สรุปความสำคัญ

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" นักศึกษาและนักกิจกรรม ถูกจับกุมขณะเข้าร่วมกิจกรรมธรรมยาตราที่วัดโปร่งช้าง จ.ชัยภูมิ และถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์บทวิเคราะห์ของสำนักข่าว BBC Thai เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ในเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังจากถูกจับกุมจตุภัทร์เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน เขาก็ถูกถอนประกันจากการแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัว และไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวอีกเลย แม้จะมีการยื่นประกันอีกถึง 10 ครั้ง ทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาล

การดำเนินคดีจตุภัทร์และถอนประกัน จนกระทั่งเขาถูกขังตลอดมาจนพ้นโทษตามคำพิพากษาในคดี กล่าวได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้การดำเนินคดี มาตรา 112 มาจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของจตุภัทร์ เพื่อยุติการเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารของเขา เนื่องจากบทความดังกล่าวมีผู้แชร์ไปมากกว่า 2,800 ครั้ง แต่มีเพียงจตุภัทร์และ น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหารเช่นกันที่ถูกดำเนินคดี ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นถูกดำเนินคดี รวมทั้งสำนักข่าวบีบีซีไทย ผู้ผลิตและเผยแพร่บทความ

นอกจากนี้ ตลอดกระบวนการพิจารณาคดีนี้ศาลยังมีคำสั่งให้พิจารณาลับ การที่จตุภัทร์ไม่ได้รับสิทธิในกระบวนยุติธรรม ทั้งสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว และการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย นำไปสู่การรับสารภาพและพิพากษาจำคุกในที่สุด

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • ข่มขู่ / คุกคาม / ติดตาม
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
    • อื่นๆ

พฤติการณ์การละเมิด

3 ธ.ค.59 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่น ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าจับกุมนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ขณะเข้าร่วมกิจกรรมธรรมยาตราที่วัดโปร่งช้าง อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ หลังทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.แก้งคร้อ เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนายจตุภัทร์ไปสอบสวนที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4 โดยเขาถูกยึดโทรศัพท์และไม่สามารถติดต่อคนใกล้ชิดเพื่อแจ้งให้ทราบได้ว่า เขาอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ ตำรวจได้จัดเตรียมทนายไว้ให้แล้ว แต่จตุภัทร์ปฏิเสธกระบวนการสอบสวนดังกล่าว และยืนยันให้ทนายความที่ตนเองไว้ใจเท่านั้นเข้าร่วม ตำรวจจึงต้องมารับตัวทนายความซึ่งรออยู่ที่ สภ.เมืองขอนแก่น โดยทนายความไม่ได้รับการแจ้งว่า จะพาไปยังสถานที่ใด และถูกยึดโทรศัพท์ระหว่างการสอบสวนด้วยเช่นกัน

กรณีนี้สืบเนื่องจาก พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี รองหัวหน้ากองยุทธการจากมณฑลทหารบกที่ 23 เข้าแจ้งความต่อ สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 59 ให้ดำเนินคดีจตุภัทร์ ในข้อหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ โดยการโฆษณา โดยอ้างว่า ได้ตรวจพบข้อความทางเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “Pai Jatupat” ซึ่งมีเนื้อหาไม่เป็นความจริง ใส่ความให้พระมหากษัตริย์ฯ รัชกาลที่ 10 ได้รับความเสียหาย โดยข้อความดังกล่าว เป็นเนื้อหาบางตอนในรายงานข่าวของ BBC Thai เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ซึ่งจตุภัทร์คัดลอกมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ประกอบการแชร์ลิงก์ข่าวดังกล่าวจาก BBC Thai

หลังการสอบสวนโดยคณะพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และจตุภัทร์ให้การปฏิเสธ เขาถูกนำตัวไปขังที่ สภ.น้ำพอง ตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่นที่ 901/2559 แทนการขังที่ สภ.เมืองขอนแก่น ตำรวจให้เหตุผลว่าเนื่องจากคดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคง มีความละเอียดอ่อน และมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลอื่น หากควบคุมไว้ที่ สภ.เมืองขอนแก่น อาจกระทบต่อความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยได้ (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=2968)

