ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • ประกาศ คสช. ที่ 7/2557
ดำ 174 ก./2558
แดง 21 ก./2562

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.สถิตย์ สังข์ประไพ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • ประกาศ คสช. ที่ 7/2557

หมายเลขคดี

ดำ 174 ก./2558
แดง 21 ก./2562
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.สถิตย์ สังข์ประไพ

ความสำคัญของคดี

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถูกดำเนินคดีในความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เดินเท้าจากบ้านไปรายงานตัวที่ สน.ปทุมวัน ในคดี "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นไปโดยสงบ ไม่มีเหตุที่จะกล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดแต่อย่างใด จึงเป็นการดำเนินคดีที่ประสงค์จะให้จำเลยยุติการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมทางการเมือง

คดีนี้ยังถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร รวมทั้งจำเลยจะไม่สามารถอุทธรณ์/ฎีกาคำพิพากษาได้ เนื่องจากคดีเกิดขึ้นในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งจำเลยได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล รวมทั้งขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ทั้งศาลทหารและศาลอาญาเห็นว่าอยู่ในอำนาจศาลทหาร และศาลทหารไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ด้วยกระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหารที่ล่าช้า ทำให้คดียืดเยื้อนานกว่า 4 ปี และต้องโอนคดีให้ศาลยุติธรรมพิจารณาต่อ หลังประกาศ คสช.ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารถูกยกเลิกไป

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ก.วันที่ 13 มี.ค. 2558 เวลาใดไม่ปรากฏชัด อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จำเลย ได้กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยโพสต์ข้อความเผยแพร่ลงในเฟซบุ๊กชื่อบัญชี “พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ” ซึ่งเป็นของจำเลยว่า “จุดเริ่มเดิน ไปบอกว่า พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร พบกันที่ ร.ร.โสตนนทบุรี (ใกล้เทศบาลบางบัวทอง) 7 โมงเช้า 14 มี.ค. 2558 พร้อมแผนที่แสดงจุดนัดพบ” อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยจำเลยมีเจตนาที่จะให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมชุมนุมทางการเมืองกับจำเลย เพื่อต่อต้านการดำเนินคดีบุคคลพลเรือนในศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 ทั้งที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า ในห้วงเวลาดังกล่าว คสช.ได้มีประกาศฉบับที่ 7/2557 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โดยมาชุมนุมทางการเมืองร่วมกับจำเลยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

ข.ต่อมา เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2558 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกอีก 6 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองโดยเริ่มเดินประท้วงคัดค้านตั้งแต่บริเวณหน้ากรมวิทยาศาสตร์บริการจนมารวมตัวกันที่ลานปรีดีพนมยงค์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อคัดค้านการใช้อำนาจของ คสช. โดยมีประชาชนมาร่วมชุมนุมกับจำเลยจำนวนประมาณ 20 คน ซึ่งเป็นการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ทั้งที่จำเลยได้ทราบประกาศ คสช.ดังกล่าวแล้ว

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 174 ก./2558 ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ถูกจับกุมในเวลาประมาณ 0.30 น. จากวัดในละแวกบ้านใน จ.นนทบุรี พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้แจ้งข้อกล่าวหานายพันธ์ศักดิ์รวม 3 ข้อหา ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 นายพันธ์ศักดิ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

    เวลาประมาณ 8.30 น. เมื่อพนักงานสอบสวนสอบปากคำนายพันธ์ศักดิ์เสร็จแล้ว ได้นำตัวไปตรวจร่างกายที่วชิรพยาบาล จากนั้น นำตัวไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง โดยคัดค้านการให้ประกันตัว

    ด้านนอกศาลทหารกรุงเทพ มีการนำรั้วเหล็กปิดกั้นพื้นที่รอบกระทรวงกลาโหม ตรวจบัตรประชาชนอย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้เพียงทนายความ คือนายอานนท์ นำภา ญาติของผู้ต้องหา นายประกัน และสื่อมวลชนที่มีสมุดประจำตัวที่ออกให้โดยกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น

    เวลา 12.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขังนายพันธ์ศักดิ์ เจ้าหน้าที่จึงนำตัวนายพันธ์ศักดิ์ไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่ก่อนที่นายพันธ์ศักดิ์จะถูกนำตัวออกจากศาลไป ได้มีนักศึกษา 3 คน นำเครื่องบินกระดาษร่อนเข้าไปหลังแนวรั้วเหล็ก บนกระดาษมีข้อความ เช่น “ไม่เอาศาลทหาร” “ทหารหยุดเถอะ” เป็นต้น ก่อนชู 3 นิ้ว แล้วขึ้นรถสามล้อออกไป โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารมาเก็บเครื่องบินกระดาษไป

    ต่อมาเวลา 14.20 น. ศาลทหารอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายพันธ์ศักดิ์ โดยเรียกหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 70,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวว่า ห้ามผู้ต้องหากระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ชักชวน ปลุกระดม ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้มีการชุมนุม อันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือก่อให้เกิดภยันตรายใด ๆ อันกระทบต่อความเสียหาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งนี้ นายพันธ์ศักดิ์ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงค่ำ

    (อ้างอิง: สังเกตการณ์โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ และ https://prachatai.com/journal/2015/03/58578)
  • เนื่องจากอัยการศาลทหารกรุงเทพเพิ่งได้รับสำนวนจากสถานีตำรวจนครบาลเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2558 จึงยังไม่ได้พิจารณาโดยละเอียด จึงนัดให้นายพันธ์ศักดิ์ มาฟังคำสั่งอีกทีวันที่ 4 มิ.ย. 2558 (อ้างอิง: https://bit.ly/2n6G6ca)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพตรวจสำนวนการสอบสวนแล้วพบว่า คดียังมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาอยู่มาก จึงยังไม่มีคำสั่งในคดี ให้มาฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 19 มิ.ย. 2558

    (อ้างอิง: หนังสืยอัยการฝ่ายศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 4 มิ.ย. 2558)
  • อัยการศาลทหารยื่นฟ้องนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ ต่อศาลทหารกรุงเทพ ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา คือ ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง

    ต่อมา นายพันธ์ศักดิ์ ยื่นขอประกันตัวต่อศาลทหารโดยใช้ หลักทรัพย์ 70,000 บาท ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยกำหนดเงื่อนไข "ห้ามยั่วยุ ปลุกปั่น ชักชวน ปลุกระดมหรือไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้มีการชุมนุม อันน่าจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือก่อให้เกิดภัยอันตรายใด ๆ อันกระทบต่อความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประะชาชน หรือกระทำการใด ๆ อันทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน"

    แต่ระหว่างรอการปล่อยตัว นายพันธ์ศักดิ์ต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกรุงเทพ ก่อนจะปล่อยตัวในเวลา 21.30 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 174 ก./2558 ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2558 และ https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/845488628834326)
  • ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ พันธ์ศักดิ์จึงยืนยันไม่ให้การจนกว่าจะมีความเห็นวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

    คำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่ทนายจำเลยยื่นต่อศาลทหาร สรุปประเด็นได้ดังนี้

    1.ขณะที่เกิดเหตุจนกระทั่งถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ พันธ์ศักดิ์มีสถานะเป็นพลเรือนและไม่ได้รับราชการทหารแต่อย่างใด จึงมิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารตามพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 16

    2. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและไม่สามารถบังคับใช้ได้

    3. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารมีเนื้อหาเกินขอบเขตของกฎหมายที่เป็นฐานในการประกาศให้อำนาจ จึงไม่สามารถใช้บังคับได้

    4. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ประกอบกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 (1) และ (5) อันทำให้ประกาศฉบับดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย

    5. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองย่อมสิ้นผลไปโดยปริยาย เนื่องจากพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจประกาศถูกยกเลิก

    ตุลาการศาลทหารรับคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลไว้พิจารณา และสั่งให้อัยการโจทก์ทำคำชี้แจงยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน พร้อมทั้งมีคำสั่งให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว โดยจะจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่จำเลยอ้างว่าอยู่ในเขตอำนาจ คือ ศาลอาญา

    ในการเดินทางมาศาลตามนัดหมายในครั้งนี้ นายพันธิ์ศักดิ์ได้ทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน#2 เมื่อเผด็จการใช้ศาลทหารตัดสินพลเมือง” เพื่อย้ำเตือนว่าบ้านนี้ เมืองนี้มีความไม่เป็นธรรมอย่างไร โดยเริ่มเดินเท้าออกจากบ้านที่อำเภอบางบัวทอง จ.นนทบุรี ในเวลา 08.30 น. ของวันที่ 4 พ.ย. 2558 มุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 14 นาย ใช้มอเตอร์ไซค์ขับติดตาม บันทึกทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว บางช่วงระยะทางมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบสังกัด ปตอ.พัน.6 จำนวน 8 นาย มาดักรอถ่ายภาพ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบคอยอำนวยความสะดวกเป็นระยะ ตลอดเส้นทางที่นายพันธ์ศักดิ์เดิน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2015/11/05/resistance-citizen-1/)
  • ศาลทหารกรุงเทพอ่านคำวินิจฉัยของศาลอาญาในเรื่องเขตอำนาจ ตามคำวินิจฉัยที่ 1/2559 ลงวันที่ 29 ม.ค. 2559 โดยสาระสำคัญดังนี้

    การที่ คสช. ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ทำให้ประกาศและคำสั่งที่ออกโดย คสช. มีสถานะเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ทั่วไป ทั้งนี้ คสช. จำต้องเข้าควบคุมอำนาจการปกครองเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร และประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบการหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ประกาศดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นกฎหมายด้วย

    ทั้งนี้ ในระยะเวลาดังกล่าวได้มีประกาศกฎอัยการศึก แม้ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ก็ตาม แต่ตามกติการระหว่างประเทศดังกล่าวได้กำหนดไว้ในข้อ 4 ที่ให้รัฐภาคีสามารถเลี่ยงพันธกรณีได้ในบางประการ คือ ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งรวมถึงการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยรัฐภาคีจะต้องแจ้งการเลี่ยงพันธกรณีดังกล่าวให้แก่รัฐภาคีอื่นได้ทราบโดยยื่นเรื่องผ่านสหประชาชาติ

    ในการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว ประเทศไทยโดยคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติแล้ว โดยไทยขอเลี่ยงพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเละสิทธิทางการเมืองบางประการ รวมถึงข้อ 14 (5) (สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม) เฉพาะส่วนที่ได้มอบหมายให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีแล้ว ดังนั้นประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557, 37/2557 และ 38/2557 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง

    นอกจากนี้ ตามมาตรา 47 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้บัญญัติให้บรรดาประกาศหรือคำสั่งของ คสช. หรือ คำสังหัวหน้า คสช. ที่ได้ประกาศตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ามารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ว่าประกาศหรือคำสั่งให้มีผลบังคับใช้ในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นที่สุด และให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับจนกว่าจะมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณีแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าว อันเป็นการรับรองว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557, 37/2557 และ 38/2557 ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

    ดังนั้น การที่จำเลยถูกฟ้องในความผิดฝ่าผืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 กรณีการชุมนุมทางการเมือง, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อันเป็นความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ศาลอาญาจึงมีความเห็นว่า คดีของจำเลยอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร

