ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 197 ก./2558 ,
แดง 236 ก./2558

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ทหาร)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 197 ก./2558 ,
แดง 236 ก./2558
ผู้กล่าวหา
  • 2

ความสำคัญของคดี

นายโอภาส ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นคดีที่สอง จากการเขียนข้อความเเสดงความไม่พอใจ คสช.ที่บานประตูห้องน้ำชายชั้น 1 ของห้างแห่งเดียวกัน และในเวลาไล่เลี่ยกันกับคดีแรก โดยพนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหานายโอภาสในเรือนจำ หลังอัยการทหารยื่นฟ้องคดีแรกเพียง 9 วัน และในการสอบปากคำโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม นายโอภาสให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ตลอดจนให้การรับสารภาพในชั้นศาลด้วย

คดีนี้ก็ถูกพิจารณาในศาลทหาร และไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้เช่นกันกับคดีแรก โดยศาลพิพากษาจำคุก และให้นับโทษต่อจากคดีแรก ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ มีความเห็นว่า การกระทำในทั้งสองคดีของนายโอภาส ซึ่งเกิดในเวลาและสถานที่ใกล้เคียงกัน อาจถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา ม.90 ได้ ซึ่งพนักงานสอบสวนและอัยการสามารถยื่นฟ้องเป็นคดีเดียว และศาลพิจารณาลงโทษเพียงกรรมเดียวได้ ศาลยังสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ รวมทั้งอ่านคำพิพากษาเป็นการลับ ผิดไปจากหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ซึ่งศาลต้องพิจารณาคดีโดยเปิดเผย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโอภาสต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค. 57 กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 57 ถึงวันที่ 15 ต.ค. 57 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อบุคคลที่สาม โดยจำเลยได้ใช้ปากกาเขียนข้อความให้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไปที่บานประตูห้องน้ำชาย ชั้น 1 ของห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ซึ่งข้อความดังกล่าว มีความหมายเป็นการใส่ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ ทรงอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร อันเป็นการละเมิดและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่นใส่ความ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติคุณ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่ กรุงเทพมหานคร อันเป็นเขตที่อยู่ในอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก

จำเลยอยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ มีกำหนดโทษ 1 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาคดีแดงที่ 99 ก./2558 ของศาลทหารกรุงเทพ ยังไม่พ้นโทษ

คำขอท้ายฟ้องระบุว่า การที่จำเลยได้กระทำตามข้อความที่กล่าวมาในฟ้องนั้น ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับขอให้ศาลนับโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ ต่อจากโทษจำคุกในคดีแดงที่ 99 ก./2558 ของศาลทหารกรุงเทพ และขอไม่ให้หักวันคุมขังจำเลยที่ทับซ้อนกับโทษจำคุกตามคดีดังกล่าวออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาในคดีนี้ด้วย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 197 ก./2558 ลงวันที่ 7 กรกฏาคม 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • ไม่กี่วันหลังอัยการทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโอภาสต่อศาลทหารกรุงเทพ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีแรก และนายโอภาสถูกขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ พ.ต.ท.จตุภูมิ มุดซาเคน พนักงานสอบสวน สน.ประเวศ ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกคดี โดยระบุข้อเท็จจริงว่า ประมาณต้นเดือน ต.ค. 57 นายโอภาสได้เขียนข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ที่ประตูห้องน้ำด้านใน ห้องที่ 8 ชั้นที่ 1 ของห้างซีคอนสแควร์ แห่งเดียวกับคดีแรก พนักงานสอบสวนยังได้สอบปากคำโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม โดยนายโอภาสให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ตำรวจแจ้งทนายความในภายหลังว่า มีพนักงานไปพบเห็นข้อความดังกล่าวที่ห้องน้ำชั้น 1 แล้วแจ้งทหาร ทหารจึงมาแจ้งความไว้

    อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายฯ มีความเห็นว่า การกระทำของนายโอภาส อาจถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ได้ ตามคำอธิบายของ ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ซึ่งอธิบายว่า การกระทำ “กรรมเดียว” อาจเกิดจากการกระทำอันเดียว หรือเกิดจากการกระทำหลายอันก็ได้ เช่น ความผิดประเภทที่เรียกว่า “ความผิดที่ยืดออกไป” อันมีองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ มีการกระทำหลายอัน, ต้องละเมิดกฎหมายที่เป็นความผิดฐานเดียวกัน และผู้กระทำมีความมุ่งหมายอันเดียวกันติดต่อกัน พนักงานสอบสวนเร่งดำเนินการ หากศาลเห็นว่าการเขียนประตูห้องน้ำทั้งสองบานโอภาสครบองค์ประกอบดังกล่าว ศาลก็อาจถือว่าการเขียนประตูห้องน้ำบานที่ 2 เป็นการกระทำ “กรรมเดียว” กับคดีก่อนหน้านี้ และลงโทษเพียงกรรมเดียวได้

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาคดีอาญาที่ 101/2558 สน.ประเวศ ลงวันที่ 18 ม.ค. 58 https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/13/opas_second_case/ และ https://prachatai.com/journal/2015/10/61953)
  • อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโอภาสต่อศาลทหารกรุงเทพ กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 โดยจำเลยได้ใช้ปากกาเขียนข้อความให้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไป ที่บานประตูห้องน้ำชาย ชั้น 1 ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ระหว่างวันที่ 1 - 15 ต.ค. 2557 ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายเป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติคุณ และทรงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยในคำขอท้ายฟ้อง อัยการทหารขอให้ศาลนับโทษจำคุกนายโอภาสในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีแรก และขอไม่ให้หักวันคุมขังจำเลยที่ทับซ้อนกับโทษจำคุกในคดีแรกออกจากโทษจำคุกในคดีนี้ด้วย

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 197 ก./2558 ลงวันที่ 7 กรกฏาคม 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/13/opas_second_case/)
  • เวลา 08.30 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การนายโอภาส นัดนี้มีผู้สังเกตการณ์จากหลายหน่วยงาน อาทิ ผู้แทนสหภาพยุโรป สถานทูตเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดน เดนมาร์ก เบลเยี่ยม และแคนาดา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และผู้สื่อข่าวประชาไท รวมถึงมีเจ้าหน้าที่จากกองทัพบกร่วมฟังการพิจารณาคดี รวมทั้งสิ้นประมาณ 25 คน

    เป็นที่น่าสังเกตว่า การติดต่อศาลทหารกรุงเทพวันนี้มีขั้นตอนแตกต่างจากปกติ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบประมาณ 5 นาย คอยสอบถามผู้มาติดต่อตั้งแต่บริเวณหน้าประตูทางเข้า ว่าเป็นใครและมาติดต่อเรื่องอะไร และมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารยังมาอธิบายให้ผู้สังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดี ถึงการปฏิบัติตัวภายในศาล ได้แก่ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ห้ามบันทึกภาพและเสียง ห้ามพูดคุยหรือแปลกระบวนการพิจารณา ระหว่างศาลพิจารณาคดี รวมถึงห้ามนั่งกอดอกและไขว่ห้าง เพราะอาจรบกวนการพิจารณาคดีของศาลอีกด้วย

    09.25 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวโอภาสเข้ามาภายในห้องพิจารณาคดี ก่อนองค์คณะตุลาการที่ประกอบด้วย พ.อ.โฆษนันทน์ สุทัศน์ ณ อยุธยา, พ.อ.กิจจา เคลือบมาศ และ พ.ท.วรพล นิยมเสน จะออกพิจารณาคดีเวลา 09.30 น. โดยอัยการศาลทหารแถลงขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ เนื่องจากในคำบรรยายฟ้องของโจทก์มีถ้อยคำพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

    ขณะที่ทนายจำเลยคัดค้านว่า นัดนี้เป็นเพียงนัดสอบคำให้การ และจำเลยได้อ่านฟ้องโจทก์แล้ว ควรพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เพื่อความโปร่งใสและให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ศาลใช้ดุลพินิจแล้วมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา อนุญาตเฉพาะโจทก์ จำเลย ทนายจำเลย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อยู่ในห้องพิจารณาคดีเท่านั้น