4 ธ.ค.59 สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เข้ายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อขอฝากขังจตุภัทร์ครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน พร้อมทั้งคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเกี่ยวกับความมั่นคง ละเอียดอ่อน ประกอบกับมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลอื่น หากให้ประกันตัว ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี และอาจกระทบต่อความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย และความรุนแรงต่างๆ ได้ ทนายผู้ต้องหาแถลงคัดค้านการฝากขัง ศาลแจ้งว่า จะอนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องหาจำเป็นต้องไปสอบและเรียนให้จบในปีการศึกษา 2559 นี้ โดยขอให้ไม่ต้องคัดค้านการฝากขัง ทนายจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และนำเงินสดวางเป็นหลักประกันจำนวน 400,000 บาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมจากที่ระบุในแบบฟอร์มคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของศาล ซึ่งระบุว่า ผู้ต้องหาจะไม่หลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน รวมทั้งก่อเหตุอันตรายประการอื่น และนัดหมายให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 23 ม.ค.60 (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=2982)

หลังจตุภัทร์ได้ปล่อยตัวชั่วคราวเพียง 12 วัน วันที่ 16 ธ.ค. 59 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา โดยกล่าวหาว่า หลังได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ผู้ต้องหาไม่ลบข้อความที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ ทั้งยังมีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ ในเชิงเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน กรณีที่ตนได้รับประกันตัวเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท ว่า “เศรษฐกิจมันแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน” นอกจากนี้ ผู้ต้องหาเคยมีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงมาหลายคดี และคดีนี้เป็นคดีร้ายแรง รวมทั้งผู้ต้องหายังมีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อยมา อาจจะเป็นการยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน

ต่อมา วันที่ 22 ธ.ค. 59 ศาลจังหวัดขอนแก่นทำการไต่สวนคำร้องถอนประกันดังกล่าวเป็นการลับ ไม่อนุญาตให้ประชาชนและบุคคลภายนอกที่สนใจเข้าฟัง จากนั้นศาลได้มีคำสั่งถอนประกันนายจตุภัทร์ ให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งได้แสดงออกในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มที่จะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล ทำให้จตุภัทร์ถูกควบคุมตัวไปขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นในทันที ต่อมา วันเดียวกัน ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวใหม่โดยใช้หลักประกันเดิม ระบุเหตุผลว่า หลังจากได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาไม่ได้ฝ่าฝืน ไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาลแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้ต้องหาต้องเตรียมตัวสอบวิชาคอมพิวเตอร์ วิชาสุดท้ายก่อนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีกำหนดสอบในวันที่ 17-18 ม.ค.60 อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=3116)

หลังศาลมีคำสั่งถอนประกัน ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ และฎีกาคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันตัว โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด

นอกจากนี้ ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง แต่ศาลยกคำร้องและอนุญาตให้ฝากขังทุกครั้ง ครอบครัวและทนายความยังได้ยื่นประกันจตุภัทร์ในชั้นสอบสวนอีก 4 ครั้ง และหลังจากอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ทนายความได้ยื่นประกันในชั้นพิจารณาอีก 5 ครั้ง โดยเพิ่มหลักประกันเป็นเงินสด 700,000 บาท รวมการยื่นประกันหลังศาลมีคำสั่งถอนประกันทั้งหมด 10 ครั้ง ทั้งยังอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลจังหวัดขอนแก่นอีก 2 ครั้ง แต่จตุภัทร์ไม่เคยได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอีกเลย แม้จะยกเหตุความจำเป็นที่ต้องเข้าสอบวิชาสุดท้ายเพื่อให้จบปริญญาตรี หรือต้องเดินทางไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2560 ที่ประเทศเกาหลีใต้ หรือแม้แต่อ้างถึง ICCPR ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีผลผูกพันให้ทุกองค์กรภาครัฐต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว ซึ่งรับรองสิทธิของผู้ที่ถูกดำเนินคดี ทั้งสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด และสิทธิในการรับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลไม่ได้หยิบยกขึ้นมาประกอบการพิจารณา ศาลให้เหตุผลคล้ายๆ กันเพียงว่า คดีมีอัตราโทษสูง เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

