สรุปความสำคัญ

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ออกเดินเท้าจากบ้านย่านบางบัวทองในวันที่ 14 มี.ค. 2558 เพื่อไปพบพนักงานสอบสวนที่ สน.ปทุมวัน ตามที่มีนัดรายงานตัวในคดี "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" ในวันที่ 16 มี.ค. 2558 การเดินเท้าดังกล่าวเป็นการทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ในนามกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และให้ยุติการนำพลเมืองขึ้นศาลทหาร พันธ์ศักดิ์ถูกตำรวจควบคุมตัวตั้งแต่ออกเดินได้ไม่นาน แม้จะได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็นวันที่ 14 มี.ค. และสามารถออกเดินต่อในวันที่ 15-16 มี.ค. จนถึงจุดหมาย แต่ก็ถูกทหารและตำรวจร่วมกันแจ้งความดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 นอกจากนี้ ยังมีประชาชนที่มามอบดอกไม้ให้นายพันธ์ศักดิ์ระหว่างทางอีก 6 ราย ถูกออกหมายจับด้วย โดยเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมมาดำเนินคดีได้เพียงคนเดียวคือ นายปรีชา แก้วบ้านแพ้ว อายุ 77 ปี

กิจกรรมดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบและสันติตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศให้การรับรอง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายพยายามปิดกั้น รวมถึงดำเนินคดี เพื่อหวังควบคุมการแสดงออกของประชาชน และให้จำเลยยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
    • เสรีภาพในการเดินทาง
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก/เคลื่อนไหว/รวมกลุ่ม
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปรีชา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

14 มี.ค. 2558 เวลาประมาณ 7.00 น. นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จากการจัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" ที่หน้าหอศิลป์ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 ได้ออกเดินเท้าจากบ้านย่านบางบัวทอง เพื่อไปให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนที่ สน.ปทุมวัน ตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมายในวันที่ 16 มี.ค. 2558 การเดินเท้าดังกล่าวเป็นการทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ในนามกลุ่มพลเมืองโต้ กลับภายใต้แนวคิด "เมื่อความยุติธรรมไม่มา ก็เดินหน้าไปหามัน" โดยเรียกร้องให้ยุติการนำพลเมืองขึ้นศาลทหาร ในระหว่างทางจะมีกิจกรรมในจุดต่าง ๆ เช่น สดมภ์นวมทอง หน้าสำนักงานไทยรัฐ, หมุดเฌอ ถ.ราชปรารภ, ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ต่อมา เวลาประมาณ 8.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวนายพันธ์ศักดิ์ จากบริเวณหน้าปั๊ม ปตท.แยกบางพลู และนำตัวไปยัง สน.ปทุมวัน "ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผมทำผิดอะไร เพราะเราเดินมารายงานตัว ไม่ใช่เราจะหลบหนีแล้วถูกจับกุม แต่นี่เราเดินมารายงานตัว แล้วมาจับเรา เราก็งงเหมือนกันว่า จับข้อหาอะไร" พันธ์ศักดิ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไทและว่า ตอนเดินก็เดินมาคนเดียว โดยมีพี่น้องสื่อมวลชนและตำรวจทั้งสันติบาลทั้งในและนอกเครื่องแบบที่ประสานงานกันอยู่แล้วเดินประกบมาตลอด เพราะเขากลัวมือที่สามจะแทรกแซงหรือกลัวประชาชนจะแห่มาให้กำลังใจแล้วกลายเป็นข้อหาอื่นอีก

ที่ สน.ปทุมวัน พนักงานสอบสวนได้จัดทำบันทึกการแจ้งเตือนผู้ฝ่าฝืนประกาศ คสช. โดยระบุว่า การประกาศเดินเท้ามา สน.ปทุมวัน ของนายพันธ์ศักดิ์นั้น "เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต มีนัยยะทางการเมือง" มีการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อทำกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงานไทยรัฐ ซึ่งเป็นจุดที่ นวมทอง ไพรวัลย์ "ผู้ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง" เสียชีวิต ทั้งยังนัดหมายเสวนาทำกิจกรรมทางการเมืองโดยไม่ขออนุญาตจาก คสช. "ซึ่งจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในบ้านเมือง” อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ เจ้าหน้าที่จึงใช้อำนาจตามข้อ 4 ของประกาศฉบับดังกล่าวการเข้าระงับกิจกรรม อย่างไรก็ตาม นายพันธ์ศักดิ์ปฏิเสธที่จะลงชื่อในบันทึกการแจ้งเตือนฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 มีลักษณะเป็นการขอความร่วมมือและไม่ได้มีการกำหนดโทษใด ๆ ไว้