    ทั้งนี้ ศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นว่าคดีของจำเลยอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารกรุงเทพ เมื่อทั้งสองศาลเห็นพ้องกัน ศาลทหารกรุงเทพจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยคดีนี้อยู่ระหว่างนัดถามคำให้การจำเลย ศาลจึงอ่านคำฟ้องของโจทก์ให้จำเลยฟัง แล้วถามคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 11 กรกฎาคม 2559

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2016/04/01/phansak/)
  • จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารกรุงเทพส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปและนัดฟังคำวินิจฉัยคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559

    (อ้างอิง: คำร้องขอให้ศาลส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 174ก./2558 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2559)
  • ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องที่ ‘พ่อน้องเฌอ’ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยวินิจฉัยว่าประกาศและคำสั่งของ คสช. ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ไทยได้ขอเลี่ยงพันธกรณีระหว่างประเทศ ทำให้สามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมได้ และเนื่องจากคดีนี้อยู่ในระหว่างนัดตรวจพยานหลักฐาน หลังศาลอ่านคำสั่ง จึงให้คู่ความตรวจพยานหลักฐาน จำเลยแถลงขอเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปนัดหนึ่ง เนื่องจากยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานเอกสาร ศาลจึงให้เลื่อนการตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 2 มี.ค. 2560

    เวลา 10.05 น. น.อ.สุรชัย สลามเต๊ะ พ.อ.ศุภชัย อินทรารุณ และ พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์ ตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ออกนั่งพิจารณาคดี และอ่านความเห็นของศาลทหารกรุงเทพที่มีต่อคำร้องที่พันธ์ศักดิ์ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมาย ใจความว่า การที่ คสช. ยึดอำนาจการปกครองสำเร็จ ย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งใด ๆ รวมถึงการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของบุคคลทั่วไป

    นอกจากนี้ คสช. ยังได้ออกประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 บัญญัติให้ประกาศและคำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ได้ประกาศหรือสั่งนับตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเป็นที่สุด จึงเป็นการรับรองว่า ประกาศ คสช. ที่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

    ศาลทหารกรุงเทพยังวินิจฉัยในข้อโต้แย้งของจำเลย เรื่องที่การประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญิติ บริหาร และตุลาการ เนื่องจากศาลทหารอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมซึ่งอยู่ในฝ่ายบริหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนตุลาการศาลทหารในปัจจุบัน เป็นรองหัวหน้าและประธานที่ปรึกษา คสช. ทั้งยังขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 ในเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมด้วยว่า พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 บัญญัติอำนาจของตุลาการและความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นการแบ่งแยกอำนาจและหลักความเป็นอิสระของตุลาการในการพิจารณาคดีไว้ชัดเจน

    ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องศาลทหารไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้ขณะประกาศกฎอัยการศึก ขัดต่อประเพณีการปกครองและ พันธกรณีระหว่างประเทศ ICCPR ที่กำหนดให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่า เมื่อประเทศไทยมีหนังสือแจ้งการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และขอใช้สิทธิเลี่ยงพันธกรณีระหว่างประเทศ ICCPR บางประการไว้แล้ว

    ศาลทหารกรุงเทพจึงเห็นว่า บทบัญญัติใน พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ที่ให้ศาลทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้ผู้บัญชาการทหาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนตุลาการศาลทหาร และศาลทหารในระหว่างประกาศกฎอัยการศึกห้ามอุทธรณ์และฎีกา ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และ ICCPR อีกทั้ง รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 บัญญัติหลักเกณฑ์การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลทหาร ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่อาจส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดได้ ให้ยกคำร้องของจำเลย

    อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า โดยปกติเมื่อคู่ความขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลที่รับคำร้องดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่อยู่ในคำร้องว่าจะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ และแม้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จะไม่มีบัญญัติโดยตรงที่ระบุให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฎหมาย แต่ใน มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ระบุว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บัญญัติให้ศาลอันรวมถึงศาลทหาร มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยข้อกฎหมายได้

    ระหว่างที่ศาลอ่านคำสั่งดังกล่าว เจ้าหน้าที่ศาลทหารได้ยึดโทรศัพท์มือถือที่ปิดอยู่ และแบตเตอรี่สำรองของญาติจำเลย ซึ่งเข้าฟังการพิจารณาคดี และเปิดโทรศัพท์ของญาติจำเลยขึ้นมาตรวจสอบโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย เมื่อมีผู้โต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวถูกปิดอยู่ตลอด หากมีการเปิด-ปิดโทรศัพท์จะต้องมีเสียงดังให้ผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาได้ยิน แต่ระหว่างกระบวนพิจารณาไม่ได้มีเสียงเปิด-ปิดโทรศัพท์ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เปิดโทรศัพท์ขึ้นเอง เจ้าหน้าที่ศาลทหารจึงยอมคืนโทรศัพท์ให้แก่ญาติของจำเลย

    (อ้างอิง: คำสั่งที่ 2/2559 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 24 พ.ย. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=2950)
  • โจทก์แถลงว่า มีพยานโจทก์ที่จะนำเข้าสืบจำนวน 15 ปาก ทนายจำเลยแถลงว่า มีพยานจำเลยที่จะนำเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยจำนวน 7 ปาก คู่ความแถลงไม่ยอมรับพยานหลักฐานของคู่ความอีกฝ่าย นัดสืบพยานโจทก์ลำดับที่ 1 พันตำรวจเอกสถิตย์ สังข์ประไพ วันที่ 20 มิถุนายน 2560

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 174 ก./2558 ลงวันที่ วันที่ 2 มีนาคม 2560)
  • นัดสืบพยานนัดแรก ประมาณ 10.00 น. พล.ต.ศุภชัย อินทรารุณ พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์ และ น.อ.สุรชัย สลามเต๊ะ ตุลาการศาลทหารออกนั่งพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณาที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ อัยการทหารนำ พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ผู้กล่าวหา เข้าเบิกความ

    อัยการถาม พ.ต.อ.สถิตย์ ผู้กล่าวหา ในประเด็นเกี่ยวกับการติดตามการเคลื่อนไหวของจำเลยทางเฟซบุ๊ก พ.ต.อ.สถิตย์ เบิกความว่า มีการโพสต์เชิญชวนร่วมกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เรียกร้องให้พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร ระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค. 2558

    พยานให้การว่า ในวันที่ 14 มี.ค. 2558 พันธ์ศักดิ์เดินทางจากบ้านน้องเฌอ ซึ่งเป็นบุตรชายที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 แต่ระหว่างเดินทางถูกเชิญตัวไป สน.ปทุมวัน โดย พ.ต.อ.สถิตย์ ไม่ทราบว่าถูกดำเนินคดีหรือไม่ ก่อนวันที่ 15 มี.ค. 2558 จำเลยจะเริ่มกิจกรรมที่ “หมุดเฌอ” ซึ่งเป็นจุดที่บุตรชายของพันธ์ศักดิ์ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมปี 2553 ในซอยรางน้ำ ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ระหว่างทางมีผู้เข้ามาร่วมเดินเพิ่มอีก 6 คน ในจำนวน 6 คนนี้ หนึ่งในนั้นคือนายปรีชา (สงวนนามสกุล) ซึ่งรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 8 พันบาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี

    พ.ต.อ.สถิตย์ ให้เหตุผลในการกล่าวหาจำเลยตามข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปว่า เนื่องจากจำเลยมีข้อเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร และชื่อกลุ่มของจำเลย คือ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ มีนัยเกี่ยวกับการเมือง จึงถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 7 คน

    ส่วนข้อหายุยงยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 นั้น พยานเห็นว่า การเชิญชวนให้คนออกมาชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนฝ่าฝืนประกาศ คสช. ซึ่งถือเป็นกฎหมาย และเมื่อโพสต์เชิญชวนทางเฟซบุ๊ก จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดต่อความมั่นคงด้วย

    ทั้งนี้ ระหว่างที่อัยการถามความพยานอยู่นั้น ทนายจำเลยได้โต้แย้งว่าอัยการถามคำถามนำบ่อยครั้ง ช่วงหนึ่ง โจทก์และทนายจำเลยลุกขึ้นมาโต้เถียงกันเกี่ยวกับจำนวนผู้ที่ร่วมเดินกับจำเลยตามที่พยานเบิกความ ซึ่งทนายจำเลยเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญในคดี ศาลได้ตักเตือนอัยการไม่ให้ถามนำ และขู่ว่าจะดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล หากทนายจำเลยไม่เชื่อฟังศาล

    อย่างไรก็ตาม การสืบพยานปากนี้ยังไม่เสร็จสิ้น ทนายจำเลยจะถามค้าน พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ต่อในวันที่ 1 พ.ย. 2560 และศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากที่สอง คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ในวันที่ 2 พ.ย. 2560

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 174 ก./2558 ลงวันที่ 20 มิ.ย. 2560 และ https://www.tlhr2014.com/?p=4439)
  • การสืบพยานในนัดนี้เป็นช่วงทนายความถามค้าน พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ พยานผู้กล่าวหา ต่อจากนัดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2560

    อัยการทหารโจทก์ในคดีแถลงต่อศาลว่า พ.ต.อ.สถิตย์ ไม่สามารถมาเบิกความที่ศาลได้เนื่องจากติดราชการด่วน จึงจะขอเลื่อนนัดออกไปก่อน และจะขอยกเลิกนัดสืบพยานปาก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหาร่วมในคดี ที่จะนำเข้าสืบในวันที่ 2 พ.ย. ด้วย เนื่องจากไม่สามารถติดตามพยานมาเบิกความได้ และได้รับแจ้งจากตัวพยานว่าติดราชการด่วนเช่นกัน จึงไม่สามารถมาเบิกความในวันดังกล่าวได้

    ศาลถามทนายความว่าจะคัดค้านการเลื่อนสืบพยานหรือไม่ ทนายความแถลงว่าไม่คัดค้าน ศาลจึงให้เลื่อนการถามค้าน พ.ต.อ.สถิตย์ ออกไปเป็นวันที่ 2 ก.พ. 2561 และนัดสืบพยานโจทก์ปาก พ.อ.บุรินทร์ เป็นวันที่ 9 ก.พ. 2561

    (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=5612)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ผู้กล่าวหา ต่อจากนัดที่แล้ว เพื่อให้ทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ มาศาล ก่อนนำพยานเข้าสืบ ทนายจำเลยแถลงว่า ติดภาระกิจเร่งด่วนที่ สน.ปทุมวัน ขอเลื่อนถามค้านพยานโจทก์ปากนี้ไปในนัดหน้า โจทก์ไม่คัดค้าน และขอนำ พ.ต.อ.สถิตย์ เข้าเบิกความในนัดหน้า คือวันที่ 9 ก.พ. 61 แทน พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ที่นัดไว้เดิม ทนายจำเลยไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนนัดถามค้าน พ.ต.อ.สถิตย์ ไปเป็นวันที่ 9 ก.พ. 61

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 174 ก./2558 ลงวันที่ 2 ก.พ. 2561)
  • อัยการทหารนำพยานโจทก์ พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เข้าเบิกความต่อจากเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2560 โดยจะเป็นการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย

    พ.ต.อ.สถิตย์ ตอบคำถามของทนายจำเลย โดยอธิบายว่าการเดินของจำเลยมีการจัดเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ เพื่อป้องกันบุคคลที่สาม หากจำเลยเดินคนเดียวไม่ผิดกฎหมาย แต่หากเดินเพื่อเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ถือว่าเป็นการเดินเพื่อต่อต้าน คสช. เป็นการเดินที่ผิดกฎหมาย
    พยานไม่ขอตอบว่า เห็นด้วยกับการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องของความเห็น
    พยานไม่ขอตอบว่า การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ และไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับ คสช.
    พยานมีความเห็นว่า ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมก็มีความยุติธรรมเหมือนกัน
    พยานไม่ทราบว่า องค์คณะตุลาการจะเป็นสมาชิกของ คสช.หรือไม่
    พยานไม่ทราบว่า ตุลาการทหารจะต้องจบเนติบัณฑิตหรือไม่
    พยานไม่ทราบว่า คดีนี้จำเลยสามารถอุทธรณ์ฎีกาได้หรือไม่
    พยานไม่ทราบว่า คดีที่ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้จะขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่
    พยานทราบว่า บุตรชายของจำเลยซึ่งมีเพียงคนเดียว เสียชีวิตในขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเข้าสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ด้วยเหตุผลดังกล่าว พยานไม่เห็นใจและไม่เข้าใจเหตุผลที่จำเลยไม่ต้องการมาขึ้นศาลทหาร และเห็นว่าหากเป็นคดีอาญาทั่วไปควรนำไปพิจารณาที่ศาลยุติธรรม ส่วนคดีการเมืองควรนำมาพิจารณาที่ศาลทหาร เนื่องจากระบบทหารพิจารณารวดเร็วกว่าและในกรณีที่บ้านเมืองไม่ปกติ และต้องการความสงบโดยเร็ว หากพิจารณาคดีล่าช้าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีก
    พยานไม่ทราบว่า คดีบางคดีจำเลยถูกควบคุมตัวเป็นเวลาสองปีเศษแล้วยังพิจารณาไม่เสร็จ
    พยานไม่ทราบว่า คดีการชุมนุมทางการเมืองจะปรากฏเฉพาะในศาลยุติธรรมโดยไม่ปรากฏในศาลทหารมาก่อน
    พยานไม่ทราบว่า ศาลทหารถูกออกแบบมาให้พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับวินัยทหารและเฉพาะทหารที่ทำความผิด
    พยานไม่เห็นว่า การนำจำเลยที่มีทัศนคติต่อทหารมาพิจารณาคดี โดยมีทหารเป็นผู้กล่าวหา สั่งฟ้องคดี และพิพากษา ขัดต่อหลักการยุติธรรม
    พยานเห็นว่า กรณีกลุ่มคนที่มาสนับสนุนและมอบดอกไม้ให้แก่ พลเอกประยุทธ์ เกินกว่า 5 คน ไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง
    พยานเห็นว่า จุดที่นายปรีชามอบดอกไม้ให้แก่นายพันธ์ศักดิ์ มีบุคคลรวมตัวกันเกิน 7 คน จึงผิดกฎหมาย
    พฤติการณ์ของผู้ที่มามอบดอกไม้จะเป็นการให้กำลังใจหรือไม่พยานไม่ทราบ แต่ได้เดินตามจำเลย
    พยานไม่ขอตอบว่า เห็นด้วยกับทัศนคติของจำเลยในการต่อต้านรัฐประหารหรือไม่

    พ.ต.อ.สถิตย์ ตอบคำถามค้านทนายจำเลยจนเสร็จ นัดหน้าโจทก์จะนำพยานโจทก์ปาก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เข้าเบิกความ ในวันที่ 4 พ.ค. 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณาและคำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 174 ก./2558 ลงวันที่ 9 ก.พ. 2561)
  • การสืบพยานในนัดนี้ อัยการทหารนำ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของ คสช. ผู้กล่าวหาร่วมในคดีนี้ เข้าเบิกความ

    ก่อนเริ่มการสืบพยาน พ.อ.บุรินทร์ ได้นำภาพที่บันทึกจากหน้าจอเฟซบุ๊กของนายอานนท์ นำภา ทนายความในคดี มาแถลงต่อศาลทหาร โดยเป็นภาพและข้อความที่โพสต์แจ้งรายละเอียดเรื่องการนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ พร้อมระบุว่าโพสต์ของทนายมีลักษณะเป็นการเชิญชวนให้มากดดันการเบิกความของพยาน จึงขอให้ศาลทหารตักเตือนทนาย นายอานนท์แถลงต่อศาลว่าโพสต์ดังกล่าวมิได้มีเจตนาให้มีการกดดันพยานแต่อย่างใด แต่เป็นการโพสต์แจ้งให้ประชาชนได้มาฟังคำเบิกความ

    ศาลทหารได้พิจารณาเห็นว่าเพื่อการดำเนินคดีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพยานที่มาเบิกความ จึงขอให้ทนายจำเลยไม่กระทำในลักษณะนั้นอีก โดยศาลทหารยังสั่งไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกในวันนี้ด้วย

    จากนั้น พ.อ.บุรินทร์ ได้เบิกความโดยระบุว่า พยานได้รับคำสั่งจากหัวหน้า คสช. ให้ตรวจสอบข้อมูลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวทั้งของทหารและสันติบาล เกี่ยวกับการโพสต์ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่มีการทำกิจกรรมเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค. 2558 เป็นลักษณะการกำหนดเวลาและสถานที่เดินไปในจุดต่าง ๆ โดยพยานเห็นว่า โพสต์ดังกล่าวของกลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นการจุดกระแสให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมเกินกว่า 5 คน และให้มาทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล อันจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและการทำงานของรัฐบาล

    พ.อ.บุรินทร์ระบุว่า ได้ทราบจากสายข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และกลุ่มมวลชนติดตามกิจกรรม โดยทราบว่าจำเลยเริ่มเดินเพียงลำพัง ต่อมา มีมวลชนนำดอกไม้มาให้กำลังใจในจุดต่าง ๆ และเมื่อเดินถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดกิจกรรมเสวนาขึ้น โดยทราบจากฝ่ายข่าวว่ามีผู้มาร่วมกิจกรรมประมาณ 20-30 คน และฝ่ายข่าวได้มีการถ่ายภาพกิจกรรมเอาไว้เป็นหลักฐาน

    พยานเห็นว่าการที่จำเลยและมีมวลชนเดินจากจุดเริ่มต้นมาถึงธรรมศาสตร์ เพื่อคัดค้านรัฐบาลและเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร มีลักษณะเป็นการต่อต้านการทำงานของรัฐบาล ผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งให้พยานไปแจ้งความดำเนินคดีจำเลยในทั้งสามข้อหา

    จากนั้น ทนายจำเลยได้ถามค้านพยาน โดย พ.อ.บุรินทร์ ระบุว่า ตนไม่ได้ไปร่วมเดินในกิจกรรมนี้ด้วย แต่ทราบจากฝ่ายข่าวความมั่นคง ที่พยานโจทก์ปากก่อนหน้านี้เบิกความว่า เห็นพยานร่วมด้วยนั้น น่าจะเป็นความคลาดเคลื่อน

    พ.อ.บุรินทร์ ระบุว่า คสช. และตนเริ่มติดตามกลุ่มพลเมืองโต้กลับหลังจากทำกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” โดยคำสั่งให้ไปแจ้งความดำเนินคดีของผู้บังคับบัญชาเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย พยานจึงไปดำเนินการตามคำสั่ง โดยพยานเป็นทั้งผู้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยในกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” และในคดีนี้

    พ.อ.บุรินทร์ยังระบุว่า ตนเป็นผู้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยในเหตุการณ์ชุมนุมที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 ก.พ. 61 โดยเมื่อทราบว่าข้อมูลผิดพลาด เนื่องจากจำเลยไม่ได้ไปชุมนุม จึงได้รับมอบหมายให้ไปถอนแจ้งความแล้ว ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งแต่อย่างใด และไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

    สำหรับข้อความ “เมื่อความยุติธรรมไม่มา ก็เดินไปหามัน” พยานเห็นว่าเป็นข้อความที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นพยาน ก็จะหาช่องทางดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ไปทำกิจกรรมลักษณะนี้

    เมื่อทนายจำเลยถามค้านไปถึงช่วงเที่ยงวันแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ได้แถลงว่ายังมีคำถามต้องถามพยานอีกมาก ทำให้ศาลทหารและคู่ความได้ตกลงเลื่อนการถามค้านพยานโจทก์ออกไปเป็นวันที่ 13 ก.ค. 2561

    (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=7116)
  • การสืบพยานวันนี้เป็นการถามค้านพยานของทนายความจำเลยต่อจากนัดที่แล้วเมื่อ 4 พ.ค. 2561 ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ศาลได้สั่งห้ามผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาจดบันทึกคำเบิกความและกระบวนพิจารณาคดีของศาล

    พ.อ.บุรินทร์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า เหตุที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับพันธ์ศักดิ์ เพราะได้รับคำสั่งจาก พล.ต.สมโภช วังแก้ว ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ผู้บังคับบัญชา ให้ดำเนินการ

    ทนายจำเลยถามว่า คสช.ออกประกาศ ฉบับที่ 7/2557 โดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึกใช่หรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่า ไม่ใช่ คสช.ออกประกาศดังกล่าวในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น ทนายจึงได้ถามต่อว่าแล้วถ้าเช่นนั้น คสช. มีสถานะอำนาจมากกว่าพระมหากษัตริย์หรือไม่ และในขณะนั้นพระมหากษัตริย์จะเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พยานขอไม่ตอบทั้ง 2 คำถาม แต่ คสช.ยังเทิดทูนพระมหากษัตริย์

    ทั้งนี้ พ.อ.บุรินทร์ ตอบประเด็นสถานะรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ของทนายอานนท์ว่า ไม่ได้มีผู้ใดเป็นคนแต่งตั้งให้เป็นและไม่ได้มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติเอาไว้ แต่เป็นไปตามหลักสากลทั่วโลกเมื่อมีการยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ตนไม่ทราบว่าหลังการรัฐประหารประเทศต่าง ๆ ได้ให้การยอมรับการยึดอำนาจของ คสช.ในประเทศไทยหรือไม่

    หลังทนายอานนท์ถามในประเด็นเกี่ยวกับสถานะความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. พ.อ.บุรินทร์ได้กล่าวกับทนายความว่า ให้ “ระวัง” ในการถามคำถามด้วย

    พยานทราบว่าหลัง คสช.ทำรัฐประหารมีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นักศึกษา นักวิชาการ และนักการเมืองบางกลุ่มออกมาคัดค้านอยู่ แต่ไม่ทราบว่ามีกลุ่มอื่น ๆ อีกหรือไม่ โดยกลุ่มที่ออกมาคัดค้านมีการจัดชุมนุม เช่น ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น

    ทนายอานนท์ถาม พ.อ.บุรินทร์ ว่า ณ วันที่ คสช.ออกประกาศ ฉบับที่ 7/2557 พระมหากษัตริย์ได้ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. แล้วหรือยัง พยานตอบว่า ยังไม่ได้แต่งตั้ง

    พยานทราบว่า ที่พันธ์ศักดิ์ทำกิจกรรมที่เป็นเหตุของคดีนี้ก็เพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากการที่ตนเองถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 และเพราะพันธ์ศักดิ์คัดค้านการนำพลเรือนมาพิจารณาคดีในศาลทหาร