อีกทั้งในกระบวนการพิจารณาคดีของจตุภัทร์ ตั้งแต่นัดไต่สวนคำร้องถอนประกัน และนัดไต่สวนคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนทุกครั้ง ศาลมีคำสั่งให้ "พิจารณาลับ" โดยอ้างเหตุผลเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และเป็นคดีที่มีโทษสูง แม้ว่าขั้นตอนดังกล่าวจะเป็นเพียงขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดี ที่ผู้ต้องหาใช้สิทธิคัดค้านเรื่องความจำเป็นในการควบคุมตัวผู้ต้องหา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของข้อความที่เป็นเหตุแห่งคดี จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะสั่งให้พิจารณาลับได้ นอกจากนี้ ในชั้นพิจารณาคดี ศาลก็สั่งให้พิจารณาเป็นการลับเช่นกัน แม้ว่าในนัดตรวจพยานหลักฐานจะทำการพิจารณาโดยเปิดเผย และศาลมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้โดยเปิดเผยตามปกติ ตามที่ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการพิจารณาคดีลับไว้ ยกเว้นบางนัดที่ศาลจะพิจารณาเป็นการลับ ซึ่งศาลจะมีคำสั่งในแต่ละนัดไป แต่เมื่อถึงนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ศาลกลับมีคำสั่งพิจารณาลับตลอดทั้งคดี ทั้งยังสั่งห้ามเผยแพร่เนื้อหาการสืบพยานอีกด้วย

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 10-01-2017
กลุ่มประชาชนผู้ห่วงใยเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ที่ถูกจับกุมตัวในคดีการเผยแพร่รายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย”

นายรังสิมันต์ โรม นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เปิดเผยว่า ประชาชนกว่า 3,600 คน ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับนายจตุภัทร์ผ่านเว็บไซต์ change.org เนื่องจากเห็นว่า การเพิกถอนสิทธิประกันตัวของนายจตุภัทร์เป็นการละเมิดสิทธิ และเป็นการตีความเกินขอบเขตกฎหมาย

“การที่ศาลอ้างว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาในสื่อสังคมออนไลน์ การอ้างเหตุว่าผู้ต้องหาได้แสดงออกบนสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์ เย้ยหยันอำนาจรัฐ ถือเป็นการตีความที่เกินต่อตัวบทของกฎหมาย” นางรังสิมันต์กล่าว

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะตัวแทนรับหนังสือเปิดเผยว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการสอบถามข้อมูลไปยังคณะกรรมการสอบสวน แต่จะไม่ก้าวล่วงอำนาจศาล “กรณีของไผ่ และกลุ่มอีสานใหม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการเปิดสอบของคณะกรรมการด้านสิทธิพลเมือง พ่อของไผ่ก็ได้ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่กรณีไม่ได้รับความยุติธรรมเรื่องสิทธิประกันตัว ทั้งหนังสือร้องเรียนของพ่อ และคนที่ห่วงใย จะได้ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ แต่ว่าอำนาจหน้าที่ของกรรมการสิทธิก็จะทำได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ คงไม่สามารถแทรกแซงศาลยุติธรรมได้” นางอังคณา กล่าวหลังรับหนังสือร้องเรียน

วันเดียวกันนี้ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เชิญชวนให้ผู้สนับสนุนทั่วโลกเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนายจตุภัทร์ และยกเลิกข้อกล่าวหาของนายจตุภัทร์ เนื่องจากเชื่อว่า การกระทำของนายจตุภัทร์เป็นเสรีภาพในการแสดงออก และชุมนุมโดยสันติ
(อ้างอิง: http://www.benarnews.org/thai/news/TH-lesemajeste-01102017142551.html)
 
วันที่ : 13-01-2017
กลุ่ม/องค์กรต่างๆ ได้แก่ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.), คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ขบวนการประชาธิปไตยใหม่, กลุ่มนักกฎหมาย ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชน ต่างออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวตามกฎหมายแก่ไผ่ ดาวดินและสังคมไทย รวมทั้งให้องค์กรตุลาการพึงปฏิบัติหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะคุณค่าที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญและได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=3444)
 
วันที่ : 16-01-2017
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีการสอบวิชาสุดท้ายของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ระบุว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภาค 2 เข้าร่วมหารือกับผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น, คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น, พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี สังกัดกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น, รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น, และผู้แทนตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น และได้ข้อยุติ โดยได้ให้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าพบนายจตุภัทร์ เพื่อสอบถามความประสงค์ ซึ่งทางคณบดีคณะนิติศาสตร์แจ้งว่า ในเบื้องต้นนายจตุภัทร์ยอมที่จะเข้ารับการสอบตามข้อเสนอของมหาวิทยาลัย กล่าวคือ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะจัดการสอบให้ที่ทัณฑสถานฯ เป็นกรณีพิเศษโดยจะจัดสอบวิชาคอมพิวเตอร์ภาคทฤษฎีให้เสร็จภายในสิ้นเดือนมกราคม 2560 หากสอบผ่านจะสอบภาคปฏิบัติภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (อ้างอิง: https://www.matichon.co.th/politics/news_429816)

