ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 194/2559 (อ.3059/2562)

ผู้กล่าวหา
  • ร้อยโท ชวิน ชยาวิวัฒนาวงศ์ (ทหาร)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 194/2559 (อ.3059/2562)
ผู้กล่าวหา
  • ร้อยโท ชวิน ชยาวิวัฒนาวงศ์

ความสำคัญของคดี

พัฒน์นรี (สงวนนามสกุล) หรือ “แม่จ่านิว” ถูก ปอท. ดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 โดยมีนายทหารเป็นผู้กล่าวหาว่า มีส่วนร่วมกับนายบุรินทร์ในการโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากการตอบกลับการสนทนาทางช่องแชทของเฟซบุ๊กกับนายบุรินทร์ด้วยคำว่า "จ้า" ซึ่งถือว่าเป็นการยอมรับและเห็นด้วยกับการโพสต์ข้อความที่พาดพิงพระมหากษัตริย์ฯ ของนายบุรินทร์ พัฒน์นรีให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นศาล โดยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งนี้ อัยการทหารแยกฟ้องพัฒน์นรีกับบุรินทร์เป็นคนละคดี ในส่วนของบุรินทร์ได้ให้การรับสารภาพในชั้นศาล หลังถูกขังเกือบ 10 เดือน โดยไม่ได้รับการประกันตัว

บทสนทนาที่ถูกทหารนำมากล่าวหาดำเนินคดีเป็นข้อความส่วนตัวระหว่างบุคคล ไม่ได้เผยแพร่ทางสาธารณะ จึงเป็นที่สงสัยว่า เจ้าหน้าที่เข้าถึงบทสนทนาส่วนตัวได้อย่างไร นอกจากนี้ พยานหลักฐานที่ใช้ดำเนินคดีได้มาจากการสอบปากคำนายบุรินทร์ขณะถูกควบคุมตัวในค่ายทหารซึ่งถือว่าได้มาโดยมิชอบ คดีนี้ถูกพิจารณาในศาลทหาร โดยศาลทหารมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ กระทบต่อสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผย แม้ภายหลังคดีจะถูกโอนย้ายมายังศาลยุติธรรม ศาลอาญาก็ยังสั่งให้พิจารณาลับเช่นเดิม

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พันเอกพงศธร อินทรตั้ง อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นฟ้องนางสาวพัฒน์นรี ต่อศาลทหารกรุงเทพ ความว่า จำเลยซึ่งเป็นบุคคลพลเรือน ได้กระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559 เวลากลางคืน จำเลยกับนายบุรินทร์ จำเลยตามคดีดำที่ 187/2559 ของศาลทหารกรุงเทพ ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท โดยทั้งสองได้ร่วมกันพิมพ์ข้อความสนทนาโต้ตอบกันผ่านบัญชีเฟซบุ๊กของนายบุรินทร์และของจำเลย โดยกล่าวถึงความเดือดร้อนของประชาชน การสืบสันตติวงศ์ และการรัฐประหารในปี 2549 อันเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยจำเลยและนายบุรินทร์รู้อยู่แล้วว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊กของนายบุรินทร์ตลอดมาจนถึงวันที่ 27 เม.ย. 2559 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานซึ่งเป็นบุคคลที่สามได้เปิดพบในเฟซบุ๊กของนายบุรินทร์ ซึ่งเมื่อได้อ่านบทสนทนาดังกล่าวทั้งหมดแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และสมเด็จพระเทพฯ การกระทำดังกล่าวของจำเลยและและนายบุรินทร์เป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์และรัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2559)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2559 ร.ท.ชวิน ชยาวิวัฒนาวงศ์ นายทหารพระธรรมนูญ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดี น.ส.พัฒน์นรี (สงวนนามสกุล) มารดาของ “จ่านิว” หรือนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แกนนำนักศึกษาที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวคัดค้าน คสช. ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เช้าวันนี้ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง รอง ผกก. (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลทหารกรุงเทพ ขอออกหมายจับ น.ส.พัฒน์นรี โดยศาลทหารกรุงเทพอนุมัติออกหมายจับที่ 36/2559

    ต่อมา เวลา 16.00 น. มารดาจ่านิวพร้อมทนายความได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ตามหมายจับดังกล่าว เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดย น.ส.พัฒน์นรียืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแต่อย่างใด

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยบรรยายพฤติกรรมที่กระทำความผิดว่า นายบุรินทร์ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ไปก่อนหน้านี้ได้ลงข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ แต่มารดาจ่านิวไม่ได้ห้ามปราม ตำหนิ หรือต่อว่าให้หยุดการกระทำดังกล่าว จึงถือว่ามีส่วนร่วมกับนายบุรินทร์ในการกระทำความผิด โดย น.ส.พัฒน์นรี ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยังไม่ประสงค์ให้การใดๆ ในชั้นพนักงานสอบสวน

    หลังรับทราบข้อกล่าวหาทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันเงินสด 5 แสนบาท พนักงานสอบสวนได้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชาแล้วมีความเห็นว่า ไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ และมีอัตราโทษสูง เกรงว่าหากได้รับการประกันตัว ผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

    จากนั้นมารดาจ่านิวถูกนำตัวไปควบคุมที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อรอพนักงานสอบสวนนำตัวไปขออนุญาตฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพในวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ค. 2559 เวลา 9.00 น.