    ทนายอานนท์ถาม พ.อ.บุรินทร์ ในประเด็นที่พันธ์ศักดิ์ถูกกล่าวหาด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญาว่า พยานทราบหรือไม่ว่าในมาตราดังกล่าวมีการกระทำที่ยกเว้นไม่เป็นความผิดอยู่ พยานตอบว่า ไม่มั่นใจ ทนายจำเลยจึงเอาข้อกฎหมายให้พยานดู พยานตอบว่า มีในบทบัญญัติของมาตรานี้ระบุว่า “…ไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต…” คือต้องเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงจะไม่เป็นความผิด

    ทนายอานนท์ถามต่อในประเด็นที่พันธ์ศักดิ์โพสต์เฟซบุ๊กถึงกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ของตนว่า ห้ามมาร่วมเกิน 4 คน ไม่อย่างนั้นจะผิดกฎหมาย พ.อ.บุรินทร์ เห็นตรงกับคณะทำงานที่พิจารณาให้มาดำเนินคดีว่า ข้อความดังกล่าวของพันธ์ศักดิ์เป็นเพียงการหลีกเลี่ยงไม่เกิดการกระทำความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เท่านั้น แต่เมื่อดูเจตนาของพันธ์ศักดิ์ต้องการให้มีคนมาร่วมชุมนุมมากกว่า 5 คน ซึ่งสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ข้อความแต่อยู่ที่เจตนา แต่ตอนพยานให้การกับพนักงานสอบสวนไม่ได้ให้การในประเด็นนี้ไว้

    ทั้งนี้ พ.อ.บุรินทร์ตอบทนายอานนท์ด้วยว่า เขาไม่ได้สนิทกับจำเลยขนาดที่จะรู้เจตนาของจำเลย อีกทั้งไม่ได้เป็นเฟรนด์กันในเฟซบุ๊ก และไม่เคยอ่านงานเขียนของพันธ์ศักดิ์มาก่อน อีกทั้งการเดินของพยานและผู้มาให้กำลังใจก็ไม่ได้ทำให้การบริหารงานของรัฐบาลสิ้นสุดลง

    ทนายอานนท์จึงถามต่อในประเด็นนี้อีกว่า ถ้าเป็นการแสดงออกโดยสันติสามารถทำได้หรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ ตอบว่า ถ้าไม่ละเมิดกฎหมายก็ทำได้ ทั้งนี้กิจกรรมเดินเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ไม่เป็นการใช้ความรุนแรงแต่ก็เป็นการปลุกกระแสให้ประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วยมาร่วม และต่อต้านการบริหารของ คสช. ซึ่งการคัดค้านก็ทำได้ถ้าไม่ละเมิดกฎหมาย ทนายจึงได้ถามเปรียบเทียบกับคนที่ไปร่วมฟังปราศรัยของ พล.อ.ประยุทธ์ และมอบดอกไม้ให้เป็นกำลังใจถือเป็นความผิดตามประกาศ คสช.หรือไม่ พยานตอบว่าขึ้นอยู่กับเจตนาของคนที่มาร่วม

    ทนายอานนท์ถาม พ.อ.บุรินทร์ ว่า การทำรัฐประหารของ คสช. เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามมาตรา 113 ในประมวลกฎหมายอาญาใช่หรือไม่ และภายหลัง คสช. ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็มีมาตราที่นิรโทษกรรมให้กับการทำรัฐประหารของ คสช. เองด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ทั้ง 2 คำถาม

    ทนายจำเลยถามอีกว่า หลังการรัฐประหาร คสช.ได้ออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนในบางความผิดเป็นการจำกัดสิทธิหรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ การให้ขึ้นศาลทหารเป็นการจำกัดสิทธิเพราะว่ามีศาลชั้นเดียว (คดีในศาลทหารในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้)

    ทนายอานนท์จึงถามว่า เหตุผลข้างต้นนี้จะเพียงพอให้พันธ์ศักดิ์ออกมาคัดค้านหรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่า เป็นความคิดเห็นของจำเลย พยานตอบแทนจำเลยไม่ได้ พยานเพียงแต่นำความเห็นของคณะทำงานที่พิจารณาให้ดำเนินคดีกับจำเลยมาดำเนินการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ทั้งนี้ พยานเห็นด้วยกับการใช้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงนั้นประเทศต้องการให้เกิดความสงบ แม้ว่าศาลยุติธรรมจะสามารถพิจารณาคดีได้ แต่ก็ล่าช้า ซึ่งศาลทหารพิจารณาคดีเร็วกว่าในบางคดี

    ทนายอานนท์ได้ถาม พ.อ.บุรินทร์ ว่า ทราบหรือไม่ว่า คดีในศาลพลเรือนมีการนัดต่อเนื่อง แต่ศาลทหารนัดไม่ต่อเนื่อง พยานตอบว่า ไม่ทราบ และเป็นความคิดเห็นของจำเลย ทนายจำเลยจึงได้ถามย้ำในคำถามเดิม แต่ พ.อ.บุรินทร์ ตอบโต้คำถามของทนายจำเลยด้วยการตะคอกถึง 2 ครั้ง และมีการตบลงไปบนคอกพยาน ว่า ได้ตอบคำถามไปแล้ว จะถามซ้ำทำไมอีก ทั้งนี้ ศาลได้เตือนทนายความว่าการพิจารณาคดีของศาลทหารที่ไม่สามารถนัดต่อเนื่องได้เพราะว่ามีคดีอื่น ๆ ที่เป็นของทหารด้วย อีกทั้งก็เป็นปัญหาระหว่างคู่ความด้วยที่ไม่นัดต่อเนื่อง

    แต่ทนายอานนท์ได้พยายามอธิบายว่า คำถามดังกล่าวเป็นเพียงข้อเท็จจริงเท่านั้น และได้ขอให้ศาลพักการพิจารณาคดีเป็นเวลา 5 นาที เพื่อให้พยานสงบใจลง หรือให้นัดถามต่อในนัดหน้า เพราะว่าพยานแสดงอาการโมโหอย่างชัดเจน ทำให้ไม่สามารถถามคำถามให้พยานตอบต่อได้ ทั้งนี้ พ.อ.บุรินทร์ ยืนยันว่า จะให้ถามความเสร็จสิ้นในครั้งนี้ เพราะตนก็มีภารกิจอย่างอื่นอีก การพิจารณาคดีจึงดำเนินต่อไป

    ทนายอานนท์ได้ถามในประเด็นเดิมอีกครั้ง ครั้งนี้ พ.อ.บุรินทร์ ตอบว่า พยานทราบว่า ศาลพลเรือนมีการนัดสืบพยานต่อเนื่องทุกวัน แต่จะพิจารณาเสร็จในเดือนเดียวหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่บางคดีในศาลทหารนัดพิจารณาเดือนละครั้ง บางคดีก็ต่อเนื่องกันทุกวัน แต่ไม่เสร็จภายในเดือนเดียว

    พ.อ.บุรินทร์ ตอบคำถามทนายอานนท์ต่ออีกว่า ในศาลทหารใช้ตำแหน่งข้าราชการในการประกันตัวบุคคลไม่ได้ และศาลทหารก็อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม

    ทนายอานนท์จึงถามว่า ถ้าพันธ์ศักดิ์ได้ทำการคัดค้านการรัฐประหาร จะกังวลที่คดีของตนต้องถูกพิจารณาในศาลทหาร พ.อ.บุรินทร์ ตอบว่า ไม่ทราบ ทนายถามต่อว่า คดีของจำเลยเกิดขึ้นในช่วงที่ คสช.ประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้จำเลยอุทธรณ์ ฎีกาไม่ได้ จำเลยจึงต้องคัดค้านเรื่องนี้สามารถรับฟังได้หรือไม่ พยานตอบว่า น่าจะพอรับฟังได้

    คำถามสุดทายของทนายอานนท์ได้ถามว่า กิจกรรมนี้มีการปราศรัยหรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ ตอบว่า ตลอดการเดินไม่มีการปราศรัยจนเดินถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่จะมีการเสวนาในมหาวิทยาลัยหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    พ.อ.บุรินทร์ ได้ตอบคำถามติงของอัยการทหารซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ว่า ตนเข้าใจว่าข้อความในโพสต์เป็นการปลุกกระแส เนื่องจากก่อนเกิดเหตุในคดีเคยมีพฤติการณ์ต่อต้าน คสช. มาก่อนแล้ว และที่ตนมาแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้เพราะการเดินของจำเลยมีนัยยะทางการเมืองอยู่

    หลังการสืบพยานปากนี้เสร็จ ศาลได้นัดสืบพยานครั้งต่อไปในวันที่ 14 ก.ย., 29 ต.ค. และ 12 พ.ย. 2561

    (อ้างอิง: http://www.tlhr2014.com/th/?p=8215)
  • พยานโจทก์ที่อัยการทหารนัดมาครั้งนี้เป็นอดีตรองผู้กำกับสืบสวน สน.ชนะสงคราม พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2558 ตนได้รับแจ้งเหตุจาก พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ว่า พันธ์ศักดิ์ นัดทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน เมื่อความยุติธรรมไม่มา เราจะเดินไปหามัน” ในวันที่ 15 มี.ค. 2558 โดยมีการโพสต์ชักชวนคนมาร่วมในเฟซบุ๊ก เพื่อให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายของ คสช.มาร่วมเดินขบวน

    พยานเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมทางการเมือง เพราะเป็นการต่อต้านซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม

    ในวันที่ 15 มี.ค. 58 พยานได้วางกำลังตำรวจไปอยู่ที่บริเวณหน้าโชว์รูมเบนซ์ ธนบุรี โดยมี พ.ต.ท.ปิติพันธ์ กฤดากร ณ อยุธยา รองสารวัตรสืบสวน สน.ชนะสงคราม ส่วนตัวพยานเองนำกำลังอีกส่วนไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

    ในตอนเช้า พยานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวว่า นายพันธ์ศักดิ์มีกิจกรรมการวางดอกไม้บริเวณถนนรางน้ำตรงจุดที่ฝังหมุดเพื่อรำลึกถึงสมาพันธ์ ศรีเทพ ลูกชายของพันธ์ศักดิ์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม นปช. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 และจะเดินไปที่ มธ.ท่าพระจันทร์ โดยใช้เส้นทางที่ผ่านสัญลักษณ์ทางการเมืองต่าง ๆ เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

    พยานเบิกความต่อว่า กิจกรรมดังกล่าวมีผู้ที่ร่วมเดินทั้งหมด 7 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนนครบาล 1 ทหาร และหน่วยข่าวกรอง เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ติดตามสังเกตการณ์กิจกรรมของพันธ์ศักดิ์ และยังมีสื่อต่าง ๆ คอยติดตามทำข่าวด้วย

    อัยการได้ถามพยานว่า ทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ และใครเป็นผู้ชุมนุม พยานตอบว่าระหว่างที่นายพันธ์ศักดิ์เดิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวได้ถ่ายภาพตลอดการเดิน ทำให้สามารถแยกได้ว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่ ใครเป็นผู้ชุมนุม

