่าวเพจ Ther Matter, iLaw และประชาไท ซึ่งทำประมวลรูปกิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ

    ต่อมา ทนายได้ถามค้าน พ.ต.ท.สุระ ว่า พยานทราบได้อย่างไรว่าบุคคลที่อยู่ในไลฟ์สดเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ โดยพยานได้ตอบว่า ตนเคยทำคดีของใบปอมาก่อนจึงทราบได้ทันที แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจทะลุวัง เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของ

    นอกจากนี้ พยานไม่ได้ตรวจสอบ URL และไอพีแอดเดรสของเพจดังกล่าว แต่ตรวจสอบไอดีของเพจนี้ โดยการกดปุ่มสามจุดที่มุมขวาของภาพถ่ายหน้าเฟซบุ๊กในเพจ

    และที่เบิกความว่าดูไลฟ์เฟซบุ๊กของสำนักข่าวราษฎร พยานดูย้อนหลัง ไม่ได้ดูในขณะที่มีการถ่ายทอดสด แต่ยืนยันกับทนายว่าในไลฟ์สด การชุมนุมไม่ได้ปรากฏความรุนแรงแต่อย่างใด ในขณะที่จำเลยทั้งสองได้จัดกิจกรรมและแถลงการณ์ แต่สร้างการจราจรติดขัดสำหรับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา และไม่ทราบว่าวันที่ 19 พ.ย. ที่จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นการชุมนุมเพื่อทำอะไร แต่ไม่พบความวุ่นวายในวันดังกล่าวเช่นกัน

    อัยการถามติงว่า ที่พยานไม่ได้ตรวจสอบ URL ในเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มทะลุวัง เนื่องจากพยานได้รับมอบหมายให้ติดตามสืบสวนความเคลื่อนไหวแค่เพียงวันที่ 17 พ.ย. และ 19 พ.ย. เท่านั้นใช่หรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่า ใช่

    ในส่วนวันที่มีการจัดชุมนุมบริเวณแยกอโศก อัยการถามพยานว่า มีการจราจรที่หนาแน่นใช่หรือไม่ ซึ่งพยานก็ได้ตอบยืนยันตามที่ตนเองเห็นจากไลฟ์สด

    ทนายขออนุญาตศาลถามค้านเพิ่มเติมประเด็นเรื่องจราจรติดขัดในวันที่ 17 พ.ย. ว่าพยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันดังกล่าว พยานจะรู้ได้อย่างไรว่าการจราจรติดขัดจริงหรือไม่ พยานตอบว่า เชื่อจากภาพที่เห็นในไลฟ์สด ซึ่งทนายขอให้ศาลได้จดบันทึกไว้ว่า ที่พยานเบิกความว่าเห็นการจราจรติดขัด พยานดูจากคลิปไลฟ์สด ไม่ได้ลงพื้นที่จริง

    โจทก์แถลงมีพยานที่ประสงค์จะสืบอีก 1 ปาก เป็นพยานที่รับเอกสารจาก ร.ต.อ.หัตถพล ศาลเห็นว่า ร.ต.อ.หัตถพล นำสืบรับรองเอกสารดังกล่าวแล้ว จึงให้งดสืบพยานปากดังกล่าว โจทก์แถลงหมดพยาน

    ทนายจำเลยแถลงว่า ประสงค์จะสืบพยาน 4 ปาก แต่เนื่องจากในวันนี้หมดเวลาราชการและยังคงมีเอกสารอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องทำการพิจารณา ตลอดจนความคลุมเคลือของตัวผู้กล่าวหาและร้องขอถอนประกันตัว ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นบุคคลใด จึงขอเลื่อนออกไปนัดหน้า ศาลเห็นสมควรให้เลื่อนไต่สวนพยานจำเลยไปเป็นวันที่ 26 ธ.ค. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1788/2565 ลงวันที่ 19 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/52039)
  • เก็ทและใบปอเดินทางมาศาลพร้อมกับครอบครัว โดยมีประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีและให้กำลังใจทั้งสองคนเป็นจำนวนมากเต็มพื้นที่ห้องพิจารณา และมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรมาร่วมสังเกตการณ์คดีด้วย นอกจากนี้ยังมีตำรวจศาลกว่า 7 นาย มาดูแลรักษาความปลอดภัยทั้งในและนอกห้องพิจารณา โดยมีการตั้งโต๊ะตรวจและขอถ่ายรูปบัตรประชาชนของทุกคนที่เข้าห้องพิจารณา

    เวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ทนายจำเลยแถลงว่า จากการไต่สวนพยานโจทก์ในนัดที่ผ่านมา พบว่าพยานโจทก์เองไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะขอถอนประกันได้ จึงไม่จำเป็นต้องนำพยานจำเลยเข้าไต่สวน

    อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการไต่สวนเพิกถอนประกันในครั้งนี้ เนื่องจากกรณีนี้เจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมเป็นผู้ขอให้มีการเพิกถอนประกัน โดยพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นการไต่สวนเพิกถอนประกันในครั้งนี้จึงไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยทำการใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว เห็นได้จากที่ศาลยังต้องอาศัยโจทก์และพนักงานสอบสวนขวนขวายหาพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาข้ออ้างในการเพิกถอนประกัน การกระทำของจำเลยไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดต่อบทกฎหมายใดๆ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ผิดเงื่อนไขการประกันตัว

    เมื่อทนายความร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการไต่สวนถอนประกันในครั้งนี้ ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาในวันนี้จึงกล่าวว่าตนเป็นเพียงผู้พิพากษาที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารศาลให้มาไต่สวนเอาข้อเท็จจริงเข้าสู่สำนวนเท่านั้น ดังนั้นคำร้องที่ทนายความส่งมาในวันนี้ จึงต้องนำไปปรึกษากับผู้บริหารศาลก่อน

    หลังจากปรึกษากับผู้บริหารศาลแล้ว ศาลมีคำสั่งรับคำร้องของทนายจำเลยไว้พิจารณา และนัดฟังคำสั่งว่าจะเพิกถอนประกันทั้งสองหรือไม่ ในวันที่ 9 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1788/2565 ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51831)
  • เวลา 09.20 น. เก็ทและใบปอ พร้อมครอบครัวได้เดินทางมาถึงที่ห้องพิจารณาคดีที่ 912 โดยในวันนี้มีการตั้งจุดตรวจสัมภาระที่บริเวณหน้าห้องพิจารณาคดี เนื่องจากมีประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีและให้กำลังใจจำเลยทั้งสองคนเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งในวันนี้มีนัดไต่สวนถอนประกันตัวในเหตุเดียวกันอีกด้วย

    ต่อมาในเวลา 10.00 น. พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ออกนั่งอ่านคำสั่งด้วยตนเอง ระบุว่า “พิเคราะห์ พยานหลักฐานของโจทก์และรายงานเจ้าหน้าที่แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลเคยอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งสองคน โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา รวมถึงห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจสร้างความวุ่นวายต่อบ้านเมือง

    ศาลเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองคน เข้าร่วมชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 จนมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมามีการนำมวลชนมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจำเลยทั้งสองคนไม่ได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงหรือเหตุผลใดในการกระทำของจำเลย การกระทำของจำเลยทั้งสองคนจึงเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขประกันตัวที่ศาลกำหนดไว้”

    หลังจากศาลมีคำสั่ง ใบปอและเก็ทถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว และนำตัวไปยังเรือนจำ โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทั้งสองคนอีกครั้ง โดยขอวางหลักทรัพย์คดีละ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ต่อมาเวลา 16.20 น. พริษฐ์ ปิยะนราธร มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันใบปอทั้ง 2 คดี รวมทั้งเก็ท ระบุว่า “จำเลยมีพฤติการณ์ผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวจนศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว เชื่อว่าหากศาลปล่อยชั่วคราวจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นและกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก รวมทั้งผิดเงื่อนไขที่ศาลจะกำหนดแก่จำเลย กรณีจึงยังไม่มีเหตุให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย ยกคำร้อง”

    ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้ใบปอถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางอีกครั้ง หลังจากเคยถูกคุมขังในช่วงปี 2565 เป็นระยะเวลา 94 วัน ด้านเก็ทถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากถูกคุมขังในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 มาแล้ว 30 วัน

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1788/2565 ลงวันที่ 9 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52039)
  • ขณะ "ตะวัน" ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ "แบม" อรวรรณ ภู่พงษ์ อดอาหารเพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองเป็นวันที่ 34 ทนายความได้ยื่นประกันผู้ต้องขังคดีการเมืองจำนวน 6 ราย ได้แก่ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ ใบปอ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังถูกศาลสั่งถอนประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2566, “พรพจน์ แจ้งกระจ่าง”, “คทาธร” และ “ถิรนัย, ชัยพร (สงวนนามสกุล)” ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุระเบิด

    คำร้องขอประกันของใบปอในคดีนี้ มีใจความสำคัญระบุว่า จำเลยเป็นเพียงนักศึกษา ย่อมไม่มีอิทธิพลเข้าไปยุ่งเหยิงหรือเป็นอุปสรรคต่อพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ อีกทั้งพยานหลักฐานได้อยู่ในการรวบรวมของอัยการโจทก์แล้วทั้งสิ้น

    ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันเก็ทและใบปอ ตีราคาประกัน 90,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข “ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดี หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือกระทำการหรือร่วมทำกิจกรรมใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างการปล่อยชั่วคราว และให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วันภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น”

    ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้เป็นการสิ้นสุดการคุมขังเก็ทและใบปอซึ่งกินเวลารวม 43 วัน หลังถูกถอนประกัน

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1788/2565 ลงวันที่ 20 ก.พ. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/53763)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เนติพร (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ใบปอ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
สุพิชฌาย์ ชัยลอม

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เนติพร (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ใบปอ (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
สุพิชฌาย์ ชัยลอม

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์