ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนและระเบิด
  • ครอบครองยุทธภัณฑ์ (พ.ร.บ.ครอบครองยุทธภัณฑ์ฯ)
ดำ อ.2535/2557

ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนและระเบิด
  • ครอบครองยุทธภัณฑ์ (พ.ร.บ.ครอบครองยุทธภัณฑ์ฯ)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2535/2557

ความสำคัญของคดี

จันทนา วรากรสกุลกิจ ถูกจับกุมดำเนินคดีถึง 2 คดี โดยคดีนี้เธอถูกกล่าวหาว่าได้ครอบครองอาวุธสงครามหลายชนิด ซึ่งเป็นอาวุธที่ถูกเชื่อมโยงกับคดีก่อเหตุยิงเวที กปปส.จังหวัดตราด ทั้งนี้อาวุธที่รวจยึดได้ถูกพบในห้องของคนอื่น ศาลพิพากษาจำคุก 27 ปี 9 เดือน แต่ศาลลดโทษให้ 1 ใน 3 เนื่องจากจันทนาให้การเป็นประโยชน์เหลือจำคุกกับจำคุก 17 ปี 18 เดือน และปรับเป็นเงิน 4,000 บาท

ความคืบหน้าของคดี

  • พนักงานสอบสวนขอฝากขังครั้งที่ 1 ต่อศาลอาญา โดยระบุเหตุที่ขอฝากขัง โดยระบุเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะต้องสอบพยานอีก 6 ปาก รอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษ และรอผลตรวจพิสูจน์ของกลาง หากมีการขอประกันตัว พนักงานสอบสวนขอคัดค้านเนื่องจาก เกรงว่าจะหลบหนี จึงขอฝากขัง 12 วัน ตั้งแต่ 23 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2557
  • บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ระบุว่า

    เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ทหารและตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของเชาว์วัฒน์ ทองเผือก พบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด เสื้อเกราะกันกระสุน และอุปกรณ์ผลิตวัตถุระเบิด เจ้าหน้าที่จึงร่วมกันแจ้งข้อกล่าวหาเชาว์วัฒน์ พร้อมคุมตัวและยึดของกลางไปยัง สภ.หนองม่วง เชาว์วัฒน์รับสารภาพว่าผลิตด้วยส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งจันทนาและชัชชาญ บุปผาวัลย์ นำมาฝากไว้

    พฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน ร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ และมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีวัตถุระเบิด เครื่องยุทธภัณฑ์ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • สรุปคำฟ้องในคดีนี้ ดังนี้

    เมื่อปลายเดือนเมษายน 2557 จนถึง 21 พฤษภาคม 2557 จำเลยกับพวกอีกหลายคนได้ร่วมกันกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธ ดังนี้

    1. ร่วมกันครอบครองอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้และเป็นยุทธภันฑ์หลายรายการ
    2. ร่วมกันครอบครองอาวุธปืนที่นายทะเบียนสามารถออกใบอนุญาตให้ได้โดยไม่ได้รับอนุญาต
    3. ร่วมกันครอบครองเสื้อเกราะและเครื่องป้องกันกระสุนที่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมโดยไม่ได้รับอนุญาต
    4. ร่วมกันพาอาวุธและเครื่องกระสุนปืนที่มีในครอบครองติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร
    5. ร่วมกันมีเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคมที่ไม่ได้ทำงานในย่านที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

    ในชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ
  • เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลอาญารัชดา ห้อง 910 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุก นางจันทนา วรากรสกุลกิจ หญิงเสื้อแดง วัย 45 ปี จากข้อกล่าวหาครอบครองอาวุธปืน วัตถุระเบิด ครอบครองเสื้อเกราะกันกระสุน และวิทยุสื่อสารสั่งจำคุก 27 ปี 9 เดือน ปรับ 6,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงให้ลดโทษทั้งจำและปรับลง 1 ใน 3 เหลือจำคุก 17 ปี 18 เดือน ปรับ 4,000 บาท

    เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2557 เจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก เข้าทำการตรวจค้น ห้องเช่า หมายเลข 3 และ 4 หอพักแห่งหนึ่ง ใน ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และได้ทำการจับกุมนางจันทนา วรากรสกุลกิจ วัย 44 ปี พร้อมอาวุธปืน M16 หนึ่งกระบอก, ปืน AK 47 หนึ่งกระบอก, ปืนคาร์บิน SKS พร้อมกล้องเล็ง หนึ่งกระบอก, เครื่องยิงระเบิดM 79 หนึ่งกระบอก, ปืนคาร์บินM 1 หนึ่งกระบอก, ปืนคาร์บิน M 3 1 กระบอก, ปืนพกสั้นไม่มีทะเบียน 1 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน, วัตถุระเบิด, เสื้อเกราะกันกระสุน, วิทยุสื่อสาร โดยการจับกุมดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้ระบุว่าเป็นการซัดทอดมาจาก นายเชาว์วัฒน์ ทองเผือก อดีตทหารพราน ที่ถูกทำการจับกุมที่บ้านพักที่ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน

    ในการสืบพยานโจทก์เชื่อมโยงหลักฐานการพิสูจน์อาวุธของกลางเข้ากับปลอกกระสุนที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ ในเหตุการณ์คนร้ายขว้างระเบิดและยิงปืนเข้าใส่บริเวณการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ตลาดยิ่งเจริญ ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง จ.ตราด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บกว่า 30 คน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงจำเลยจากภาพถ่ายที่ปรากฏจำเลยและพวกกำลังรับลังใส่เครื่องมือจากนายสมศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ต้องขังและจำเลยในคดีพยายามฆ่าซึ่งแยกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งของเหตุการณ์ที่จังหวัดตราด ภาพการรับกล่องใส่เครื่องมือดังกล่าวถูกถ่ายที่ถนนอักษะระหว่างการชุมนุมของ กลุ่ม นปช.ช่วงก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และรังสินี วัดเล็ก พยานโจทก์ ผู้ดูแลห้องเช่า ได้ระบุว่าจันทนาเป็นผู้เช่าห้องทั้ง 2 ห้อง

    ส่วนฝ่ายจำเลยได้ต่อสู้เรื่องข้อเท็จจริงในการจับกุมว่าหลักฐานของกลาง ไม่ได้ถูกยึดในห้องพักของจำเลย แต่เป็นห้องพักของสุวิทย์ เจนไธสง กล่องใส่ของที่สมศักดิ์มอบให้กับจำเลยและพวกไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นอาวุธ ไม่มีการพิสูจน์ว่ามีลายนิ้วมือของจำเลยอยู่ที่ของกลาง และสุวิทย์ เจนไธสง ที่ถูกจับกุมตัวพร้อมกันก็ได้ถูก ร.อ.สุเทพ ทาเวียง หัวหน้าชุดจับกุมควบคุมตัวแยกออกไป

    ในการอ่านคำพิพากษา ศาลให้เหตุผลว่าข้อต่อสู้ในคดีของจำเลยฟังไม่ขึ้น ไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาของโจทก์ได้ จึงพิพากษาว่าจำเลยและพวกได้ร่วมกันครอบครองอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ให้จำคุก 20 ปี จำเลยและพวกได้ครอบครอง อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี จำเลยและพวกได้เคลื่อนย้ายนำพาอาวุธที่ไม่มีใบอนุญาตไปในที่สาธารณะให้จำคุก 3 ปี จำเลยครอบครองเสื้อเกราะกันกระสุนซึ่งถือเป็นยุทธภัณฑ์ที่อาจถูกนำไปใช้ในการรบให้จำคุก 9 เดือน จำเลยได้ครอบครองวิทยุสื่อสารโดยไม่มีใบอนุญาตให้มีโทษปรับเป็นเงิน 6,000 บาท แต่เนื่องจากการให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพิจารณาจึงให้ลดโทษ ให้เหลือ 2 ใน 3 คงโทษจำคุก 17 ปี 18 เดือน และปรับเป็นเงิน 4,000 บาท