    พยานเบิกความต่อว่า เมื่อนายพันธ์ศักดิ์กำลังจะเดินถึงธรรมศาสตร์ พยานได้ไปดักรอที่ประตูของมหาวิทยาลัย เพื่อเชิญนายพันธ์ศักดิ์ไปคุยกับผู้ช่วยอธิการบดี แต่พยานจำชื่อผู้ช่วยอธิการฯ ไม่ได้แล้ว เพื่อให้นายพันธ์ศักดิ์ไปชี้แจงถึงจุดประสงค์ของกิจกรรม เพราะนายพันธ์ศักดิ์ไม่ได้แจ้งกับทางมหาวิทยาลัยเอาไว้ก่อน พยานได้เชิญตัวนายพันธ์ศักดิ์ไปที่ห้องประชุมใต้ตึกโดม

    ในห้องประชุมมีตัวพยาน นายพันธ์ศักดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดี และฝ่ายสถานที่ของมหาวิทยาลัย การพูดคุยได้มีการแจ้งกับนายพันธ์ศักดิ์ว่า ทางมหาวิทยาลัยให้ใช้สถานที่ไม่ได้ เพราะนายพันธ์ศักดิ์เป็นคนนอกมหาวิทยาลัย หากจะใช้สถานที่ต้องทำหนังสือแจ้งขอใช้สถานที่ก่อน ส่วนพยานได้บอกกับพันธ์ศักดิ์ว่า การชุมนุมทางการเมืองจะเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 อีกทั้งนายพันธ์ศักดิ์ยังได้โพสต์ในเฟซบุ๊กด้วยว่า จะค้างที่มหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยจึงได้แจ้งว่าไม่สามารถให้ค้างคืนในพื้นที่มหาวิทยาลัยได้

    พยานเบิกความอีกว่า นายพันธ์ศักดิ์ได้บอกกับพยานว่าจะไม่ทำกิจกรรมแล้ว แต่จะขอพักผ่อนที่ลานปรีดีและพูดคุยกับเพื่อนที่มาด้วยกันแทน และจะไม่ค้างที่มหาวิทยาลัย รวมถึงจะไม่ใช้เครื่องขยายเสียงด้วย เมื่อเสร็จแล้วก็จะแยกย้ายกันกลับ

    หลังจากพูดคุยเสร็จแล้ว นายพันธ์ศักดิ์ได้เดินออกไปที่ลานปรีดี โดยมีมวลชนที่มาให้กำลังใจราว 20 คน ไปนั่งจับกลุ่ม ๆ ละ 5-10 คน พูดคุยกันอยู่ในลาน บางคนนำเข็มกลัดที่มีโลโก้ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับมาขายชิ้นละ 15-20 บาท แต่พยานไม่ทราบว่าพวกเขาคุยอะไรกัน

    ในระหว่างที่นายพันธ์ศักดิ์และมวลชนกำลังนั่งพูดคุยกันได้มีเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพนิ่งและส่งข้อมูลให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยตลอด จนถึงเวลา 19.00 น. จึงแยกย้ายกันกลับ

    พ.ต.ท.สมยศ เบิกความต่อว่า ในวันที่ 16 มี.ค. 58 ได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันกับสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ต่าง ๆ ที่นายพันธ์ศักดิ์เดิน เพื่อรวบรวมข้อมูลการทำกิจกรรมของเขา และทำรายงานให้กับผู้บังคับบัญชาทราบ ส่วนพยานเองได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนในครั้งนี้ด้วย พยานจึงได้ทำรายงานเหตุความมั่นคงให้กับผู้บังคับบัญชาทราบ

    หลังอัยการทหารถามพยานเสร็จสิ้น ทนายจำเลยได้แถลงขอเลื่อนนัดถามค้านพยานปากนี้ออกไปก่อน และขอให้ศาลเรียกหลักฐานที่เป็นบันทึกคำให้การพยานปากนี้ในชั้นสอบสวนมาใช้ประกอบการถามค้าน เนื่องจากอัยการไม่ได้นำบันทึกคำให้การพยานมาส่งต่อศาล แต่มีการนำพยานปากนี้เข้ามาสืบในชั้นศาล อัยการแถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนการถามค้านออกไปเป็นวันที่ 29 ต.ค. 2561 และให้ทนายจำเลยทำคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกหลักฐานดังกล่าวมา

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=9546)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.อ. สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ต่อจากนัดที่แล้ว โจทก์ต้องนำพยานมาให้ทนายจำเลยถามค้าน แต่พยานไม่มาศาล จึงให้เลื่อนสืบพยานโจทก์ออกไปนัดหน้าที่นัดไว้อยู่เดิมแล้ว คือ วันที่ 12 พ.ย. 2561
  • นัดถามค้านพยานโจทก์ปาก พันตำรวจเอกสมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ต่อจากนัดสืบพยานครั้งก่อนเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2561

    พยานเบิกความตอบคำถามทนายจำเลยสรุปได้ว่า การเดินรณรงค์เพื่อให้คดีพลเรือนไม่ถูกนำมาพิจารณาในศาลทหารสามารถทำได้ ถ้ามีการรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

    พ.ต.ท.สมยศ เบิกความต่อว่าในวันเกิดเหตุ ตนเองประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ส่วน พ.ต.ท.ปิติพันธ์ กฤดากร ณ อยุธยา รองสารวัตรสืบสวน สน.ชนะสงคราม จะอยู่ช่วงรอยต่อระหว่างพื้นที่รับผิดชอบ ตัวพยานเองจะได้รับแจ้งสถานการณ์ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์

    ก่อนหน้าจะถึงวันเกิดเหตุ พยานได้เห็นโพสต์ของนายพันธ์ศักดิ์ พยานมีความเห็นต่อโพสต์ดังกล่าวว่า มีความขัดแย้งในตัวเอง เนื่องจากเป็นการโพสต์ให้คนมาร่วมให้กำลังใจ แต่ไม่เกินครั้งละ 5 คน แต่หากไม่โพสต์เลย ก็จะไม่มีคนมาร่วม แต่ถ้าอ่านตามตัวหนังสือในโพสต์ดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ได้มีลักษณะชักชวนคนให้มาก่อความวุ่นวาย

    ทนายจำเลยจึงได้ถามต่อว่า ในวันเกิดเหตุก็ไม่ได้เกิดความวุ่นวายขึ้น และกิจกรรมก็เป็นไปโดยสงบทั้งตอนเดินและตอนจำเลยอยู่ในธรรมศาสตร์แล้วใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมยศ ตอบว่า ใช่ แต่พยานก็ไม่ทราบว่า จำเลยและคนที่มาให้กำลังใจพูดคุยอะไรกันระหว่างนั่งพักในธรรมศาสตร์ เพราะไม่ได้ยินและผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่ได้รายงาน นอกจากนั้น หลังการชุมนุมเสร็จสิ้น รัฐบาลก็ยังสามารถบริหารงานได้ตามปกติ

    พ.ต.ท.สมยศ เบิกความต่อว่า เขาทราบว่าจำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ทนายจำเลยได้ถามต่อว่า การแสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มหรือการติดเข็มกลัดที่มีสัญลักษณ์ของกลุ่ม ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ผิด

    พ.ต.ท.สมยศ เบิกความว่า ขณะที่พยานอยู่ในธรรมศาสตร์ จำเลยเดินเข้ามาในมหาวิทยาลัยเหมือนประชาชนทั่วไป และจำเลยก็ได้บอกกับพยานว่า เข้ามาเพื่อพักผ่อน และคนที่มาที่ธรรมศาสตร์ก็มาในลักษณะให้กำลังใจจำเลย แต่พยานจำไม่ได้ว่าหลังจากพวกของจำเลยแยกย้ายกันกลับในเวลา 19.00 น. แล้วได้ไปกินลาบกันต่อหรือไม่

    หลังทนายจำเลยถามค้านเสร็จ อัยการทหารได้ถามติงว่า พยานมีความเห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ต้องการให้มีคนมาร่วมชุมนุมเกิน 5 คน จริงตามที่ได้โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กหรือไม่ พยานตอบว่า ตนเห็นว่าจำเลยต้องการให้คนที่เห็นด้วยกับจำเลยมาร่วมให้กำลังใจตามเส้นทางที่เดิน แต่ก็มีคนมาร่วมเดินด้วย แต่ถ้าจำเลยไม่ต้องการให้มีคนมาร่วมเกิน 5 คนจริง ก็ต้องเตือนและห้ามปรามคนที่มาร่วม แต่ก็ยังมีคนมาร่วมเดินเกิน 5 คน จึงกลายเป็นว่ามีการชุมนุมเกินกว่า 5 คน

    พ.ต.ท.สมยศ เบิกความต่อว่า ถ้าดูตามโพสต์เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 58 แล้วจะมีการตั้งเวทีปราศรัย แต่ในวันที่ 15 เมื่อจำเลยเดินมาถึงธรรมศาสตร์แล้ว พยานได้ชี้แจงกับจำเลยว่ าถ้าจะใช้สถานที่ทำกิจกรรมจะต้องแจ้งกับทางมหาวิทยาลัยก่อน แต่จำเลยได้บอกกับเขาว่า ต้องการเข้ามานั่งพักผ่อนเท่านั้น ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาที่ลานปรีดี พนมยงค์ ที่อยู่ริมแม่น้ำได้อยู่แล้ว แต่ต้องออกจากมหาวิทยาลัยก่อนประตูปิดในเวลาสี่ทุ่ม และไม่สามารถให้ค้างได้ จำเลยจึงมาใช้สิทธินี้เท่านั้น

    พ.ต.ท.สมยศ เห็นว่า ตอนที่จำเลยเดินนั้น ชัดเจนว่าเป็นกิจกรรมทางการเมือง และมีคนมาร่วมเดิน 7 คน เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการออกหมายจับ แต่ในช่วงที่จำเลยอยู่ในธรรมศาสตร์ ตนเห็นว่ายังไม่ชัดเจนว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง จึงไม่ได้ดำเนินคดีกับคนที่มาร่วม

    หลังการสืบพยานปากนี้เสร็จสิ้น ศาลทหารได้นัดสืบพยานต่อไปในวันที่ 25 ก.พ., 5 และ 19 มี.ค., 2 เม.ย. 2562

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=9546)
  • การพิจารณาครั้งนี้ ศาลทหารได้มีคำสั่งจำหน่ายข้อหาตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดลักษณะเดียวกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ถูกยกเลิกความผิดไปแล้วตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติภายหลังระบุให้การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ผู้ที่กระทำดังกล่าวจึงพ้นจากความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2

    ทั้งนี้ ศาลจะยังคงพิจารณาคดีในส่วนความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ต่อ ส่วนการสืบพยานในวันนี้ยกเลิกไปเนื่องจากพยานติดอบรมไม่มาศาล ศาลจึงให้เลื่อนสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 5 มี.ค. 2562

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=11098)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานตำรวจปาก ร.ต.อ.ปภาณ สีหาอาจ อดีตรองสารวัตรป้องกันปราบปราม และรองสารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง พยานเบิกความตอบคำถามอัยการทหารซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2558 ก่อนวันเกิดเหตุเขาได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาที่ได้รับแจ้งมาจาก พ.ต.ท.สถิตย์ สังข์ประไพ ผู้กำกับสืบสวนนครบาล 1 อีกทีว่า กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้โพสต์เฟซบุ๊กชักชวนคนมาร่วมชุมนุมทางการเมืองในระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค. 2558 เพื่อเรียกร้องไม่ให้พลเรือนต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร และกิจกรรมดังกล่าวจะเดินผ่านพื้นที่รับผิดชอบของ สน.นางเลิ้ง ซึ่งกลุ่มพลเมืองโต้กลับมีนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ เป็นสมาชิกอยู่ด้วย

