สรุปความสำคัญ

"ใบปอ" และ "เมนู" สุพิชฌาย์ ชัยลอม สมาชิกกลุ่ม “ทะลุวัง” รวมทั้ง "พลอย" เบญจมาภรณ์ เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี ถูกตำรวจทางหลวงสกัดบริเวณเขาย้อย จ.เพชรบุรี และจับกุมตามหมายจับ ขณะกำลังเดินทางพร้อมกลุ่มเพื่อนเพื่อไปพักผ่อน หลังปิยกุล วงษ์สิงห์ ประชาชนทั่วไป เข้าแจ้งความที่กองกำกับการ 2 บก.ปอท.ให้ดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(5) กล่าวหาว่า แชร์โพสต์ “งบสถาบันกษัตริย์” จากเพจ “ทะลุวัง” เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 โดยมีเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาสถาบันกษัตริย์

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ขยายครอบคลุมไปถึง "สถาบันกษัตริย์์" ทั้งที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ใบปอ (นามสมมติ)
    • สุพิชฌาย์ ชัยลอม
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 เม.ย. 2565 ประมาณ 07.00 น. ‘ใบปอ’ (นามสมมติ), ‘เมนู’ สุพิชฌาย์ ชัยลอม และ ‘พลอย’ เบญจมาภรณ์ เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี สมาชิกกลุ่ม “ทะลุวัง” ว่า ตนเอง ถูกตำรวจทางหลวงสกัดด้วยรถยนต์จำนวน 4 คัน บริเวณเขาย้อย จ.เพชรบุรี ขณะกำลังเดินทางพร้อมกลุ่มเพื่อนเพื่อไปพักผ่อน โดยขอดูบัตรประจำตัวประชาชน อ้างว่าเพื่อตรวจสอบว่าในรถมีบุคคลตามหมายจับหรือไม่ แต่ไม่ได้แสดงหมายจับดังกล่าว หลังนักกิจกรรมพยายามขอดูหมายจับ ตำรวจชุดดังกล่าวจึงแจ้งด้วยวาจาว่า มีหมายจับของใบปอ, เมนู และพลอย ทั้ง 3 คนจึงขอนั่งรถคันเดิมตามตำรวจไปเอง โดยชุดจับกุมนำไปยังหน่วยบริการตำรวจทางหลวง อ. ชะอำ เพื่อทำบันทึกจับกุม

ต่อมา จึงทราบว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับศาลอาญาและศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ลงวันที่ 20 เม.ย. 2565 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5) โดยมีกองกำกับการ 2 บก.ปอท. เป็นผู้ขอออกหมาย

เวลา 10.30 น. ขณะทั้งหมดยังอยู่ที่หน่วยบริการตำรวจทางหลวง ตำรวจได้พยายามขอตรวจค้นอุปกรณ์มือถือและค้นรถ โดยมีการแสดงคำสั่งอนุญาตให้เข้าถึงโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลคโทรนิคของใบปอ, เมนู และพลอย ซึ่งออกโดยศาลอาญา เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 โดยมีผู้ร้องคือ ว่าที่พันตำรวจเอกชวินโรจน์ ภีมรัชตธำรงค์ อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ได้มีการเจรจาพูดคุยว่าหากต้องการตรวจสอบ ขอให้เดินทางไปถึง บก.ปอท.และได้เจอกับทนายความก่อน ตำรวจจึงยังไม่ได้ตรวจค้นในเวลาดังกล่าว

ในระหว่างที่ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไว้เพื่อทำบันทึกจับกุมที่ป้อมตำรวจหน่วยบริการทางหลวง อ.ชะอำ โดยไม่มีทนายความร่วมอยู่ในกระบวนการดังกล่าวด้วย ทั้ง 3 ได้เจรจาขอขับรถไปยัง บก.ปอท. ด้วยตนเอง โดยมีตำรวจขับรถตามไป แต่ตำรวจไม่ยินยอม ท้ายที่สุดใบปอ, เมนู และพลอย จึงต้องขึ้นรถตู้ที่ตำรวจจัดเตรียมไว้ โดยมีตำรวจ 5 นาย นั่งรถไปด้วย เป็นชาย 2 หญิง 3 โดยออกเดินทางในเวลาประมาณ 12.30 น.

ช่วงเวลาประมาณ 13.30 น. บริเวณหน้า บก.ปอท. มีการใช้แบริเออร์ปิดทางเข้า โดยให้เข้า-ออกทางเดียว พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังอยู่หน้าทางเข้า-ออก จำนวนประมาณ 10 คน โดยมีประชาชนทยอยเดินทางมาติดตามการจับกุมตัว ใบปอ เมนู และพลอย มายัง บก.ปทอ. ซึ่งย้ายอยู่ภายในบริเวณเดียวกับกองบังคับการตำรวจปราบปราม

กระทั่งเวลา 15.16 น. ใบปอ, เมนู และพลอย ถูกนำตัวมาถึง บก.ปอท. โดยได้พบกับทนายความเป็นครั้งแรก พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์, เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5) จากเหตุที่ปิยกุล วงษ์สิงห์ ประชาชนทั่วไป เป็นผู้เข้าแจ้งความกล่าวหาว่า ทั้งสามแชร์โพสต์ “งบสถาบันกษัตริย์” จากเพจ “ทะลุวัง” เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 โดยมีเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาสถาบันกษัตริย์

จากนั้น ตำรวจได้ยื่นคำร้องขอฝากขัง เมนูและใบปอต่อศาลอาญาผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ ขณะที่พลอยถูกแยกตัวไปตรวจสอบการจับกุมและขอออกหมายควบคุมตัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

หลังศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขัง ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวใบปอและเมนูตีราคาหลักประกันคนละ 100,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลยังกำหนดเงื่อนไข “ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือกระทำการหรือร่วมกิจกรรมใดๆ ในอันที่จะทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว และรายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง มิฉะนั้นจะถือว่าผิดสัญญา”

ทั้งนี้เจ้าหน้าได้ปิดชื่อผู้พิพากษาที่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเมนูและใบปอในวันนี้

ขณะเดียวกันที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลได้ทำการตรวจสอบการจับพลอย โดยลงความเห็นว่า การจับกุมชอบด้วยกฎหมาย ก่อนจะออกหมายควบคุมตัว อย่างไรก็ตาม ศาลได้อนุญาตให้พลอยได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์จำนวน 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีผู้ปกครองเป็นนายประกัน

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.2 บก.ปอท. ลงวันที่ 22 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42843)

ภูมิหลัง

  • เบญจมาภรณ์ (สงวนนามสกุล)
    นักกิจกรรมเยาวชน

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์