อย่างไรก็ตาม วันที่ 17 ม.ค. 60 มารดาของไผ่ จตุภัทร์ได้เปิดเผยหลังเข้าเยี่ยมว่า ไผ่เล่าถึงการที่ ผศ.กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติฯ มาเข้าเยี่ยม โดยคณบดีได้พูดคุยสอบถามว่าจะทำอย่างไรต่อเท่านั้น ไม่ได้มีข้อเสนอเรื่องการสอบ และไผ่ก็ไม่ได้ตอบตกลงอะไร
ด้าน ผศ.กิตติบดี ตอบทนายความว่า ในการเข้าไปพบไผ่วันนี้ แค่พูดคุยไถ่ถามเรื่องอนาคตทางการศึกษาระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์เท่านั้น ไม่ได้มีข้อเสนอเรื่องการจัดสอบเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งหากไผ่ต้องการให้จัดสอบเช่นนั้น ต้องทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปที่มหาวิทยาลัย และทางมหาวิทยาลัยต้องพิจารณาอีกว่าจะจัดสอบเป็นพิเศษให้ได้หรือไม่

ทนายความของจตุภัทร์ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อกรณีนี้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดไม่ตรงกัน ไม่มีอะไรรับรองได้เลยว่า ไผ่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมตามสิทธิของเขา ซึ่งไผ่เห็นว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะปัจจุบันเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์

วันเดียวกันนี้ นายลอคอง ไมยอง รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีจดหมายตอบกลับกรณีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินคดีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในข้อหามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ว่า “สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้ติดตามกรณีของนายจตุภัทรอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การจับกุมเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 59 ทั้งนี้ทางสำนักงานฯ ได้ส่งจดหมายไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินคดีนายจตุภัทร์ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพของเขาในการคิดและการแสดงออกซึ่งแสดงความเห็น นอกจากนี้ยังได้แสดงความกังวลต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ทหารในระหว่างการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งหยิบยกประเด็นเรื่องการออกคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวอันอ้างอิงการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซึ่งมิได้เป็นเงื่อนไขของคำสั่งให้ประกันตัวด้วย”

“สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนคดีของบุคคลทุกคน (รวมทั้งกรณีนายจตุภัทร์) ซึ่งถูกดำเนินคดีตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้รัฐบาลพิจารณาการควบคุมตัวบุคคล ให้เป็นไปตามหลักการเรื่องความเหมาะสม และความสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับหลักการเรื่องการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด รวมทั้งเรียกร้องให้นายจตุภัทร์เข้าสอบในวันที่ 17-18 ม.ค. 60”
(อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=3283)

นอกจากนี้ เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (Scholars at Risk - SAR) และกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (OPHRD) ออกจดหมายเปิดผนึกแสดงความห่วงใยต่อการจับกุมและการจองจำจตุภัทร์โดยไม่ให้ประกันตัว จากการที่เขาใช้สิทธิเสรีภาพทางความคิดและการรวมกลุ่มกันอย่างสันติ ซึ่งเป็นการกระทำที่ได้รับการปกป้องภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พร้อมทั้งชักชวนสมาชิกในเครือข่ายส่งจดหมายถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมไทย เรียกร้องให้อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ และยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งให้รับประกันสวัสดิภาพของจตุภัทร์ และนักปกป้องสิทธิคนอื่น ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=3444))
 
วันที่ : 22-01-2017
ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลทหารไทยให้ปล่อยตัวจตุภัทร์โดยทันที โดย แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภาคพื้นเอเชีย กล่าวว่า การตั้งข้อหานายจตุภัทร์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจากการรัฐประหารของไทยใช้กฎหมายหมิ่นฯ เพื่อเล่นงานผู้ที่ต่อต้าน และการไม่ให้ประกันตัวในคดี 112 ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ ยังเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศดังกล่าวที่บัญญัติไว้ว่า มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องคุมขังบุคคลที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี “ความอยุติธรรมที่ชัดเจนในคดีหมิ่นฯ ของจตุภัทร์ ยิ่งไม่เป็นธรรมมากขึ้นเพราะการขังอย่างยืดเยื้อก่อนการพิจารณาคดี” อดัมส์กล่าว “ควรยกเลิกข้อกล่าวหาต่อเขาโดยทันที ไม่ใช่ลงโทษเขา ทั้งที่การพิจารณาคดีในศาลยังไม่เริ่มขึ้น” (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=3444)
 
