สรุปความสำคัญ

นายโอภาส (สงวนนามสกุล) ถูกควบคุมตัวไปซักถามในค่ายทหาร หลัง รปภ. ของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งพบว่า เขาเขียนข้อความวิจารณ์ คสช. บนบานประตูห้องน้ำชาย ชั้น 2 แล้วประสานงานให้ทหารนำตัวนายโอภาสไปดำเนินการต่อไป หลังการซักถาม ทหารส่งตัวนายโอภาสให้กองบังคับการปราบปรามควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก รวม 6 วัน ก่อนดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยทหารเป็นผู้แจ้งความกล่าวหาว่า ข้อความที่เขาเขียนมีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ชั้นสอบสวนนายโอภาสให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่รับว่าเป็นผู้เขียนข้อความ โดยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หลังจากเขาไม่ได้รับการประกันตัว จากการยื่นประกันตัวถึง 5 ครั้ง พร้อมทั้งอ้างเหตุจำเป็นถึงโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการดูแลรักษา ทำให้เขาตัดสินใจรับสารภาพในที่สุด

นายโอภาสยังถูกดำเนินคดีข้อหา ม.112 อีกคดี จากการเขียนข้อความที่ประตูห้องน้ำชั้นที่ 1 ของห้างเดียวกัน ในเวลาใกล้เคียงกัน ตำรวจเข้าแจ้งข้อกล่าวหานายโอภาสในเรือนจำหลังอัยการทหารยื่นฟ้องคดีแรกต่อศาลทหารกรุงเทพ นายโอภาสให้การรับสารภาพโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม และอัยการทหารยื่นฟ้องเป็นคดีที่สองขณะเขารับโทษจำคุกในคดีแรก

ทั้งสองคดีของนายโอภาสต้องถูกพิจารณาในศาลทหารตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และคดีถึงที่สุด หลังศาลมีคำพิพากษาจำคุกนายโอภาสคดีละ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และนับโทษต่อกัน รวมจำคุก 3 ปี เนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีในศาลทหารในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งคู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ กล่าวได้ว่า นายโอภาสซึ่งเพียงใช้เสรีภาพในการแสดงออกถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมหลายประการ ทั้งการแยกฟ้องและพิพากษาเป็น 2 คดี ทั้งที่อัยการและศาลอาจนับการกระทำทั้งสองที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกันเป็นกรรมเดียวและลงโทษครั้งเดียวได้ การสอบสวนที่ไม่มีทนายความเข้าร่วม การพิจารณาคดีในศาลทหารโดยไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ การไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราว ตลอดจนการพิจารณาคดีลับและอ่านคำพิพากษาเป็นการลับในคดีที่สอง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายโอภาส
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายโอภาส
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายโอภาส
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

15 ต.ค. 57 เวลาประมาณ 15.00 น. นายโอภาส ถูกพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของห้างซีคอนสแควร์ พบเห็นว่า เขียนข้อความบนบานประตูห้องน้ำชาย ชั้น 2 จึงถูกควบคุมตัวพร้อมปากกาที่ใช้เขียนไปพบหัวหน้า รปภ. โดยทางห้างเรียกค่าปรับเป็นเงิน 2,000 บาท แต่หลังจากนายโอภาสจ่ายค่าปรับแล้ว หัวหน้า รปภ.ยังคงให้รออยู่ก่อน (ระหว่างนั้น หัวหน้า รปภ.ได้ประสานงานกับทหารเเละขอให้นำตัวนายโอภาสไปดำเนินการต่อไป) สักพักจึงมีทหารในเครื่องแบบ 4 นาย เข้ามาควบคุมตัวนายโอภาสไปขึ้นรถ นำตัวไปที่ พล ม.2 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ นายโอภาสรับว่าเป็นผู้เขียนข้อความดังกล่าว ทหารได้ซักประวัติและสอบถามถึงเเรงจูงใจในการเขียนข้อความ โดยมี พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ เข้าร่วมด้วย โดยไม่มีการข่มขู่หรือทำร้ายร่างกาย หรือใช้เครื่องพันธนาการใดๆ ขณะเดียวกันทหารได้นำกำลังพร้อมอาวุธไปค้นที่บ้านของนายโอภาสด้วย แต่ไม่พบอะไร หลังจากนั้น นายโอภาสถูกควบคุมตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามในช่วงเย็นวันเดียวกัน เพื่อกักตัวตามกฎอัยการศึก

