ความสำคัญของคดี

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษที่มีมติไม่เห็นชอบพักการลงโทษจตุภัทร์ ขณะจตุภัทร์รับโทษจำคุกแล้วกว่า 2 ปี 2 เดือน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์บทวิเคราะห์ของเว็บข่าว BBC ไทย โดยเหลือโทษจำคุกอีก 111 วัน ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ใช้ลักษณะความผิดตามมาตรา 112 เป็นเหตุผลที่ไม่ให้พักโทษ ทั้งที่ตามประกาศกรมราชทัณฑ์ฯ ลักษณะความผิดดังกล่าว ไม่ใช่เหตุที่จะไม่อนุมัติให้พักโทษ มติของคณะอนุกรรมการฯ ที่ไม่ให้จตุภัทร์ได้พักโทษจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีดังกล่าวของจตุภัทร์เป็นที่สนใจ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาได้รับจากการดำเนินคดีซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย จนกระทั่งปลายทางของกระบวนการยุติธรรม เขาก็ยังถูกปฏิเสธให้ได้พักโทษ หรือได้ปล่อยตัวก่อนกำหนดเช่นนักโทษเด็ดขาดตามปกติ ทั้งนี้ มีนักโทษ 112 หลายคนที่ไม่ได้รับความเป็นในลักษณะเดียวกันนี้

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี ในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ฟ้องคดีได้ใช้สิทธิขอพักการลงโทษตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและการแยกคุมขัง การเลื่อนหรือลดชั้นนักโทษเด็ดขาด การลดวันต้องโทษจำคุก และการพักการลงโทษ พ.ศ.2559 ข้อ 63 (3) ซึ่งกำหนดว่า นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการพักการลงโทษ ชั้นดี ไม่เกินหนึ่งในห้าของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด โดยผู้ฟ้องคดีจะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ โดยคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ซึ่งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ในการประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ไม่ออกคำสั่งเห็นชอบพักการลงโทษหรือไม่เห็นชอบพักการลงโทษ โดยให้เหตุผลว่า ผู้ฟ้องคดีมีประวัติกระทำผิดฐานมั่วสุมและชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตฯ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559, ฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฯ ทั้งสองคดีศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวไว้ระหว่างพิจารณา และฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อทำให้ปั่นป่วนและมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปฯ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 เลขคดีที่ 757/2558 สน.สำราญราษฎร์ แจ้งว่ายังไม่มีผลการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งทั้งสามคดีคดียังไม่ถึงที่สุดจึงให้ทัณฑสถานติดตามผลคดีเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป

ต่อมา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 หลังผู้ฟ้องคดีได้ทำหนังสือชี้แจงเพิ่มต่อกรณีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งการพิจารณาการพักการลงโทษของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ในการประชุมพิจารณาพักการลงโทษ ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ความว่า คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ได้ประชุมพิจารณาพักการลงโทษกรณีของนักโทษเด็ดขาดนายจตุภัทร์หรือไผ่ บุญภัทรรักษา มีมติไม่เห็นชอบพักการลงโทษนายจตุภัทร์หรือไผ่ บุญภัทรรักษา เนื่องจากเมื่อพิจารณาคุณสมบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ ความประพฤติความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา ระยะเวลาคุมประพฤติ ประวัติการต้องโทษ พฤติการณ์ก่อนมาต้องโทษ พฤติการณ์กระทำผิด ความน่าเชื่อถือของผู้อุปการะ การได้รับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและพัฒนาพฤตินิสัย รวมถึงผลกระทบด้านความปลอดภัยของสังคม แล้วเห็นว่า พฤติการณ์กระทำผิดของนักโทษเด็ดขาดชายจตุภัทร์ มีลักษณะความผิดกระทบต่อสถาบันหลักของชาติอันเป็นที่รักใคร่เทิดทูนของปวงชนชาวไทยจึงให้ทัณฑสถานอบรมพฤตินิสัยต่อไป

ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นพ้องกับมติไม่เห็นชอบพักการลงโทษของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมพิจารณาพักการลงโทษ ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 จึงฟ้องเป็นคดีนี้ต่อศาลปกครองกลาง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 805/2562 ลงวันที่ 26 เมษายน 2562 )

ความคืบหน้าของคดี

  • ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากจตุภัทร์ ‘ไผ่’ บุญภัทรรักษา เข้ายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 805/2562 ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษที่มีมติไม่เห็นชอบพักการลงโทษจตุภัทร์-ผู้ฟ้องคดี ในการประชุมพิจารณาพักการลงโทษ ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 62 อันเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจที่ผิดพลาดของคณะอนุกรรมการฯ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 56,172.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

    โดยกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=12223)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์