วันที่ : 27-01-2017
วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของจตุภัทร์ ยื่นหนังสือถึงโฆษกศาลยุติธรรมขณะร่วมงานนิติ-วิพากษ์ ครั้งที่ 1 หัวข้อ ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม (Miscarriage of Justice) ปัญหาและทางออก ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้ศาลยุติธรรมเคารพสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราว สิทธิในการศึกษา และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย รวมถึงให้ปล่อยชั่วคราวนายจตุภัทร์โดยเร็วที่สุด (อ้างอิง: หนังสือถึงศาลยุิธรรม ลงวันที่ 27 ม.ค. 60)
 
วันที่ : 30-01-2017
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาทั่วประเทศ ชี้ถึงวิกฤติศรัทธาที่ประชาชนจำนวนมากมีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย เนื่องจากมีการบังคับใช้และตีความกฎหมายต่อบุคคลและกลุ่มบุคคลอย่างไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่เคารพต่อหลักนิติรัฐและสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารเป็นต้นมา กฎหมายถูกใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แสดงความเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจ รวมถึงกรณีการถอนประกันนายจตุภัทร์ในครั้งนี้ ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สังคมว่า การพิจารณาดังกล่าวอาจไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ นอกจากนี้ การที่ศาลไม่อนุญาตให้นายจตุภัทร์ได้ประกันตัวเพื่อออกไปสอบ ซึ่งอาจส่งผลต่อการสำเร็จการศึกษาและอนาคตของเยาวชนคนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า การพิจารณาของศาลขาดซึ่งเหตุผลด้านมนุษยธรรมพื้นฐาน คนส. และผู้มีรายชื่อแนบท้าย 352 รายชื่อ จึงเรียกร้องให้ศาลทบทวนการถอนประกันนายจตุภัทร์ เพื่อคืนสิทธิอันพึงมีให้กับนายจตุภัทร์ และฟื้นฟูความปกติให้กระบวนการยุติธรรมและหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ และในระยะยาว บุคลากรในองค์กรตุลาการต้องพิจารณาหาแนวทางปฏิรูประบบยุติธรรมของไทย ให้ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะคุณค่าที่ได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย และตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐและความยุติธรรม (อ้างอิง: https://www.facebook.com/ThaiAcademicNetworkforCivilRights/photos/a.487222531441124.1073741828.486452398184804/736516693178372/?type=3&theater)
 
วันที่ : 09-02-2017
นายสายัน จันทะรัง พนักงานอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 4 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดขอนแก่น โดยศาลรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 (3) ทั้งนี้ คำฟ้องของอัยการยังคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยระบุว่าเนื่องจากเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่รักยิ่งและเทิดทูนของประชาชนชาวไทย และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี
 
วันที่ : 17-03-2017
นายระบิล ภักดีผล นักวิชาการสาระสนเทศ และนายยุทธนา สุมามาลย์ นักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินทางมาที่ห้องประชุมภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นเพื่อทำการจัดสอบการวัดความรู้คอมพิวเตอร์ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ให้กับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งทางทัณฑสถานฯ ได้จัดสถานที่สอบ พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ให้เพื่อให้ผู้ต้องขังได้สอบคอมพิวเตอร์ในภาคปฏิบัติ

เจ้าหน้าที่ของทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 60 ทางทัณฑสถานฯ ได้รับคำร้องจากนายจตุภัทร์ ขอความอนุเคราะห์ให้ทัณฑสถานฯ ติดต่อประสานงานกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อให้มีการจัดสอบการวัดความรู้คอมพิวเตอร์ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในวันที่ 17 มี.ค. 60 ซึ่งทัณฑสถานฯ ได้ดำเนินการติดต่อประสานงานกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นตามความประสงค์ของผู้ร้องภายในวันเดียวกัน ทั้งนี้ การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนผลการสอบถามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะแจ้งให้นักศึกษาทราบโดยตรงภายหลังจากที่มหาลัยขอนแก่นได้ตรวจเอกสารชุดทดสอบเรียบร้อยแล้ว (อ้างอิง: http://www.matichon.co.th/news/498625)
 
