ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 11 ก./2558
แดง 99 ก./2558

ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.คำภา โหม่งพุฒ (ทหาร)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 11 ก./2558
แดง 99 ก./2558
ผู้กล่าวหา
  • ร.ต.คำภา โหม่งพุฒ

ความสำคัญของคดี

นายโอภาสถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเขียนข้อความเเสดงความไม่พอใจ คสช. ที่บานประตูห้องน้ำชายชั้น 2 ของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยทหารเป็นผู้แจ้งความกล่าวหาว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หลังเขาถูกควบคุมตัวไปซักถามในค่ายทหาร ชั้นสอบสวนนายโอภาสให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่รับว่าเป็นผู้เขียนข้อความ โดยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หลังจากเขาไม่ได้รับการประกันตัว จากการยื่นประกันตัวถึง 5 ครั้ง พร้อมทั้งอ้างเหตุจำเป็นถึงโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการดูแลรักษา ทำให้เขาตัดสินใจรับสารภาพในที่สุด

คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโอภาสต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยบรรยายฟ้องว่า

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เวลากลางวัน อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยได้หมิ่นประมาท และดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อบุคคลที่สาม โดยจำเลยได้ใช้ปากกาเขียนข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่บานประตูห้องน้ำชาย ชั้น 2 ของห้างซีคอนสแควร์ ว่า ว่า "รัฐบาล เหล่ ลิเก ปล้นชาติมาโดย แว้นควาย เหล่ ประยุทธ์ ออกนโยบายลิเก มือใหม่ งานหลักคือ โหนเจ้า (xxxx) อาวุธสำคัญ คือ ม.112 โธ่ ไอ้ หน้า เหี้ย! ดูหน้ามึงทุกวันนี้ มันบอกว่าใกล้จุดจบ เริ่มทะเลาะกันเองแล้วจ้า" ซึ่งข้อความดังกล่าวทำให้ ร้อยตรี คำภา โหม่งพุฒ นายเทพพนม ครุฑทากูล และนายกฤษณะ กองเกตุใหญ่ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้ว สามารถเข้าใจโดยรวมว่า หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และข้อความดังกล่าวทำให้คุณค่าของพระองค์ท่านลดต่ำลง และทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเป็นการล่วง ละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น

เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ พร้อมด้วยปากกาที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ในเวลากระชั้นชิดกับเวลาเกิดเหตุ โดยขอศาลโปรดริบของกลางด้วย

(อ้างอิง : คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 11ก./2558 ลงวันที่ 9 มกราคม 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังนายโอภาสถูกควบคุมตามกฎอัยการศึกที่ พล.ม.2 และกองบังคับการปราบปรามรวม 6 วัน ร.ต.ท.จักรี กุลแก้ว พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายโอภาส ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยนายโอภาสให้การปฏิเสธข้อหา มาตรา 112 แต่ยอมรับว่าเป็นผู้เขียนข้อความดังกล่าวจริง โดยไม่ได้มีเจตนาหมิ่นสถาบัน

    จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นำตัวนายโอภาสไปฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางโฉนดที่ดินประเมินราคาจำนวน 2.5 ล้านบาท เป็นหลักทรัพย์ประกัน และระบุเหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่เคยกระทำผิดมาก่อน มีภูมิลำเนาอันเป็นถิ่นที่อยู่มีหลักแหล่งแน่นอน ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และผู้ต้องหาได้ให้การเป็นประโยชน์ในชั้นสอบสวน หากพนักงานสอบสวนประสงค์จะสอบสวนเพิ่มเติม หรือเรียกพยานเอกสาร หรือพยานวัตถุในคดี ผู้ต้องหาก็ยินดีปฏิบัติตามที่พนักงานสอบสวนมีคำสั่งทุกประการ

    นอกจากนี้ คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวยังระบุเหตุผลด้านสุขภาพด้วยว่า ผู้ต้องหามีอายุ 67 ปี ถือว่าเป็นผู้สูงอายุ นั่งหรือนอนกับพื้นไม่ได้ เพราะมีอาการเจ็บที่บริเวณหมอนรองกระดูก สภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำอาจไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงวัย รวมถึงมีโรคประจำตัว คือโรคความดันโลหิตสูง ต้องรับประทานยาเพื่อรักษาโรคเป็นประจำ การอยู่ในเรือนจำอาจทำให้อาการของผู้ต้องหารุนแรงขึ้น สภาพแวดล้อมในเรือนจำไม่เอื้อต่อการดูแลรักษาสุขภาพ และหากอาการกำเริบอาจไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

    อย่างไรก็ตาม ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน และไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุเหตุผลว่า "คดีมีอัตราโทษสูง เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งความผิดแล้ว ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น และอาจหลบหนี"