17 ต.ค. 57 ทหารแจ้งนายโอภาสว่า ตำรวจจะทำการสอบสวน แต่กลับนำตัวมาแถลงข่าว โดย พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า นายโอภาสกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมทั้งนำชื่อ นามสกุลจริง และข้อความที่เขาเขียนในห้องน้ำแจกจ่ายแก่นักข่าว รวมทั้งเปิดให้นักข่าวซักถามนายโอภาสด้วย โดยนายโอภาสตอบคำถามนักข่าวว่า เขาไม่ได้กระทำการหมิ่นเบื้องสูง ข้อความที่เขาเขียนเป็นการวิจารณ์คณะรัฐประหาร เนื่องจากเกิดความเครียดและไม่ชอบการรัฐประหาร ที่ผ่านมาไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มใด พร้อมทั้งยืนยันว่าข้อความที่เขียนเป็นข้อความวิจารณ์โดยทั่วไปที่ได้ยินจากคลิปต่างๆ และวิทยุชุมชนคลื่น 88.25 ซึ่งโดยส่วนมากก็เป็นการวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. ไม่ใช่การพาดพิงสถาบัน

20 ต.ค. 57 วันที่ 6 ของการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ได้แจ้งข้อกล่าวหานายโอภาส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามที่ ร.ต.คำภา โหม่งพุฒ เข้าแจ้งความกล่าวโทษไว้ และสอบปากคำ โดยมีทนายความเข้าร่วมรับฟัง นายโอภาสให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่รับว่าเป็นผู้เขียนข้อความ โดยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นำตัวนายโอภาสไปฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพ ศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวเลย โดยระบุว่า เป็นคดีร้ายแรงที่มีอัตราโทษสูง แม้ทนายความจะยื่นประกันตัวถึง 5 ครั้ง และญาติจะวางโฉนดที่ดินราคาประเมิน 2 ล้าน 5 แสนบาท เป็นหลักทรัพย์ประกัน ประกอบเหตุผลความจำเป็นด้านสุขภาพ ที่นายโอภาสมีโรคประจำตัว

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กองบังคับการปราบปราม ลงวันที่ 20 ต.ค. 57, https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/13/opas_second_case/ และ https://prachatai.com/journal/2014/10/56061)

18 ม.ค. 58 ไม่กี่วันหลังอัยการทหารยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลทหารกรุงเทพ และนายโอภาสถูกขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ พ.ต.ท.จตุภูมิ มุดซาเคน พนักงานสอบสวน สน.ประเวศ ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกคดี โดยระบุข้อเท็จจริงว่า ประมาณต้นเดือน ต.ค. 57 นายโอภาสได้เขียนข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ที่ประตูห้องน้ำด้านใน ห้องที่ 8 ชั้นที่ 1 ของห้างซีคอนสแควร์ แห่งเดียวกับคดีแรกของนายโอภาส พนักงานสอบสวนยังได้สอบปากคำโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม โดยนายโอภาสให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาคดีอาญาที่ 101/2558 สน.ประเวศ ลงวันที่ 18 ม.ค. 58 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/13/opas_second_case/)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 09-01-2015
อัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโอภาสต่อศาลทหารกรุงเทพ ในคดีที่นายโอภาสถูกกล่าวหาว่าเขียนข้อความอันเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ที่บานประตูห้องน้ำชาย ชั้น 2 ห้างซีคอนสแควร์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กฎอัยการศึกยังมีผลบังคับใช้อยู่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า ข้อความดังกล่าวทำให้บุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้ว สามารถเข้าใจโดยรวมว่าเป็นรัชกาลที่ 9 เเละทำให้พระองค์ท่านเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

ทั้งนี้ อัยการศาลทหารมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษนายโอภาสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เเละขอให้ศาลริบปากกาของกลางด้วย
 
วันที่ : 20-03-2015
ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การนายโอภาส อย่างไรก็ตาม นายโอภาสเเถลงต่อศาลว่า ขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ เพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานเบาที่สุด และรอการลงโทษจำเลย โดยให้เหตุผลว่า จำเลยกระทำผิดครั้งแรก รวมทั้งมีปัญหาด้านสุขภาพที่แม้ว่าในเรือนจำจะมีโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ไม่มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตลอดจนไม่มีอุปกรณ์สำหรับการตรวจและรักษาโรคและอาการแทรกซ้อนของจำเลย

ศาลทหารกรุงเทพจึงมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน คำพิพากษามีผลให้คดีถึงที่สุด เนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีในศาลทหารในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งคู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่นายโอภาสให้การรับสารภาพ เขาถูกคุมขังในเรือนจำนาน 5 เดือน โดยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว แม้จะยื่นประกันถึง 5 ครั้ง
 
วันที่ : 07-07-2015
อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโอภาสต่อศาลทหารกรุงเทพเป็นคดีที่ 2 กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่นเดียวกับคดีแรก โดยจำเลยได้ใช้ปากกาเขียนข้อความให้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไป ที่บานประตูห้องน้ำชาย ชั้น 1 ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ระหว่างวันที่ 1 - 15 ต.ค. 2557 ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายเป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อัยการทหารยังขอให้ศาลนับโทษจำคุกนายโอภาสในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีแรก และขอไม่ให้หักวันคุมขังจำเลยที่ทับซ้อนกับโทษจำคุกในคดีแรกออกจากโทษจำคุกในคดีนี้ด้วย
 
วันที่ : 16-10-2015
ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การนายโอภาสในคดีที่สอง อัยการศาลทหารแถลงขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ ทนายจำเลยแถลงคัดค้าน แต่ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หลังศาลอ่านคำฟ้องและถามคำให้การ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำพิพากษาจำคุกจำเลย 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ส่วนคำร้องขอให้รอการลงโทษ หรือนับโทษพร้อมกับอีกคดีหนึ่ง ศาลเห็นว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษ และเนื่องจากศาลลงโทษสถานเบาแล้ว ทั้งไม่มีเหตุให้นับโทษพร้อมกัน จึงให้นับโทษต่อจากคดีเดิม

คำพิพากษามีผลให้คดีถึงที่สุด เนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีในศาลทหาร โดยเหตุแห่งคดีเกิดในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้

ก่อนหน้าศาลมีคำพิพากษา ในวันที่ 15 ต.ค. 2559 ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งไทยและอินโดนีเซียโพสต์ภาพฝ่ามือโดยมีข้อความว่า “Free Opas” พร้อมติดแฮชแท็ก ‪#‎FREEOPAS และ #‎FREE_OPAS เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายโอภาส (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2015/10/62010)
 
วันที่ : 25-02-2016
ผู้รายงานพิเศษของ UN มีหนังสือลำดับที่ THA 9/2015 สอบถามรัฐบาลไทยเรื่องการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งหมด 26 คน อาทิเช่น กรณีเธียรสุธรรม หรือ “ใหญ่ แดงเดือด”, กรณีเฉลียว รวมถึงกรณีโอภาส โดยผู้รายงานพิเศษระบุว่าพวกเขาเหล่านี้ถูกดำเนินคดีและคุมขังเพียงเพราะการแสดงความเห็น ทั้งในพื้นที่ส่วนบุคคลและในที่สาธารณะ รวมทั้งในสื่อออนไลน์เท่านั้น ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=4717)
 
วันที่ : 27-08-2016
หลังมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 8 ส.ค. 2559 นายโอภาสซึ่งถูกคุมขังมาแล้วเกือบ 1 ปี 10 เดือน อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป จึงได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นายโอภาสจะได้รับการปล่อยตัว ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพพบว่า สน.ประเวศ ได้แจ้งอายัดตัวนายโอภาสไว้ ทำให้ยังปล่อยตัวนายโอภาสไม่ได้ ต้องรอให้พนักงานสอบสวน สน.ประเวศ มารับตัวไปดำเนินการต่อไป หลังจากทนายความได้รับแจ้งจึงตรวจสอบกับ สน.ประเวศ พบว่า เป็นการขออายัดตัวตามหมายจับของคดีที่ 2 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาและโอภาสรับโทษแล้ว แต่ สน.ประเวศยังไม่ได้แจ้งถอนการอายัดตัวนายโอภาสต่อทางเรือนจำ ทนายความจึงประสานให้พนักงานสอบสวนแจ้งถอนการอายัดตัว นายโอภาสจึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงบ่าย

ภูมิหลัง

  • นายโอภาส
    ไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมใดๆ เพียงแต่ชอบติดตามข่าวสารการเมืองทางวิทยุชุมชน และไม่พอใจการรัฐประหารของ คสช. นายโอภาส มีโรคประจำตัวคือ โรคความดันโลหิตสูง และมีภาวะแทรกซ้อนคือ อาการบวมของเส้นเลือดในจอรับภาพที่ตาข้างขวา ต้องพบแพทย์ทุก 2-3 เดือน หากมีอาการเครียดมากและไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วอาจทำให้ตาบอดได้

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์