    พยานเบิกความตอบอัยการว่าการโพสต์ของจำเลยเพื่อชวนคนมาคัดค้านการนำพลเรือนมาขึ้นศาลทหารเป็นการต่อต้านอำนาจของรัฐบาล

    ร.ต.อ.ปภาณ เบิกความถึงวันเกิดเหตุว่า วันที่ 15 มี.ค. 2558 ประมาณ 10.00 น. ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ได้สั่งให้พยานไปรอสังเกตการณ์ที่บริเวณแยกสวนมิสกวัน และแจ้งว่าจำเลยจะผ่านมาซอยรางน้ำ เขตพญาไท ถนนศรีอยุธยา แล้วผ่านมาทางแยกสวนมิสกวันซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.นางเลิ้ง โดยมีการแจ้งสถานการณ์กันผ่านทางกลุ่มคุยในไลน์

    ร.ต.อ.ปภาณ ได้พบกับจำเลยและพวกรวม 5 คน มาพร้อมกับนักข่าวและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ติดตามสังเกตการณ์อยู่ พยานทราบได้ว่า ใครเป็นนักข่าวและเจ้าหน้าที่ เพราะจะมีป้ายห้อยคอบอกสังกัด และจะมีการถ่ายภาพและเขียนรายงานส่ง ทั้งยังเดินเว้นระยะกับผู้มาชุมนุม ซึ่งต่างกับคนที่มาเข้าร่วมซึ่งระหว่างเดินก็จะมีการโบกมือไปด้วย

    ร.ต.อ.ปภาณ เบิกความต่อว่า จากนั้นกลุ่มของจำเลยได้เดินผ่านแยกมิสกวันไปทางสะพานมัฆวาน และไปแวะพักที่ร้านไก่ย่างผลเจริญ พร้อมกับบุคคลอื่น ๆ รวม 8 คน ซึ่งระหว่างที่จำเลยและพวกนั่งรับประทานอาหารอยู่นั้น พยานนั่งรออยู่ข้างนอก แต่เห็นข้างในร้านเพราะสามารถมองผ่านกระจกเข้าไปในร้านได้ และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบางนายถ่ายภาพส่งทางไลน์ว่ามีใครอยู่ในร้านบ้าง

    จากนั้นเวลาประมาณ 12.00 น. พวกของจำเลยรับประทานอาหารเสร็จ กลุ่มของจำเลยทั้ง 5 คน จึงออกจากร้านและเดินไปทางแยก จปร. พยานได้ตามสังเกตการณ์ไปจนถึงแยกผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ของ สน.สำราญราษฎร์ พยานได้รายงานและส่งภาพถึงผู้บังคับบัญชา จากนั้นตำรวจจาก สน.สำราญราษฎร์และนครบาล 1 ที่มีพื้นที่รับผิดชอบหลายโรงพักได้ติดตามสังเกตการณ์กลุ่มของจำเลยต่อ

    ภายหลังพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ก็ได้เรียก พยานไปสอบปากคำในฐานะพยาน

    ร.ต.อ.ปภาณ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบว่าพันธ์ศักดิ์มีข้อเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร และพยานยังทราบด้วยว่าเจตนารมณ์ในการตั้งศาลทหารก็เพื่อพิจารณาคดีของทหาร

    ทนายจำเลยได้ถาม ร.ต.อ.ปภาณ ว่า การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นพลเรือน จึงมีสิทธิที่จะรณรงค์เรื่องดังกล่าวได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

    ทนายจำเลยถามต่อว่า ตามที่ พ.ต.อ.สถิตย์ แจ้งว่า จำเลยมีการโพสต์เชิญชวนคนเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2558 ตัวพยานไม่ได้เห็นโพสต์ดังกล่าวเองใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณ เบิกความตอบว่า ไม่เห็น ทนายจำเลยจึงถามพยานต่อว่า ดังนั้นก็ไม่ทราบเจตนาของจำเลยที่ไม่ต้องการทำผิดกฎหมายด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ

    ร.ต.อ.ปภาณ เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยในประเด็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ในวันเกิดเหตุ สถานการณ์เรียบร้อยไม่มีความวุ่นวาย จำเลยไม่ได้มีการปราศรัย และในวันนั้นรัฐบาลก็ยังสามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้

    ทนายจำเลยถามถึงรายละเอียดในบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของพยาน ซึ่งไม่มีคำให้การเกี่ยวกับรายละเอียดของบุคคลอื่น ๆ ที่มาร่วมเดินเหมือนที่เบิกความตอบคำถามอัยการไปนั้น พยานไม่เคยให้การรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ในชั้นสอบสวนมาก่อนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เคย

    เมื่ออัยการทหารถามติง จึงได้ถาม ร.ต.อ.ปภาณ ว่า แต่คำเบิกความในรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่มาร่วมเดินกับจำเลยนั้นพยานยังยืนยันตามที่ได้เบิกความต่อศาลใช่หรือไม่ พยานตอบว่ายืนยันตามคำเบิกความ

    หลังการสืบพยานปากนี้เสร็จ อัยการทหารได้แถลงว่าหมดพยานที่จะนำเข้าสืบในวันนี้ และได้ขอศาลสืบพยานปากถัดไปในวันที่ 19 มี.ค. 2562 (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=11223)
  • อัยการทหารแจ้งว่าพยานตำรวจที่จะมาในวันนี้ติดราชการไม่มาศาล ศาลให้เลื่อนสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 2 เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันนัดที่มีอยู่เดิม

    ทั้งนี้ คดีนี้อัยการทหารฟ้องพันธ์ศักดิ์ต่อศาลทหารตั้งแต่ 19 ก.ค. 2558 และเริ่มสืบพยานตั้งแต่ 20 ก.ค. 2560 แต่สืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 4 ปาก จากที่มีพยานโจทก์ทั้งหมด 15 ปาก และพยานจำเลยอีก 7 ปาก

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=11381)
  • ศาลทหารมีนัดสืบพยานโจทก์ ด.ต.พงศ์เทพ โกฎเพชร ผู้บังคับหมู่สืบสวน สน.พญาไท พยานเบิกความว่า เป็นผู้บังคับหมู่สืบสวน สน.พญาไท มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา

    ด.ต.พงศ์เทพ อธิบายว่า พยานเกี่ยวข้องในคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2558 ที่ซอยรางน้ำ ต่อเนื่องเข้าถนนโยธี ก่อนเกิดเหตุพยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2558 โดยพันธ์ศักดิ์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กเชิญชวนให้คนมาชุมนุม แต่เขาไม่ทราบว่าคนที่โพสต์เป็นใคร และกลุ่มพลเมืองโต้กลับโพสต์เรียกร้องให้ประชาชนไม่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร โดยกำหนดชุมนุมในวันที่ 14-16 มี.ค. 2558 ซึ่งกิจกรรมนี้จะเข้ามาชุมนุมในพื้นที่ของ สน.พญาไท ด้วย

    ผู้บังคับบัญชาแจ้งแก่พยานให้ทราบเพียงเท่านี้ แต่ตัวพยานเองไม่เห็นข้อความดังกล่าว และมีคำสั่งให้พยานไปสังเกตการณ์เพราะเป็นเรื่องการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับคนที่มาชุมนุมเพราะอาจถูกคนเห็นต่างทำร้าย

    ด.ต.พงศ์เทพ เบิกความต่อว่า ในเวลานั้น คสช.ให้การชุมนุมทางการเมืองผิดกฎหมาย และ คสช.ยังเป็นรัฐบาล การชุมนุมทางการเมืองจึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. การชุมนุมจึงเป็นเรื่องการเมือง ทั้งนี้ เหตุการณ์ส่วนของวันที่ 14 มี.ค. นั้น ผู้บังคับบัญชาได้สั่งให้หน่วยสืบสวนอีกชุดหนึ่งของ สน.พญาไทไปสังเกตการณ์ ซึ่งชุดสืบของ สน.พญาไท จะมีสลับกันวันคู่วันคี่ ส่วนพยานไปพร้อมกับชุดสืบสวนในวันที่ 15 มี.ค. เพื่อไปรักษาความสงบในพื้นที่ โดยไปที่ซอยรางน้ำ

    พยานเบิกความถึงวันที่ไปสังเกตการณ์ว่า ราว 9.00 น. พันธ์ศักดิ์ เดินจากบริเวณถนนราชปรารภฝั่งพื้นที่ของ สน.ดินแดง เข้ามาที่ซอยรางน้ำ เดินทะลุซอยไปข้ามสะพานลอยไปที่ถนนโยธีแล้วเดินผ่านหน้ากรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยพันธ์ศักดิ์เดินอยู่คนเดียวจนมาถึงจุดดังกล่าวก็มีชาย 3 คน แต่งกายคล้ายนักศึกษาเข้ามอบดอกกุหลาบแดงให้กับพันธ์ศักดิ์และมีการพูดคุยกันนิดหน่อย แต่พยานไม่ทราบเนื้อหาว่าพวกเขาคุยอะไรกัน จากนั้นพันธ์ศักดิ์ออกเดินต่อโดยชายแต่งชุดนักศึกษาทั้ง 3 คน เดินตามอยู่ห่างกันราว 5 เมตร

    จากนั้นพันธ์ศักดิ์เดินเลี้ยวเข้าถนนพระราม 6 ไปที่แยกถนนศรีอยุธยาแล้วเดินข้ามไปทางฝั่งกรมทางหลวง เมื่อถึงบริเวณดังกล่าวก็มีชายสวมหมวกเข้ามาพูดคุยกับพันธ์ศักดิ์ จากนั้นก็เดินตามพันธ์ศักดิ์ไป แต่พยานไม่ได้ยินว่าพวกเขาคุยอะไรกันจึงไม่ทราบเนื้อหาการพูดคุย ต่อมาพันธ์ศักดิ์ได้ข้ามทางรถไฟที่แยกเสาวณีย์มุ่งหน้าไปทางลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ดุสิตแล้ว พยานและชุดของพยานจึงหมดหน้าที่ และเดินทางกลับ

    พยานเบิกความอีกว่า นอกจากชุดสืบสวนของ สน.พญาไท แล้ว ยังมีตำรวจจากสถานีอื่น ทหาร และนักข่าวด้วยเป็นจำนวนมาก แต่ที่พยานรู้ว่าใครเป็นผู้ชุมนุมบ้างนั้นเพราะว่าถ้าเป็นนักข่าวก็จะมีบัตรนักข่าวหรือบัตร PRESS และเดินอยู่ข้างหน้าพันธ์ศักดิ์คอยถ่ายภาพ ส่วนพวกตนและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ก็จะอยู่รอบ ๆ เว้นระยะเอาไว้ไม่ได้ไปร่วมเดินด้วย

    ในการสังเกตการณ์พวกพยานได้ถ่ายภาพเอาไว้ด้วย จากนั้นก็ส่งภาพที่ถ่ายให้กับผู้บังคับบัญชาต่อเพื่อให้รายงานขึ้นไปตามลำดับชั้น หลังเหตุการณ์พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้เรียกพยานไปให้การในฐานะพยาน

    พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนมีหน้าที่รับผิดชอบแค่ตั้งแต่ซอยรางน้ำถึงแยกเสาวณีย์ พยานไม่ทราบว่า ก่อนที่จำเลยจะเดินเข้ามาในพื้นที่รับผิดชอบ และหลังจากเดินออกนอกพื้นที่ไปแล้ว จำเลยจะได้ปราศรัยหรือไม่ ทราบแต่เพียงว่าจำเลยมุ่งหน้าไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อทำกิจกรรม

    ทนายจำเลยถามว่า หน้าที่ของพยานคือสืบสวนและจับกุมใช่หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องให้ผู้บังคับบัญชาสั่งก่อนถึงจะปฏิบัติได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แต่พยานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เลยโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ในคดีนี้ผู้บังคับบัญชาแค่แจ้งให้ทราบว่าจะมีการทำกิจกรรมในพื้นที่ แต่พยานก็ไม่ได้เห็นข้อความในโพสต์ของจำเลยเอง

    ทนายจำเลยถามว่า พยานเคยให้การไว้กับพนักงานสอบสวนไว้ว่าอย่างไร โดยนำบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนให้พยานดู พยานเบิกความว่า เคยให้การกับพนักงานสอบสวนว่า จำเลยได้ประกาศผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คว่า จะมีการทำกิจกรรมเดิน แต่กิจกรรมดังกล่าวมีนัยยะทางการเมือง กล่าวคือเป็นการเดินเท้าที่ลักษณะต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จึงมีการประกาศเพื่อนัดประชาชนมารวมตัวกัน และจะมีการเสวนาทางการเมืองตามเส้นทางที่เดินผ่าน โดยไม่มีเจตนาจะไปพบพนักงานสอบสวนตามปกติ แต่เป็นการเดินเพื่อชักชวนหรือซ่องสุมให้การรวมกลุ่มก่อการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช. จึงเป็นการเดินเท้าเพื่อรณรงค์ชักชวนให้คนที่พบเห็นมาร่วมชุมนุมทางการเมืองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    จากนั้น ทนายจำเลยได้นำข้อความในโพสต์ของจำเลยให้พยานอ่าน และถามว่าเจตนาของจำเลยที่โพสต์ข้อความนั้นไม่ได้มีเจตนาจะฝ่าฝืนการชุมนุมทางการเมืองและจะไปตามนัดของพนักงานสอบสวนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า อ่านแล้วไม่เข้าใจ

    ทนายจำเลยถามอีกว่า ในระหว่างที่จำเลยเดินอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ สน.พญาไท จำเลยไม่มีการปราศรัยทางการเมืองหรือต่อต้านรัฐบาลเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีการปราศรัย

    ด.ต.พงศ์เทพ เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุไม่ได้เกิดเหตุวุ่นวายและสงบเรียบร้อยอยู่ แต่รัฐบาลจะยังสามารถปฏิบัติงานได้หรือไม่นั้น พยานไม่ทราบเนื่องจากไม่ได้อยู่ในส่วนของพยาน

    ทนายจำเลยได้ถามว่า พยานมีอำนาจหน้าที่ที่สามารถขอตรวจบัตรประชาชนได้หรือไม่ และในวันเกิดเหตุได้ขอดูบัตรประชาชนคนที่มาร่วมหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้ขอตรวจบัตร ทนายจำเลยถามต่อว่า วันนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มาจากหลายหน่วย พยานเองก็ไม่ได้ทราบทั้งหมดว่า ใครเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบ้างใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่บางส่วนที่มาจากหน่วยอื่น พยานก็ไม่ทราบ

    ทนายจำเลยถาม ด.ต.พงศ์เทพต่อว่า ตามที่เบิกความไปตอนต้นว่ามีการส่งภาพถ่ายถึงผู้บังคับบัญชานั้น พยานส่งผ่านทางแอพพลิเคชั่น Line หรือเป็นการเขียนรายงานส่งถึงผู้บังคับบัญชา พยานตอบว่าภาพในสำนวนพยานไม่ได้ถ่ายเองแต่เป็นพวกของพยานที่อยู่ในชุดเดียวกัน จึงไม่ทราบว่าเขาส่งกันทางใด

    อัยการทหารถามติงว่า พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าอย่างไร พยานตอบว่า ได้รับคำสั่งให้ไปสังเกตการณ์ รักษาความสงบ รักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม เนื่องจากเป็นการชุมนุมทางการเมือง อัยการได้ถามต่อว่า ที่พยานได้เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนไม่ทราบว่ารัฐบาลจะยังสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติหรือไม่ แต่การชุมนุมก็อาจจะก่อให้เกิดอะไรขึ้นได้ พยานตอบว่า อาจเกิดความวุ่นวายและไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองได้

    อัยการทหารถาม ด.ต.พงศ์เทพ ต่อว่า ที่ตำรวจ ทหารแต่งนอกเครื่องแบบพยานแยกไม่ได้นั้น แต่พยานทราบจากอะไรว่าใครเป็นผู้ชุมนุม พยานตอบว่า ทหาร ตำรวจ และนักข่าวจะไม่เข้าไปร่วมเดิน อย่างตัวพยานและพวกของพยานก็จะเดินเป็นกลุ่มแยกออกมาอยู่โดยรอบของผู้ชุมนุมอีกที แม้ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบก็ตาม

    หลังสืบพยานเสร็จอัยการได้แถลงขอนัดสืบพยานปากต่อไปและทนายจำเลยได้ขอเพิ่มวันนัดสืบพยานเพิ่มไว้ล่วงหน้าอีกสองนัด ศาลทหารอนุญาตและได้นัดสืบพยานครั้งต่อไปในวันที่ 26 กรกฎาคม, 16 และ 27 สิงหาคม 2562

    (อ้างอิง : https://www.tlhr2014.com/?p=11701)
  • ศาลได้แจ้งให้คู่ความทราบว่า หัวหน้า คสช. มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 เรื่องยกเลิกประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น โดยศาลพิเคราะห์ว่า คำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฏาคม 2562 เป็นต้นไป แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม จึงให้งดสืบพยานและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาล ให้มีหนังสือไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม และให้สัญญาประกันจำเลยมีผลต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 174 ก./2558 คดีหมายเลขแดงที่ 21 ก./2562 ลงวันที่ 26 ก.ค. 2562)
  • ศาลอาญา รัชดาฯ นัดหมายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ มาเพื่อดำเนินการพิจารณาคดีต่อ หลังจากที่คดีได้ถูกโอนย้ายจากศาลทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562

    หลังศาลดูสำนวนได้สอบถามคู่ความว่า สามารถรับหรือตัดพยานใดได้บ้าง ในคดีนี้เดิมสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 5 ปาก ในศาลทหาร โจทก์ต้องการจะนำพยานเข้าสืบอีก 16 ปาก ซึ่งในวันนี้มีพยานที่โจทก์และจำเลยรับกันได้ 4 ปาก ประกอบด้วย แพทย์ผู้ตรวจร่างกาย 1 ปาก และพยานตำรวจผู้จับกุม 3 ปาก จึงไม่ต้องนำสืบ ส่วนทนายจำเลยประสงค์จะนำพยานเข้าสืบ 7 ปาก ประกอบด้วย ตัวจำเลย 1 ปาก พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ 2 ปาก และพยานนักวิชาการ 4 ปาก ศาลได้กำหนดนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 3-6 พ.ย. 2563

    (https://tlhr2014.com/?p=15847)
  • พ.อ.พงศฤทธิ์ ภวังคะนันท์ สังกัดกองพันทหารราบ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ก่อนหน้ากิจกรรมพยานพบการเคลื่อนไหวผ่านสื่อออนไลน์ จำชื่อกลุ่มได้ว่า LLTD ประชาสัมพันธ์เรื่องกิจกรรมของพันธ์ศักดิ์ ในวันเกิดเหตุพยานได้ติดตามจำเลยตลอดการทำกิจกรรมโดยทิ้งระยะห่างประมาน 30 เมตร พยานพบจำเลยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จำเลยเรียกร้องให้พลเรือนไม่ขึ้นศาลทหาร ระหว่างเดินมีคนมาให้ดอกไม้ ขณะนั้นมีการประกาศกฎอัยการศึก การเดินของพยานไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัย ไม่มีการถือป้าย แต่บนเสื้อของจำเลยมีข้อความรณรงค์เช่นเดียวกับกิจกรรม พยานจำข้อความไม่ได้ พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ปัจจุบันข้อหาดังกล่าวถูกจำหน่ายไปแล้ว เนื่องจาก คสช.ยกเลิกความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561

    (https://tlhr2014.com/?p=24041)
  • ร.ต.ท.ประเสริฐ ทิณะรัตน์ คณะพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เบิกความในฐานะพยานโจทก์ว่า พบจำเลยตรงหมุดเฌอ ซึ่งเป็นจุดที่บุตรชายจำเลยเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม พบเห็นคนมาร่วมเดินกับจำเลยและมอบดอกไม้ ทั้งหมดมีการเดินไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเสวนากันที่ลานปรีดี โดยมีการขออนุญาตมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยไม่อนุญาต การเสวนาของจำเลยแบ่งเป็น 5-6 คน/กลุ่ม มีผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน จนเวลาประมาณ 1 ทุ่มจึงแยกย้ายกันกลับ พนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3), คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งนี้หนึ่งในผู้ต้องหา ของวันนั้นชื่อนายปรีชา (สงวนนามสกุล) จำเลยรับสารภาพ ศาลทหารพิพากษาลงโทษ แต่พยานไม่ทราบผลแห่งคดี โดยในคดีนี้ได้มีการออกหมายจับนายพันธ์ศักดิ์ด้วย

    นอกจากนี้ ร.ต.ท.ประเสริฐ ได้ตอบทนายจำเลยถามค้านว่าการเดินของจำเลยไม่มีความวุ่นวายและไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง แต่ไม่ตอบว่าข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลยที่เขียนว่าพลเรือนไม่ขึ้นศาลทหารซึ่งเป็นข้อความที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นนั้น เป็นการยุยงปลุกปั่นอย่างไร

    เนื่องจากมีพยานที่ติดต่อไม่ได้และพยานที่ศาลเห็นว่าน่าจะเบิกความซ้ำซ้อนกันจึงไม่ต้องนำตัวมา โจทก์แถลงหมดพยาน

    (https://tlhr2014.com/?p=24041)
  • "โครงสร้างองค์กรของศาลทหารมีปัญหาตั้งแต่ต้น"

    พูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบต่อการใช้อำนาจรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เป็นพยานจำเลยเบิกความในฐานะผู้เชี่ยวชาญ

    พูนสุขเบิกความว่า โครงสร้างองค์กรของศาลทหารมีปัญหา 3 ส่วน 1.งานธุรการของศาลทหารยังคงสังกัดเกี่ยวพันกับกลาโหม ซึ่งส่งผลต่อการขึ้นเงินเดือนและเลื่อนยศ 2.การไม่บังคับว่าตุลาการจะต้องจบการศึกษานิติศาสตร์เพียงแต่ต้องเป็นทหารสัญญาบัตร 3.การที่จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ขณะประกาศใช้กฎอัยการศึก

    คดีนี้เกิดนี้ระหว่างประกาศกฎอัยการศึก แม้พนักงานสอบสวนเป็นตำรวจ แต่ว่าผู้ฟ้องเป็นอัยการศาลทหาร ทหารยังคงควบคุมตัวคนได้ 7 วัน อีกทั้งคดีเกี่ยวกับการห้ามชุมนุมอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร รวมทั้งการใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการอยู่ภายใต้ทหารทั้งหมด