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กองบังคับการปราบปราม ลงวันที่ 20 ต.ค. 57, คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 20 ต.ค. 57 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/13/opas_second_case/
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2 ต่อศาลทหารกรุงเทพ กำหนดฝากขังตั้งแต่ 1-12 พฤศจิกายน 2557 โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มอีก 5 ปาก และรอผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร

    เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวนายโอภาสมาศาล ทนายความยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง โดยระบุว่า "ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ร้องไว้อีก เพราะผู้ร้องจะได้รับผลกระทบต่อด้านอาชีพและสุขภาพอย่างมาก และผู้ร้องได้ให้การในชั้นสอบสวนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว คดีนี้มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไม่ซับซ้อน คำให้การในชั้นสอบสวนก็เป็นประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีแล้ว" อย่างไรก็ตาม หลังไต่สวนพนักงานสอบสวน ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ฝากขังต่อ โดยระบุว่า พิจารณาแล้วเห็นว่านายโอภาสกระทำผิดข้อหาร้ายแรงตามคำแถลงของพนักงานสอบสวน และปรากฏว่ายังมีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนต่อไป

    ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ทนายความของนายโอภาสยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวครั้งที่ 2 โดยใช้หลักทรัพย์เป็นที่ดินเช่นเดียวกับในครั้งแรก พร้อมทั้งระบุเหตุผลเพิ่มเติมว่า "นอกจากโรคประจำตัวความดันโลหิตสูงของผู้ต้องหาจะเป็นอุปสรรคในการถูกคุมขังแล้ว ยังมี “ภาวะแทรกซ้อน” ที่อาจเกิดขึ้นจากความดันโลหิตที่สูงขึ้นคือ อาการบวมของเส้นเลือดในจอรับภาพที่ดวงตาข้างขวา ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากเกิดอาการแทรกซ้อนดังกล่าวขึ้นแล้วไม่สามารถรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ที่จอรับภาพได้ทันเวลา เส้นเลือดจะแตกและส่งผลให้ประสาทการรับรู้ของดวงตาเสียไปอย่างถาวร"

    เวลาประมาณ 16.00 น.ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า “ศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม"

    (อ้างอิง : คำร้องฝากขังครั้งที่ 2, คำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 2 และคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 31 ต.ค. 2557)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 13-24 พ.ย. 2557 โดยให้เหตุผลประกอบคำร้องว่าต้องสอบสวนพยานบุคคลอีก 4 ปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือจากทะเบียนประวัติอาชญากรรม ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ฝากขังต่อตามคำร้องของพนักงานสอบสวน

    ทนายความของนายโอภาสยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเป็นครั้งที่ 3 โดยใช้หลักทรัพย์เดิม พร้อมระบุเหตุผลเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหาทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สำนึกผิดและทำจดหมายแสดงเจตนาถึงสำนักราชเลขาธิการแล้ว นอกจากนี้ ญาติของผู้ต้องหาได้ขอประวัติการรักษาโรคความดันโลหิตสูงจากโรงพยาบาลที่ผู้ต้องหารักษาตัวอยู่เพื่อมาประกอบการยื่นประกันตัว ในใบประวัติการรักษาระบุว่า ผู้ต้องหาต้องได้รับยาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นสามารถวัดความดันโลหิตผู้ต้องหาและให้ญาติไปรับยาแทนเพื่อนำมาให้ผู้ต้องหาที่เรือนจำได้

    ศาลทหารกรุงเทพยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยระบุว่า ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงดุลยพินิจเดิม

    (อ้างอิง : คำร้องฝากขังครั้งที่ 3 และคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 12 พ.ย. 2557 และ https://prachatai.com/journal/2014/11/56461)
  • เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวนายโอภาสมายังศาล แต่ไม่ปรากฏพนักงานสอบสวน มีเพียงคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 4 ที่ยื่นไว้แล้ว การฝากขังครั้งที่ 4 มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. - 6 พ.ย. 2557 โดยคำร้องระบุว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มอีก 2 ปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือจากทะเบียนประวัติอาชญากรรม

    ทนายความของนายโอภาสยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขัง ให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องควบคุมตัวนายโอภาสไว้ เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ไม่ซับซ้อน คำให้การของนายโอกาสในชั้นสอบสวนก็เป็นประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว ไม่มีเหตุที่นายโอภาสจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้อีก

    อย่างไรก็ตาม ศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อ โดยให้เหตุผลเช่นเดิมว่า เป็นคดีร้ายแรง มีอัตราโทษสูง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอีกเป็นครั้งที่ 4 โดยใช้หลักทรัพย์เดิม ศาลยังมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