    หลังจากการอ่านคำพิพากษา นางจันทนา จำเลยซึ่งถูกคุมขังอยู่นาน 1 ปี 3 เดือนเศษ และถูกนำตัวมาจากทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อฟังคำพิพากษาในวันนี้ ได้ยกมือขึ้นโต้แย้งคำตัดสินว่า คำพิพากษาของศาลไม่ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงในการจับกุม

    เธอกล่าวว่าของกลางไม่ได้ถูกยึดในที่พักของเธอ (ห้องหมายเลข 3) ไม่มีการพิสูจน์ลายนิ้วมือของเธอว่ามีอยู่ที่ของกลาง และสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจยึดหลักฐานได้เป็นห้องพักหมายเลข 4 ซึ่งเป็นสถานที่ที่นายสุวิทย์ เจนไธสง ได้พักอยู่ซึ่งเป็นห้องที่อยู่ติดกับเธอ นายสุวิทย์ ได้ถูก ร.อ.สุเทพ ทาเวียง หนึ่งในเจ้าหน้าที่เข้าทำการจับกุมได้ควบคุมตัวแยกออกไปโดยสุดท้ายแล้วไม่มีชื่อ ปรากฎอยู่ในคำฟ้องแต่อย่างใด เธอกล่าวด้วยว่า ขอถามว่านายสุวิทย์ที่ถูกจับกุมพร้อมกับเธอและเป็นผู้พักอาศัยอยู่ในห้องดัง กล่าวหายไปไหน

    จากนั้นศาลอธิบายว่าการพิจารณาคดี ศาลจะพิจารณาจากคำฟ้องโจทก์และพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำมาแสดงเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องนำนายสุวิทย์มาแสดงตัวต่อศาล

    จันทนาถามกลับว่า จะให้เธอไปนำนายสุวิทย์มาแสดงตัวต่อศาลได้อย่างไรในเมื่อเธอถูกกักขังอยู่ระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่ได้รับการประกันตัว พร้อมกันนั้นเธอถามย้ำหลายครั้งว่า ศาลเชื่อในสิ่งที่เธอพูดหรือไม่

    ศาลตอบว่าการอนุญาตให้จำเลยพูดเป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยได้แสดงความรู้สึก หากไม่พอใจคำพิพากษาก็ให้จำเลยยื่นอุทธรณ์ คดีนี้ศาลได้พิจารณาโดยให้ความปราณีแล้ว ความจริงแล้วศาลสามารถสั่งจำคุกได้ตลอดชีวิต และคดีอย่างนี้ใครจะยอมให้ประกันตัว

    จากนั้นศาลได้สั่งให้จันทนานั่งลง มิเช่นนั้นจะใช้อำนาจสั่งจำคุกจันทนาเพิ่มอีก 6 เดือนฐานหมิ่นศาล จันทนาได้ตอบกลับว่า “หากคุณคิดว่าผู้หญิงคนเดียวเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศก็ให้สั่งประหารชีวิตไปเลย”

    ระหว่างนั้นเพื่อนและญาติของนางจันทนาที่มานั่งฟังการพิจารณาคดีอยู่ด้วยได้ พากันร้องไห้ด้วยเสียงดัง และลุกขึ้นมากอดนางจันทนาพร้อมกับขอร้องให้นางจันทนานั่งลงและหยุดพูด หลังจากจันทนายอมนั่งลง เธอหันมาจับมือบุตรชายพร้อมบอกกับบุตรชายว่า นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมแม่ถึงต้องเป็นเสื้อแดง

    (อ้างอิง : https://prachatai.com/journal/2015/09/61468)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์