    การประกาศให้ใช้ศาลทหารกับพลเรือนเป็นการใช้อำนาจของ คสช. แทรกแซงอำนาจตุลาการ ขณะที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งในข้อ 14 กำหนดเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับความเป็นอิสระ เป็นกลางของตุลาการ สิทธิในการดำเนินคดีที่เปิดเผยและเป็นธรรม

    พูนสุขยังเบิกความต่อว่า ศูนย์ทนายฯ ได้เคยทำหนังสือสอบถามไปยังศาลทหารเกี่ยวกับจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาล โดยได้รับเอกสารว่ามีการดำเนินคดีกับพลเรือนไปมากกว่า 2,204 คน จำนวน 1,769 คดี ในระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 2557 ถึง 31 พ.ค. 2562 นอกจากนี้ UN ยังเคยมีความเห็นต่อการดำเนินคดีในศาลทหารของไทยว่า ไม่มีหลักประกันสิทธิในการอุทธรณ์และการพิจารณาคดี จึงควรมีการโอนคดีกลับมาให้ศาลพลเรือนพิจารณาคดี

    "เดินคนเดียวโดยสงบก็ถูกดำเนินคดียุยงปลุกปั่น"

    พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จำเลยในคดี มีอาชีพรับจ้างขับแท็กซี่ พันธ์ศักดิ์ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ในปี 2558 โดยคดีนี้เป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากคดีดังกล่าว

    พันธ์ศักดื์เริ่มต้นเบิกความโดยกล่าวถึงบุตรชายว่า เมื่อในปี 2553 เดือนเมษายนมีการสลายการชุมนุมโดยลูกชายของพยานอยู่นอกเขตการชุมนุม แต่ถูกทหารยิงเสียชีวิตในวันที่ 15 พ.ค. 2553 บริเวณดังกล่าวมีแต่กองกำลังทหารติดอาวุธ หลังจากนั้นจำเลยและญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตได้รวมตัวกันเพื่อติดตามหาความยุติธรรมมาโดยตลอด จนเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 สมาชิกของ คสช. บางคนเคยอยู่ใน ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) อาทิ พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 2553 พยานจึงออกมาต่อต้านและตรวจสอบการรัฐประหารครั้งนี้

    พยานเคยฟัง พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์หลังรัฐประหารว่า จะมีการตรวจสอบการเสียชีวิตของประชาชนในเดือน เม.ย.- พ.ค. 2553 โดยตอนนั้นทางกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตเป็นกังวลว่าทหารจะแทรกแซงและยุติคดีศาลอาญา ซึ่งได้มีการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิต 6 ศพวัดปทุมออกมาแล้วว่า ในขณะนั้นเสียชีวิตเพราะกระสุนปืนจากฝั่งทหาร พยานกลัวว่า คสช. จะลบคดีเหล่านั้น จึงไปโปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรมและถูก คสช. ดำเนินคดี

    ภายหลังพยานยังเคลื่อนไหวหลายครั้งจนมาถึงวันที่ 14 ก.พ. 2558 พวกพยานเคลื่อนไหวในงานเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ซึ่งมีผู้กลายเป็นผู้ต้องหาอีก 3 คน นอกจากพยาน ได้แก่ ทนายอานนท์ วรรณเกียรติ และสิรวิชญ์ การเคลื่อนไหวในครั้งนั้นสืบเนื่องจาก การที่พวกพยานต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ท้ายสุดได้ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 โดย สน.ปทุมวัน เร่งรัดให้พยานไปรายงานตัวภายใน 16 มี.ค. 2558 พยานจึงประกาศว่าจะเดินเท้าจากบ้านที่บางบัวทองโดยตั้งใจจะเดินผ่านสถานที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าพยานต่อต้านคณะรัฐประหาร

    14 มี.ค. 2558 ซึ่งเป็นวันทำกิจกรรม พยานเดินผ่านสดมภ์นวมทองไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ที่ขับรถชนรถถังตั้งแต่วันแรกก็เดินไม่ถึง เพราะถูกจับตัวมาส่ง สน. ปทุมวันเสียก่อน แต่ผู้กำกับไม่ได้รับมอบตัวเพราะนัดกันไว้แล้วว่าจะรายงานตัวในวันที่ 16 มี.ค. ต่อมา วันที่ 15 มี.ค. พยานเริ่มเดินใหม่อีกครั้งโดยเริ่มจากจุดที่บุตรชายเสียชีวิต บริเวณถนนราชปรารถ ซอยรางน้ำ แล้วเดินผ่านซอยโยธีจนถึงกรมวิทยาศาสตร์การทหารบก พบนักศึกษามามอบดอกไม้ 3 คน แต่ขณะนั้นมีสื่อและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามมาด้วย ผ่านสี่แยกเสาวนีย์เดินไปที่หมุดคณะราษฎรเพื่อวางดอกไม้แสดงความเคารพคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย

    จากนั้นพยานเดินไปทานอาหารเป็นไก่ย่าง บริเวณเวทีมวยราชดำเนิน พันธ์ศักดิ์ย้ำว่าไม่ได้ไปทานอาหารที่ร้านศรแดงอย่างที่พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจเบิกความ เมื่อเดินถึงร้านอาหารศรแดงจึงมีคนมามอบดอกไม้และนมถั่วเหลือง ทราบภายหลังชื่อลุงปรีชา จากนั้นพยานเดินมุ่งหน้าไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรองผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม มาแจ้งว่า ธรรมศาสตร์ไม่ทราบเรื่องว่าจะมีการมาจัดกิจกรรม พยานจึงได้แจ้งกับมหาวิทยาลัยว่าไม่ได้มาทำกิจกรรม ผู้อำนวยการฝ่ายสถานที่ของธรรมศาสตร์แนะนำว่า พวกตนควรแยกย้ายก่อนมืดเพื่อความปลอดภัย

    พันธ์ศักดิ์เบิกความอีกว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้ถูกดำเนินคดี แม้ว่าตนเดินคนเดียวโดยสงบ ไม่มีการใช้เครื่องเสียง การแสดงออกดังกล่าวเพื่อบอกว่า ตนไม่ยินยอมขึ้นศาลทหาร แต่หากถูกดำเนินคดีก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะการเดินดังกล่าวเป็นการเดินเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหา มีการโพสต์เส้นทางการเดินในเพจพลเมืองโตกลับจริง แต่พยานก็ไม่ได้เดินตามเส้นทางนั้นเนื่องจากถูกจับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. ทั้งนี้ พยานยังเคยโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า ขอความร่วมมือมาให้กำลังใจไม่เกิน 5 คน

    "พันธ์ศักดิ์ยันประชาชนผู้ต้านรัฐประหารเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับทหาร"

    พันธ์ศักดิ์เห็นว่า เหตุที่ประชาชนจึงไม่ควรขึ้นศาลทหาร เพราะประชาชนผู้ต่อต้านการรัฐประหารเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับทหาร จากการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาลทหารทราบว่าหลายคนไม่ได้ประกันและไม่ได้อุทธรณ์ ฎีกา นอกจากนี้ กรมพระธรรมนูญยังอยู่ในกระทรวงกลาโหม มีผังการพิจารณาชัดเจนว่าตุลาการศาลทหารอยู่ภายใต้โครงสร้างบังคับบัญชาของกลาโหม โครงสร้างจึงต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม ซึ่งขณะนั้น พล.อ.ประวิตร เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและเป็นรองนายกฯ พยานจึงไม่เชื่อว่าจะได้รับความยุติธรรมเพราะเป็นคู่ขัดแย้ง

    นอกจากนั้น รายชื่อตุลาการศาลทหาร ต้องเสนอกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมก่อนทูลเกล้าฯ ตุลาการทหารหลายท่านไม่ได้จบนิติศาสตร์ ทำให้พยานไม่เชื่อมั่นในความรู้ ความสามารถ ระบบทหารยังมีการโยกย้ายตลอดเวลา การนัดพิจารณาคดีจึงถูกเลื่อนไปโดยง่าย เช่น พยานโจทก์ติดงานราชการ ทำให้คดีดำเนินไปอย่างล่าช้า การพิจารณาคดีไม่ต่อเนื่อง

    ในคดีนี้พยานถูกจับในเวลากลางคืน ถูกควบคุมตัวไปที่ สน. ชนะสงคราม และฝากขังศาลทหารพยาน ได้ยินมาว่าศาลทหารจะไม่ให้ประกันตัว แต่มีกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ไปกดดันจึงได้รับการประกันตัว ในตอนที่ถูกดำเนินคดีทหารมักจะทำให้พยานหวาดกลัว ทหารเห็นว่า คสช.ต้องดำเนินคดีในศาลทหารแม้จะเป็นคดีเล็กน้อยก็เพื่อยุติการเคลื่อนไหวของผู้ต่อต้าน โดยพยานให้การปฏิเสธมาตลอดและประสงค์จะสู้คดี

    (https://tlhr2014.com/?p=24041)
  • ​ศาลเข้ามาที่ห้องพิจารณาในเวลา 10.15 น. โดยมีผู้เข้าร่วมฟังคำพิพากษาประมาณ 10 คน ได้แก่ จำเลย ทนายจำเลย เพื่อน ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายฯ และ iLaw

    ศาลได้อ่านฟ้องโดยสรุปให้จำเลยฟังอีกครั้ง จากนั้นจึงอ่านประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่

    ศาลฟังได้ว่าพยานโจทก์มี พ.ต.อ.สถิตย์ ผู้กล่าวหา, พ.อ.บุรินทร์ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของ คสช., พ.ต.ท.สมยศ รองผู้กำกับสืบสวน สน.พญาไท, ด.ต.พงศ์เทพ ผู้บังคับหมู่สืบสวน สน.พญาไท และ พ.อ.พงสฤทธิ์ นายทหารสังกัดกองพันทหารราบ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ทั้งหมดต่างเบิกความตรงกันว่าขณะทำกิจกรรมจำเลยไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียงและไม่มีความวุ่นวาย

    ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

    แม้ขณะเกิดเหตุมีการประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 แต่ภายหลังมีการยกเลิกโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561

    ประเด็นที่โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จำเลยโพสต์ข้อความผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเผยแพร่ลงในเฟซบุ๊กชื่อบัญชี “พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ” ซึ่งเป็นของจําเลยว่า “จุดเริ่มเดิน ไปบอกว่า พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร พบกันที่ ร.ร.โสตนนทบุรี (ใกล้เทศบาลบางบัวทอง) 7 โมงเช้า 14 มี.ค.2558 พร้อมแผนที่แสดงจุดนัดพบ” อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยจําเลยมีเจตนาที่จะให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมชุมนุมทางการเมืองร่วมกับจําเลย เพื่อต่อต้านการดําเนินคดีบุคคลพลเรือนในศาลทหาร

    เนื่องจากโจทก์เบิกความว่า กิจกรรมเต็มไปด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    พิพากษายกฟ้อง

    (https://tlhr2014.com/?p=24041)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. น.อ.สุรชัย สลามเต๊ะ
  2. พ.อ.ธีรพล ปัทมานนท์

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 16-12-2020

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์