    ภายหลังผู้สังเกตการณ์ออกจากห้องพิจารณาคดี ศาลอ่านคำฟ้องโจทก์ทั้งหมด และถามคำให้การ จำเลยให้การรับสารภาพ แต่อัยการได้ขอให้ทนายจำเลยตัดข้อความในคำร้องประกอบคำรับสารภาพซึ่งได้ยื่นต่อศาลก่อนหน้านี้แล้ว ความว่า “ความผิดครั้งนี้ของจำเลยยังคงถือว่าเป็นความผิดครั้งแรก เพราะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นแทบจะในเวลาเดียวกัน กระทำไปโดยเจตนาเดียวกัน และได้จบลงในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันมาก โดยในขณะนั้นจำเลยได้กระทำลงไปด้วยความหลงผิด และอารมณ์ชั่ววูบของจำเลย เฉกเช่นเดียวกับความผิดในคดีแดงที่ 99 ก./2558” เนื่องจากเป็นการแย้งกับคำให้การรับสารภาพ

    อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยแย้งว่า การกระทำผิดครั้งเดียว อาจแบ่งเป็นการกระทำผิด 2 กรรมก็ได้ กรณีการเขียนประตูห้องน้ำบานที่สองของโอภาส อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดครั้งแรกอยู่ จึงขอให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าข้อความดังกล่าวถือเป็นการให้การปฏิเสธหรือไม่ แต่ศาลเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจที่จะตัดถ้อยคำในคำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ซึ่งอัยการศาลทหารแถลงว่า หากไม่ตัดข้อความดังกล่าวจะขอสืบเจตนาของจำเลย ทนายความปรึกษากับจำเลยแล้วจึงยอมตัดข้อความดังกล่าวออก

    หลังจากนั้น ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดี แล้วอ่านคำพิพากษาต่อทันที โดยพิพากษาจำคุกจำเลย 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ส่วนคำร้องขอให้รอการลงโทษ หรือนับโทษพร้อมกับอีกคดีหนึ่ง ศาลเห็นว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษ และเนื่องจากศาลลงโทษสถานเบาแล้ว ทั้งไม่มีเหตุให้นับโทษพร้อมกัน จึงให้นับโทษต่อจากคดีเดิม

    ทั้งนี้ หลังผู้สังเกตการณ์ออกจากห้องพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ทหารได้พยายามอธิบายแก่ผู้สังเกตการณ์ โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศให้เข้าใจว่าการพิจารณาคดีลับเป็นกระบวนการปกติ ที่จะกระทำในคดีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ ความมั่นคง หรือคดีที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ใช่เฉพาะในศาลทหารเท่านั้น แต่ศาลอื่นๆ ก็มีกระบวนการพิจารณาคดีลับเช่นกัน อย่างไรก็ดี ศูนย์ทนายฯ มีข้อสังเกตว่า ตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศและการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ศาลต้องพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เพื่อให้สาธารณะได้ตรวจสอบถึงการทำหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน

    ตั้งแต่มีการรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 และมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร จำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารส่วนใหญ่ให้การรับสารภาพแทบทั้งสิ้น มีอย่างน้อย 4 คดีที่จำเลยต่อสู้คดี คือ คดีของสิรภพหรือรุ่งศิลา คดีของบัณฑิต อานียา และคดีเครือข่ายคลิปบรรพต 2 คดี คือ อัญชัน และธารา

    นอกจากนี้ คำพิพากษามีผลให้คดีถึงที่สุด เนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีในศาลทหาร โดยเหตุแห่งคดีเกิดในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/10/16/opas_second-case/)
  • หลังมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 8 ส.ค. 2559 นายโอภาสซึ่งถูกคุมขังมาแล้วเกือบ 1 ปี 10 เดือน อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป จึงได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษ

    อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นายโอภาสจะได้รับการปล่อยตัว ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพพบว่า สน.ประเวศ ได้แจ้งอายัดตัวนายโอภาสไว้ ทำให้ยังปล่อยตัวนายโอภาสไม่ได้ ต้องรอให้พนักงานสอบสวน สน.ประเวศ มารับตัวไปดำเนินการต่อไป หลังจากทนายความได้รับแจ้งจึงตรวจสอบกับ สน.ประเวศ พบว่า เป็นการขออายัดตัวตามหมายจับของคดีที่ 2 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาและโอภาสรับโทษแล้ว แต่ สน.ประเวศยังไม่ได้แจ้งถอนการอายัดตัวนายโอภาสต่อทางเรือนจำ ทนายความจึงประสานให้พนักงานสอบสวนแจ้งถอนการอายัดตัว นายโอภาสจึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงบ่าย

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายโอภาส

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายโอภาส

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 16-10-2015

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์