จนกระทั่งเวลา 16.00 น. นายพันธ์ศักดิ์จึงได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด นายพันธ์ศักดิ์ยืนยันยังคงเดินหน้ากิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ต่อไปในเช้าวันที่ 15 มี.ค. จุดเริ่มต้นที่บริเวณหน้าไทยรัฐ ตามกำหนดการเดิม แต่ยกเลิกกิจกรรมเสวนาในช่วงเย็นวันที่ 14 มี.ค. นี้ ตามคำขอร้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เวลา 17.20 น. นายพันธ์ศักดิ์ เดินทางถึงกองบังคับการปราบปราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม สภ.บางบัวทอง และ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ), มาตรา 309 (ข่มขืนใจ), และมาตรา 310 (กักขังหน่วงเหนี่ยว) โดย พ.ต.ท.สมนึก สันติภาตะนันท์ พนักงานสอบสวน กองบังคับการ 2 ผู้รับแจ้งความ ได้สอบปากคำนายพันธ์ศักดิ์ และลงบันทึกประจำวันไว้ (อ้างอิง: https://bit.ly/2ow1Tdz, https://bit.ly/2oxqM8L และ https://prachatai.com/journal/2015/03/58376)

15 มี.ค. 2558 เวลา 9.00 น. นายพันธ์ศักดิ์ได้เดินเท้าต่อในวันที่ 2 จากหมุดเฌอ ถ.ราชปรารภ (เป็นจุดที่ลูกชาย คือ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ในช่วงที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.) ไปยังหมุดคณะราษฏร, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ลานปฏิมากรรม 6 ตุลา ก่อนสิ้นสุดที่ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยนายพันธ์ศักดิ์ถูกนำตัวไปยังห้องกองการเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ยินดีให้จัดกิจกรรมพบปะผู้ให้กำลังใจโดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2015/03/58401)

26 มี.ค. 2558 เวลาประมาณ 0.30 น. ขณะนายพันธ์ศักดิ์กำลังนำรถยนต์ไปจอดในวัดละหาร อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน พ.ต.ท.ทวีวงศ์ ดิษฐแย้ม สารวัตรกองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ได้แสดงตัวเพื่อขอควบคุมตัวนายพันธ์ศักดิ์ โดยแสดงหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 17 มี.ค. 2558 จากการที่นายพันธ์ศักดิ์ทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2558 การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่พันธ์ศักดิ์จะเริ่มเดินเท้าอีกครั้งในช่วงเช้าของวันที่ 26 มี.ค. เพื่อเข้ารายงานตัวที่ศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 27 มี.ค. ตามที่อัยการทหารนัดหมาย หลังการจับกุมตำรวจนำตัวนายพันธ์ศักดิ์ไปถึง สน.ชนะสงคราม ในเวลา 1.00 น.

นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน พยายามขอเข้าร่วมการสอบสวนนายพันธ์ศักดิ์ แต่ถูกปฏิเสธและเชิญออกจากห้องสอบสวน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าอยู่ระหว่างการทำบันทึกจับกุม นายพันธ์ศักดิ์ยังไม่ใช่ผู้ถูกจับ ทนายความจึงยังไม่มีสิทธิดังกล่าว หากยืนยันจะอยู่ในห้องอาจถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ซึ่งขณะนั้นมี พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. สอบปากคำนายพันธ์ศักดิ์อยู่

อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 7/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้รับรองสิทธิในการพบทนายความของผู้ถูกจับไว้

จนกระทั่งเวลา 2.20 น. ทนายจึงสามารถเข้าไปในห้องสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหานายพันธ์ศักดิ์รวม 3 ข้อหา ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 นายพันธ์ศักดิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกนำตัวไปคุมขังและปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังและให้ประกันตัวในวันเดียวกัน (อ้างอิง: https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/808095032573686)

นอกจากนายพันธ์ศักดิ์ที่ถูกจับกุมตามหมายจับแล้ว พบว่า กิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ในระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค. 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ยุติการนำพลเมืองขึ้นศาลทหารนั้น ศาลทหารกรุงเทพได้ออกหมายจับประชาชนที่มาให้กำลังใจและมอบดอกไม้ให้นายพันธ์ศักดิ์ระหว่างทางที่เดินในวันที่ 15 มี.ค. อีก 6 ราย โดยในวันที่ 24 ต.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ได้จับกุมนายปรีชา อายุ 77 ปี ระหว่างการตรวจหนังสือเดินทางที่ท่าเรือหิรัญนคร อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ขณะนายปรีชากำลังจะข้ามไปเที่ยวประเทศลาว ตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพที่ ก.49/2558 ลงวันที่ 17 มี.ค. 2558 ซึ่งระบุข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557