วันที่ : 28-03-2017
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้จัดทำบทสรุปข้อสังเกตทั่วไปหลังการทบทวนสถานการณ์สิทธิฯ ในประเทศไทยภายใต้ ICCPR โดยคณะกรรมการฯ ได้แสดงความกังวลและข้อแนะนำในหลายประเด็น รวมถึงในประเด็นที่มีรายงานว่า มีบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและถูกดำเนินคดี 112 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับแต่เกิดรัฐประหาร พร้อมทั้งย้ำว่า การลงโทษจำคุกบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นการละเมิดต่อ ICCPR ข้อ 19 (บุคคลมีสิทธิในการแสดงความเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก)
 
วันที่ : 28-04-2017
ผู้อำนวยการมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ได้ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้ง รมว. กระทรวงการต่างประเทศ, รมว. กระทรวงยุติธรรม และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล ขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้รับประกันตัวและให้เดินทางไปยังเกาหลีใต้เพื่อรับรางวัลดังกล่าวด้วยตนเอง ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2017/04/71230)

ต่อมา เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซลได้มีจดหมายตอบกลับถึงประธานมูลนิธิฯ โดยชี้เเจงว่าสถานทูตฯ รับทราบถึงกรณีที่มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ได้ตัดสินใจมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2560 แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยชี้แจงว่า จตุภัทร์ได้กระทำผิดกฎหมาย และปัจจุบันถูกคุมขังในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขาเคยได้การประกันตัวในช่วงแรกที่ถูกจับกุม แต่ก็ถูกถอนประกันเนื่องจากเขาผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัวด้วยการกระทำความผิดซ้ำอีก ทั้งนี้ ทูตไทยย้ำว่า คดีของจตุภัทร์ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมโดยศาลยุติธรรม (อ้างอิง: https://www.bbc.com/thai/thailand-39853620)
 
วันที่ : 15-08-2017
เดิมวันนี้ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดสืบพยานโจทก์ต่อจากเมื่อวันที่ 3-4 ส.ค.60 โดยยังเหลือพยานฝ่ายโจทก์อีก 14 ปาก แต่ก่อนเริ่มการสืบพยาน แม่จตุภัทร์ได้ขอพูดคุยกับจตุภัทร์เป็นการส่วนตัว หลังจากนั้น จตุภัทร์ได้แถลงต่อศาลขอเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงนัดอ่านคำพิพากษาในช่วงบ่าย

ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา นายวิเนตร มาดี และนายเพิ่มพูน พิศาลธุรกิจ องค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งอ่านคำพิพากษาเป็นการลับ ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณา จากนั้น ศาลอ่านคำพิพากษาที่ระบุเพียงโทษของจำเลยโดยไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี โดยระบุว่า จำเลยมีความผิดตาม ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(3) เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 61/2559 ของศาล มทบ.23 (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=4906)
 
วันที่ : 15-09-2017
โจทก์และจำเลย ไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด
 
วันที่ : 11-03-2019
‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้รับบันทึกข้อความแจ้งผลการพิจารณาพักการลงโทษ ลงวันที่ 4 มี.ค. 62 ระบุว่า คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ได้ประชุมพิจารณาพักการลงโทษ ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 62 มีมติไม่เห็นชอบพักการลงโทษนักโทษเด็ดขาดชายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาคุณสมบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษแล้วเห็นว่า พฤติการณ์กระทําผิดของจตุภัทร์มีลักษณะความผิดกระทบต่อสถาบันหลักของชาติอันเป็นที่รักใคร่เทิดทูนของปวงชนชาวไทย จึงให้ทัณฑสถานอบรมพัฒนาพฤตินิสัยต่อไป และหากจตุภัทร์ประสงค์จะฟ้องคดีหรือโต้แย้งคําสั่งนี้ ให้ทําคําฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคําสั่งนี้ (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=11422)
 
วันที่ : 10-05-2019
จตุภัทร์ได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น หลังมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2562 รวมเวลาถูกคุมขัง 870 วัน หรือ 2 ปี 4 เดือน 20 วัน

ภูมิหลัง

  • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน และ NDM อีสาน ทำกิจกรรมปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่น จนถึงเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารและ คสช. มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    ถูกดำเนินคดีอาญาจากการแสดงออกทางการเมืองภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติรวม 6 คดี อีกทั้งถูกจำคุกในคดี ม.112 เป็นเวลาเกือบ 2 ปีครึ่ง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์