ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ ยชอ.167/2565
แดง ยชอ.327/2565

ผู้กล่าวหา
  • ปิยกุล วงษ์สิงห์ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ ยชอ.167/2565
แดง ยชอ.327/2565
ผู้กล่าวหา
  • ปิยกุล วงษ์สิงห์

ความสำคัญของคดี

"พลอย" เบญจมาภรณ์ (สงวนนามสกลุ) เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี พร้อมด้วย "ใบปอ" และ "เมนู" สุพิชฌาย์ ชัยลอม สมาชิกกลุ่ม “ทะลุวัง” ถูกตำรวจทางหลวงสกัดบริเวณเขาย้อย จ.เพชรบุรี และจับกุมตามหมายจับ ขณะกำลังเดินทางพร้อมกลุ่มเพื่อนเพื่อไปพักผ่อน หลังปิยกุล วงษ์สิงห์ ประชาชนทั่วไป เข้าแจ้งความที่กองกำกับการ 2 บก.ปอท.ให้ดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(5) กล่าวหาว่า แชร์โพสต์ “งบสถาบันกษัตริย์” จากเพจ “ทะลุวัง” เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 โดยมีเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาสถาบันกษัตริย์ โดยพลอยถูกแยกดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ขยายครอบคลุมไปถึง "สถาบันกษัตริย์์" ทั้งที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง กระทั่งเยาวชน กระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

กรรณิกา จงสมจิตร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 2 บรรยายฟ้องใจความโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ต่อมาจําเลยทั้งสองได้กระทําความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยการแชร์โพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “ทะลุวัง ThaluWang” ซึ่งมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์และข้อความวิจารณ์งบประมาณสถาบันกษัตริย์ในปี 2565 พร้อมทั้งนัดหมายทำโพลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งค่าเป็นสาธารณะ เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าวเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 ทรงใช้พระราชอํานาจโดยการเอาเงินภาษีประชาชนไปใช้ แล้วเนรคุณต่อผู้เสียภาษี ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เป็นการบิดเบือนข้อมูล กล่าวร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเจตนาอาฆาตมาดร้าย และทําลายสถาบันกษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ โดยจําเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.167/2565 ลงวันที่ 20 ก.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ประมาณ 07.00 น. ‘ใบปอ’ (นามสมมติ), ‘เมนู’ สุพิชฌาย์ ชัยลอม และ ‘พลอย’ เบญจมาภรณ์ เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี สมาชิกกลุ่ม “ทะลุวัง” ว่า ตนเอง ถูกตำรวจทางหลวงสกัดด้วยรถยนต์จำนวน 4 คัน บริเวณเขาย้อย จ.เพชรบุรี ขณะกำลังเดินทางพร้อมกลุ่มเพื่อนเพื่อไปพักผ่อน โดยขอดูบัตรประจำตัวประชาชน อ้างว่าเพื่อตรวจสอบว่าในรถมีบุคคลตามหมายจับหรือไม่ แต่ไม่ได้แสดงหมายจับดังกล่าว หลังนักกิจกรรมพยายามขอดูหมายจับ ตำรวจชุดดังกล่าวจึงแจ้งด้วยวาจาว่า มีหมายจับของใบปอ, เมนู และพลอย ทั้ง 3 คนจึงขอนั่งรถคันเดิมตามตำรวจไปเอง โดยชุดจับกุมนำไปยังหน่วยบริการตำรวจทางหลวง อ. ชะอำ เพื่อทำบันทึกจับกุม

    ต่อมา จึงทราบว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับศาลอาญาและศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ลงวันที่ 20 เม.ย. 2565 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(5) โดยมีกองกำกับการ 2 บก.ปอท. เป็นผู้ขอออกหมาย ในส่วนหมายจับศาลเยาวชนฯ ของพลอย ออกโดยผู้พิพากษาสุเทพ ภักดิกมล

    เวลา 10.30 น. ขณะทั้งหมดยังอยู่ที่หน่วยบริการตำรวจทางหลวง ตำรวจได้พยายามขอตรวจค้นอุปกรณ์มือถือและค้นรถ โดยมีการแสดงคำสั่งอนุญาตให้เข้าถึงโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลคโทรนิคของใบปอ, เมนู และพลอย ซึ่งออกโดยศาลอาญา เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 โดยมีผู้ร้องคือ ว่าที่พันตำรวจเอกชวินโรจน์ ภีมรัชตธำรงค์ อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ได้มีการเจรจาพูดคุยว่าหากต้องการตรวจสอบ ขอให้เดินทางไปถึง บก.ปอท.และได้เจอกับทนายความก่อน ตำรวจจึงยังไม่ได้ตรวจค้นในเวลาดังกล่าว

    จากนั้น ทั้ง 3 ได้เจรจาขอขับรถไปยัง บก.ปอท. ด้วยตนเอง โดยมีตำรวจขับรถตามไป แต่ตำรวจไม่ยินยอม ท้ายที่สุดใบปอ, เมนู และพลอย จึงต้องขึ้นรถตู้ที่ตำรวจจัดเตรียมไว้ โดยมีตำรวจ 5 นาย นั่งรถไปด้วย เป็นชาย 2 หญิง 3 โดยออกเดินทางในเวลาประมาณ 12.30 น.