    (อ้างอิง : คำร้องฝากขังครั้งที่ 4 และคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 24 พ.ย. 2557)
  • พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังนายโอภาสเป็นครั้งที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 7-18 ธันวาคม 2557 โดยระบุเหตุผลว่าต้องสอบสวนปากคำพยานบุคคลอีก 2 ปาก และรอผลตรวจพิสูจน์ลายมือเขียนของผู้ต้องหาจากกองพิสูจน์หลักฐาน ศาลอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้อง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอีกเป็นครั้งที่ 5 โดยใช้หลักทรัพย์เดิม พร้อมทั้งยื่นเอกสารประกอบเป็นรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะแทรกซ้อน Coats’ disease ซึ่งกล่าวถึงผลกระทบของอาการบวมของเส้นเลือดในจอรับภาพที่ดวงตา อันเป็นภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง ที่อาจเกิดขึ้นกับนายโอภาสได้ ทั้งนี้ ศาลยังมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดิม

    (อ้างอิง : คำร้องฝากขังครั้งที่ 5 และคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2557)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังนายโอภาสครั้งที่ 7 ต่อศาลทหารกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2557 - 11 มกราคม 2558 โดยระบุเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากอำนาจการสั่งคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

    (อ้างอิง : คำร้องฝากขังครั้งที่ 7 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโอภาสต่อศาลทหารกรุงเทพ ในคดีที่นายโอภาสถูกกล่าวหาว่าเขียนข้อความอันเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ที่บานประตูห้องน้ำชาย ชั้น 2 ห้างซีคอนสแควร์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กฎอัยการศึกยังมีผลบังคับใช้อยู่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า ข้อความดังกล่าวทำให้บุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้ว สามารถเข้าใจโดยรวมว่าเป็นรัชกาลที่ 9 เเละทำให้พระองค์ท่านเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

    ทั้งนี้ อัยการศาลทหารมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษนายโอภาสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เเละขอให้ศาลริบปากกาของกลางด้วย

    (อ้างอิง : คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 11ก./2558 ลงวันที่ 9 มกราคม 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/13/opas_second_case/)
  • เวลาประมาณ 10.15 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การนายโอภาส อย่างไรก็ตาม นายโอภาสเเถลงต่อศาลว่า ขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ เพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานเบาที่สุด และรอการลงโทษจำเลย โดยให้เหตุผลว่า จำเลยกระทำผิดครั้งแรก รวมทั้งมีปัญหาด้านสุขภาพที่แม้ว่าในเรือนจำจะมีโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้แจ้งกับจำเลยว่าไม่มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตลอดจนไม่มีอุปกรณ์สำหรับการตรวจและรักษาโรคและอาการแทรกซ้อนของจำเลย อาจทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

    นอกจากนี้ จำเลยยังมีความกังวลและห่วงใยต่อภรรยาและบุตรสาว เนื่องจากภรรยาต้องค้าขายเพียงคนเดียว จากที่เคยช่วยกันประกอบอาชีพ ขณะที่บุตรสาวมีความผิดปกติทางอารมณ์ โดยมีเพียงจำเลยที่สามารถบรรเทาและรักษาอาการดังกล่าวได้ หากครอบครัวต้องขาดเสาหลักทั้งทางเศรษฐกิจและสภาวะจิตใจ อาจทำให้ครอบครัวอยู่สภาวะที่ย่ำแย่มากไปกว่าเดิม

    ศาลทหารกรุงเทพจึงมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ตามที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย พร้อมทั้งได้แนบหนังสือรับรองความประพฤติของจำเลยและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาด้วยนั้น ศาลได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยแล้วเห็นว่า เป็นการล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งประชาชนเคารพเทิดทูน จึงเป็นการกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง ยังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ประกอบกับศาลได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว จึงให้ยกคำขอของจำเลยในส่วนที่ขอให้รอการลงโทษ และสั่งริบปากกาของกลาง

    คำพิพากษามีผลให้คดีถึงที่สุด เนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีในศาลทหารในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งคู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้

    คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่ศาลทหารลงโทษเบาที่สุด และเป็นการพิจารณาโดยเปิดเผย ผู้สังเกตการณ์จากองค์การสหประชาชาติ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศและญาติ สามารถเข้าฟังได้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้จดบันทึก

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 11 ก./2558 คดีแดงที่ 99ก./ 2558 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2558, ใบสำคัญคดีถึงที่สุด ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 24 มีนาคม 2558, https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/13/opas_second_case/ และ https://prachatai.com/journal/2015/03/58481)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายโอภาส

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายโอภาส

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 20-03-2014

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์