นายปรีชาถูกควบคุมตัวที่ สภ.เชียงแสนเป็นเวลา 1 คืน ก่อนจะถูกนำตัวมาที่กรุงเทพด้วยเครื่องบินในวันที่ 25 ต.ค. 2558 เพื่อส่งตัวต่อให้พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุ โดยพนักงานสอบสวนนำตัวนายปรีชาไปขออำนาจศาลทหารฝากขังในวันต่อมา ก่อนนายปรีชาจะได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันเดียวกัน (อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/692)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 19-06-2015
อัยการศาลทหารยื่นฟ้องนายพันธ์ศักดิ์ ต่อศาลทหารกรุงเทพ ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา คือ ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง

ต่อมา นายพันธ์ศักดิ์ ยื่นขอประกันตัวต่อศาลทหารโดยใช้ หลักทรัพย์ 70,000 บาท ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยกำหนดเงื่อนไข "ห้ามยั่วยุ ปลุกปั่น ชักชวน ปลุกระดมหรือไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้มีการชุมนุม อันน่าจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือก่อให้เกิดภัยอันตรายใด ๆ อันกระทบต่อความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประะชาชน หรือกระทำการใด ๆ อันทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน" นายพันธ์ศักดิ์ได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในเวลา 21.30 น.
 
วันที่ : 11-12-2015
อัยการทหารนัดนายปรีชาส่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยอัยการไม่ได้ฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ตามที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน จากนั้น ศาลมีคำสั่งให้ประกันนายปรีชาด้วยหลักทรัพย์เดิม และได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
วันที่ : 23-05-2016
ศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้นายปรีชาฟัง และถามคำให้การ นายปรีชาให้การรับสารภาพ ศาลจึงอ่านคำพิพากษามีเนื้อหาโดยสรุป คือ จำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในระหว่างพิจารณาคดี คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กำหนดโทษให้ความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นกรณีที่มีกฎหมายออกมาใช้ภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยจึงจะต้องลงโทษจำเลยตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12

พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นความผิดฐานชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
 
วันที่ : 26-07-2019
ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้งดสืบพยานและให้จำหน่ายคดีของนายพันธ์ศักดิ์ออกจากสารบบความศาล ให้มีหนังสือไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม และให้สัญญาประกันจำเลยมีผลต่อไป เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 มีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฏาคม 2562 เป็นต้นไป แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
 
วันที่ : 28-01-2020
ศาลอาญา รัชดาฯ นัดหมายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ มาเพื่อดำเนินการพิจารณาคดีต่อ หลังจากที่คดีได้ถูกโอนย้ายจากศาลทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562

โจทก์แถลงจะนำพยานเข้าสืบอีก 16 ปาก ซึ่งในวันนี้มีพยานที่โจทก์และจำเลยรับกันได้ 4 ปาก จึงไม่ต้องนำสืบ ส่วนทนายจำเลยประสงค์จะนำพยานเข้าสืบ 7 ปาก ประกอบด้วย ตัวจำเลย 1 ปาก พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ 2 ปาก และพยานนักวิชาการ 4 ปาก ศาลได้กำหนดนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 3-6 พ.ย. 2563
 
วันที่ : 16-12-2020
ศาลพิพากษายกฟ้อง

ภูมิหลัง

  • นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ
    เริ่มทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนในมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เป็นเวลา 5 ปี และร่วมก่อตั้งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนักพัฒนา จำกัด ก่อนจะไปทำงานธุรกิจเอกชนที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ประมาณ 10 ปี หลังจากนั้นทำงานกับ actionaid Thailand เป็นเวลา 2 ปี และทำงานสัญญาระยะสั้น 3 เดือนกับ Amnesty International ทั้งหมดเป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับงานรณรงค์ภายหลังเมื่อลูกชายถูกทหารยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชน เมษายน – พฤษภาคม 2553 ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆกับกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรม เพื่อยกระดับ “เสียง” ของคนธรรมดาให้มีพื้นที่ในสังคม
  • ปรีชา
    ปรีชา เป็นข้าราชการบำนาญ อายุ 77 ปี เป็นคนที่สนใจการเมือง เคยเข้าร่วมการชุมนุมโดยไปฟังปราศรัยบ้างเป็นครั้งคราว

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์