    กระทั่งเวลา 15.16 น. ใบปอ เมนู และพลอย ถูกนำตัวมาถึง บก.ปอท. โดยได้พบกับทนายความเป็นครั้งแรก พลอยถูกแยกตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ต.หญิง นิมมิตา สุพรรณ สว.(สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. และ ร.ต.อ.ศักย์ศรณ์ เจริญศิลป์ รอง สว.(สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. ได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทําที่กล่าวหาว่า

    เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 ปิยกุล วงษ์สิงห์ ผู้กล่าวหา ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ใช้เฟซบุ๊ก ผู้ดูแล หรือผู้บริหารเพจ “ทะลุวัง ThaluWang” ที่มีการโพสต์ข้อความในความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”

    โดยผู้กล่าวหาให้การว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 เวลาประมาณ 20.30 น. ขณะที่ผู้กล่าวหาเข้าใช้เฟซบุ๊ก และเข้าไปดูที่เพจ “ทะลุวัง ThaluWang” พบว่า มีการโพสต์ข้อความว่า “งบสถาบันกษัตริย์ปี 2565 ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลเผด็จการอุ้มชูสถาบันกษัตริย์ไว้นั้น จากตัวเลขที่ถูกเปิดเผยเมื่อปีก่อน ว่างบสถาบันกษัตริย์มีประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ในความเป็นจริงงบสถาบันกษัตริย์ตลอดทั้งปีนี้มีจํานวนประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท โดยเบื้องต้นใช้จ่ายไปกับ..”

    ต่อมาวันเดียวกันบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งจากรายงานการสืบสวนเชื่อได้ว่าเป็นของเบญจมาภรณ์ได้มีการแชร์โพสต์ดังกล่าว การกระทําดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ข้อความและรูปภาพซึ่งเป็นการกล่าวหาพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์และพระญาติ รวมทั้งรัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน เป็นการหมิ่น ประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทําให้เสียชื่อเสียง ว่าเป็นการเอาเงินภาษีประชาชนไปใช้ แล้วเนรคุณต่อผู้เสียภาษี ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยมีเจตนาทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพนับถืออย่างชัดแจ้ง โดยมิได้เกรงกลัวต่อความผิดอาญาแผ่นดินแต่อย่างใด

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเบญจมาภรณ์ว่า กระทําความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์, เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5)

    จากนั้นพนักงานสอบสวนนำตัวพลอยไปตรวจสอบการจับกุมและขอออกหมายควบคุมตัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลลงความเห็นว่า การจับกุมชอบด้วยกฎหมาย ก่อนจะออกหมายควบคุมตัว อย่างไรก็ตาม ศาลได้อนุญาตให้พลอยได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์จำนวน 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีผู้ปกครองเป็นนายประกัน

    พลอยกลายเป็นเยาวชนคนที่ 15 ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.2 บก.ปอท. ลงวันที่ 22 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42843)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 2 ยื่นฟ้องพลอยต่อศาลเยาวชนฯ ในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งเป็นฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5)

    คำฟ้องระบุพฤติการณ์คดีมีใจความโดยสรุปว่า การพลอยแชร์โพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “ทะลุวัง ThaluWang” ซึ่งมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์และข้อความวิจารณ์งบประมาณสถาบันกษัตริย์ในปี 2565 พร้อมทั้งนัดหมายทำโพลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าวเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 ทรงใช้พระราชอํานาจโดยการเอาเงินภาษีประชาชนไปใช้ แล้วเนรคุณต่อผู้เสียภาษี ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เป็นการบิดเบือนข้อมูล กล่าวร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเจตนาอาฆาตมาดร้าย และทําลายสถาบันกษัตริย์ โดยจําเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

    ท้ายคำฟ้อง พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี แต่ขอให้นับโทษในคดีนี้ต่อกับโทษในอีกคดีของศาลนี้ด้วย

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.167/2565 ลงวันที่ 20 ก.ค. 2565)
  • พลอยไม่ได้เดินทางไปศาล เนื่องจากไม่ทราบวันนัด เจ้าหน้าที่แจ้งที่ปรึกษาทางกฎหมายของจำเลยว่า ศาลจะออกหมายจับ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่โทรไปหาพ่อ พลอยเป็นคนรับสาย และแจ้งว่าไม่ทราบวันนัด ศาลจึงให้เลื่อนนัดสอบถามเป็นวันที่ 31 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ที่ปรึกษากฎหมายและพ่อของพลอยเดินทางไปศาลตามนัด ส่วนพลอยไม่ได้เดินทางไปศาล ศาลจึงให้ออกหมายจับพลอย และปรับนายประกันเต็มตามสัญญาประกัน รวมทั้งให้จําหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว เนื่องจากไม่แน่ว่าจะจับจําเลยได้เมื่อใด

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.167/2565 ลงวันที่ 1 พ.ย. 2565)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เบญจมาภรณ์ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เบญจมาภรณ์ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์