ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
- ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
- การชุมนุม
- ประกาศ คสช. ที่ 7/2557
ดำ 264ก./2558
ผู้กล่าวหา
- พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ (ทหาร)
ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
- ประกาศ คสช. ที่ 7/2557
- การชุมนุม
- ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
หมายเลขคดี
ดำ 264ก./2558
ผู้กล่าวหา
- พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ
ความสำคัญของคดี
นายปรีชา แก้วบ้านแพ้ว อายุ 77 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป จากการมอบดอกไม้ให้กำลังใจนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ขณะทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เพื่อเรียกร้องให้พลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหาร เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2558 อย่างไรก็ตาม อัยการทหารยื่นฟ้องเฉพาะข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ทำให้นายปรีชาตัดสินใจให้การรับสารภาพ เนื่องจากข้อหานี้มีอัตราโทษต่ำและการต่อสู้คดีจะเป็นภาระอย่างมากต่อนายปรีชา ซึ่งอายุมาก และมีโรคประจำตัว แม้ว่าการกระทำของนายปรีชาซึ่งเพียงแค่ไปมอบดอกไม้ และให้กำลังใจนายพันธ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติ
พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี
จำเลยเป็นบุคคลพลเรือน ได้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยในวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลากลางวัน ซึ่งเป็นวันและเวลาที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยร่วมชุมนุมกับนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 174ก./2558 ของศาลทหารกรุงเทพ กับพวกอีก 5 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ที่บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อคัดค้านการใช้อำนาจของ คสช. โดยมีประชาชนมาร่วมชุมนุมกับจำเลยประมาณ 20 คน เป็นการขัดต่อประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ทั้งที่จำเลยก็ทราบถึงประกาศดังกล่าวอยู่แล้ว
(อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/692)
(อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/692)
ความคืบหน้าของคดี
-
วันที่: 25-10-2015นัด: แจ้งข้อกล่าวหาหลังถูกจับกุมตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพระหว่างการตรวจหนังสือเดินทางที่ท่าเรือหิรัญนคร อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 58 และถูกควบคุมตัวที่ สภ.เชียงแสน 1 คืน ตำรวจควบคุมตัวนายปรีชาส่งให้พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง นายปรีชาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
(อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/692) -
วันที่: 26-10-2015นัด: ฝากขังครั้งที่ 1พนักงานสอบสวนนำตัวปรีชาไปขออำนาจศาลทหารกรุงฝากขังครั้งที่ 1 มีกำหนด 12 วัน นับแต่วันที่ 26 ต.ค. - 6 พ.ย. 58 โดยระบุเหตุผลในคำร้องขอฝากขังว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยาน 7 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหา ต่อมา ทนายจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ยื่นประกันตัว ศาลอนุญาตให้ประกัน โดยกำหนดหลักประกัน 150,000 บาท แต่ญาติของปรีชาใช้สลากออมสินมูลค่า 500,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน นายปรีชาได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันเดียวกัน
(อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/692) -
วันที่: 11-12-2015นัด: ยื่นฟ้องอัยการทหารนัดนายปรีชาส่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยอัยการไม่ได้ฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ตามที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน จากนั้น ศาลมีคำสั่งให้ประกันนายปรีชาด้วยหลักทรัพย์เดิม และได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
(อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/692) -
วันที่: 23-05-2016นัด: สอบคำให้การศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้นายปรีชาฟัง และถามคำให้การ นายปรีชาให้การรับสารภาพ และยืนยันตามคำร้องประกอบคำรับสารภาพที่ยื่นต่อศาลแล้ว อย่างไรก็ตาม อัยการทหารคัดค้านคำร้องดังกล่าว ซึ่งขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ในส่วนที่ว่า ...ในวันที่เกิดเหตุจำเลยเพียงแค่ไปมอบดอกไม้เท่านั้น... ถึงส่วนที่ว่า ...การกระทำความผิดดังกล่าวเป็นไปด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา... ถ้าจำเลยยอมตัดข้อความในส่วนนี้ โจทก์ก็จะไม่คัดค้าน จำเลยยินยอมตัดข้อความส่วนดังกล่าวออก
ศาลจึงอ่านคำพิพากษามีเนื้อหาโดยสรุป คือ จำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 ลงวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ต่อมา ในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวนี้ คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2558 ข้อ 12 กำหนดให้ความผิดฐานมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นกรณีที่มีกฎหมายออกมาใช้ภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยกว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ฉะนั้นจึงจะต้องลงโทษจำเลยตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 อันเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นความผิดฐานชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท ส่วนคำร้องขอให้ลงโทษสถานเบาและขอให้รอการลงโทษ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และพฤติการณ์ไม่ถึงขั้นร้ายแรง โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
หลังศาลมีคำพิพากษา วิญญัติ ชาติมนตรี จากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากคดีนี้อัยการฟ้องปรีชาในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เท่านั้น ทนายจึงปรึกษาแนวทางคดีกับปรีชาซึ่งปรีชาก็ยินดีรับสารภาพเพราะคดีนี้เป็นคดีที่โทษน้อยและการสู้คดีจะเป็นภาระกับปรีชาอย่างมาก ขณะเดียวกัยปรีชาก็ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้น ๆ ว่าขอขอบคุณศาลที่ให้ความเมตตา เพราะตอนนี้ตนเองอายุมากแล้วและมีโรคประจำตัว ล่าสุดก็พึ่งทำบายพาสหัวใจไปสองเส้น
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตในการพิจารณาคดีนี้ ดังต่อไปนี้
1. คดีนี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้าของศาลทหาร เนื่องจากอัยการทหารยื่นฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2558 แต่ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การวันที่ 23 พ.ค. 59 รวมเป็นระยะเวลามากกว่า 5 เดือน โดยหลักแล้วหากไม่มีการสอบคำให้การจำเลยให้แล้วเสร็จ กระบวนการพิจารณาคดีก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้
กระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้านี้ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิของจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.8 ที่ระบุว่า เมื่อยื่นฟ้องแล้ว จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง รวมถึงขัดต่อ ICCPR ข้อ 14 ที่ระบุว่า ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็น
เมื่อกระบวนการยุติธรรมชักช้าเกินความจำเป็น อาจจะส่งผลให้จำเลยตัดสินใจรับสารภาพ เนื่องจากกระบวนการที่ล่าช้ายาวนานเป็นภาระเกินความจำเป็นต่อตัวจำเลย ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณีของ สมัคร ที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112
2. คดีนี้ เป็นคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2558 ซึ่งอยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก จำเลยจึงไม่สามารถที่จะอุทธรณ์ ฎีกา คัดค้านคำพิพากษาศาลทหารชั้นต้นได้ เพราะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์/ฎีกา ตามมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498
เมื่อไม่สามารถอุทธรณ์/ฎีกาได้ ถือเป็นการปิดกั้นสิทธิของจำเลยในคดีอาญา และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขัดต่อหลักการที่ว่าบุคคลทุกคนที่ต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะให้คณะตุลาการระดับเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนการลงโทษและคำพิพากษา อันถูกกำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ข้อ 14
(อ้างอิง: https://tlhr2014.wordpress.com/2016/05/23/precha/ และ https://freedom.ilaw.or.th/case/692)
สถานะ การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ผลการพิพากษา
ชั้นสอบสวน
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปรีชา
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ศาลชั้นต้น
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปรีชา
ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
- พ.อ.นิรันดร์ กำศร
- พ.อ.อรรถพล แก้วพาลชน
- พ.ท.วรพล นิยมเสน
ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ :
23-05-2016
แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์