    ด้านนายอานนท์ นำภา ทนายความ ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนมีหมายจับครั้งนี้ไม่เคยมีหมายเรียกและไม่มีการประสานมาก่อนหน้า พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าวันนี้เป็นวันหยุด และทุกคนก็เพิ่งทราบเมื่อเช้านี้ วันนี้จึงเตรียมเงินจากการระดมมาเพื่อขอประกันตัวในชั้นสอบสวน แต่ถ้าไม่ให้ประกันตัวเพราะเกรงว่าจะหลบหนี เขาก็มาเอง หากยังไม่ให้ประกันตัวก็จะต้องไปที่ศาลทหาร ส่วนจ่านิวอยู่ต่างจังหวัด กำลังเดินทางกลับ วันนี้จึงมีเพียงยายและน้องสาวมาดูแลมารดาจ่านิวเท่านั้น

    (อ้างอิง: บันทึกการมอบตัวและรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 6 พ.ค. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=2193)
  • เวลา 10.30 น. น.ส.พัฒน์นรี ได้ถูกนำตัวมาที่ บก.ปอท. เพื่อทำเรื่องย้ายสถานที่ควบคุมตัวจาก สน.ทุ่งสองห้อง ไปยังกองบังคับการปราบปราม จากนั้นจึงถูกนำตัวมาควบคุมที่กองบังคับการปราบปราม

    ต่อมา เวลา 13.00 น. พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผกก.3บก.ปอท.หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบคดีนี้ แถลงข้อเท็จจริงในคดีของนายบุรินทร์ และ น.ส.พัฒน์นรี โดยมี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. ร่วมแถลงข่าว ขณะที่มารดาจ่านิวปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ด้านทนายความและจ่านิวไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าในห้องแถลงข่าวแต่อย่างใด

    การแถลงและตอบคำถามสื่อของ พ.ต.อ.โอฬาร สรุปความได้ว่าการกระทำความผิดในคดีนี้เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประมวลกฎหมายอาญา พร้อมทั้งยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีเพราะมีพยานหลักฐาน และดำเนินการตามหมายจับซึ่งออกโดยศาล กรณีที่มีข่าวว่าผู้ต้องหาไม่ได้ทำอะไรเลย พ.ต.อ.โอฬารยืนยันว่า ผู้ต้องหาทั้งสองมีพฤติการณ์ที่กระทำความผิดร่วมกันไม่ใช่การพิมพ์คำว่า “จ้า” อย่างเดียว ซึ่งรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ทุกอย่างจะไปปรากฎในชั้นศาล

    นอกจากนี้ พ.ต.อ.โอฬาร ยังได้กล่าวว่า กรณีที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับคดีนี้ที่ไม่ถูกต้องตรงความจริงก็จะถูกดำเนินคดีได้ ข้อความที่เป็นความผิดคนที่กดไลค์ หรือแชร์ออกไปก็ต้องรับผิดชอบ พร้อมกันนี้ พ.ต.อ.โอฬาร ชี้แจงว่า จะควบคุมตัว น.ส.พัฒน์นรีไว้ที่กองปราบ เพราะมีความพร้อมและเป็นความสมัครใจของผู้ต้องหา และยืนยันว่ากฎหมายไทยบังคับใช้กับทุกคนเป็นมาตรฐานสากล ส่วนผู้ต้องหาจะเห็นหรือต่อสู้อย่างไรก็แล้วแต่ อย่างไรก็ตาม หากผู้ไม่เกี่ยวข้องนำเสนอข่าวหรือไปยื่นหนังสือที่บิดเบือนความจริงอาจเข้าข่ายกระทำความผิด

    ในขณะที่การแถลงข่าวยังไม่เสร็จสิ้น นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ได้รับการติดต่อจากน้องสาว ซึ่งอยู่กับยายที่บ้านว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นาย จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี นำหมายค้นไปที่บ้าน จากนั้น ได้เข้าตรวจค้นบ้านและยึดเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีจำนวน 1 เครื่อง และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ร่วมกันในบ้านอีก 1 เครื่อง โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาเข้าค้นบ้านประมาณ 1 ชั่วโมง และก่อนหน้าที่จะเข้าค้นบ้าน เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าอยู่นอกบ้านประมาณครึ่งชั่วโมง โดยแม้นายสิรวิชญ์จะแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าให้รอตนและทนายความกลับไปก่อนค่อยดำเนินการ เพราะที่บ้านมีแต่เด็กและคนชรา แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ไปโดยที่ไม่รอนายสิรวิชญ์กลับมา และเจ้าหน้าที่จะมีความพยายามจะให้ยายของนายสิรวิชญ์ลงชื่อในเอกสาร แต่ยายไม่ยินยอมเซ็น

    ในฐานะองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือในคดีนางสาวพัฒน์นรีโดยตรง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอยืนยันว่าถ้อยคำซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารได้กล่าวหาว่า ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ค “Nuengnuch ....” กระทำความผิดนั้น มีลักษณะเป็นการสนทนาเพียงฝ่ายเดียวและเป็นการพูดจาสั้นๆ ไม่กี่ประโยค โดย “Nuengnuch ...” นั้น ไม่ได้พิมพ์ข้อความแสดงความคิดเห็นใดที่พาดพิงต่อสถาบันกษัตริย์เลย และจบท้ายการสนทนาด้วยคำว่า “จ้า” ซึ่งทำให้พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าการลงท้ายด้วยถ้อยคำดังกล่าวนั้น เป็นยอมรับและเห็นด้วยกับข้อความของผู้ใช้บัญชีเฟสบุ๊คชื่อ “Burin ...” ซึ่งพิมพ์ข้อความมาก่อนหน้านี้

    ส่วนประเด็นเรื่องการเข้าค้นบ้านของนายสิรวิชญ์นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการเข้าค้นดังกล่าวไม่มีการแจ้งต่อนางสาวพัฒน์นรีมาก่อน ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถกระทำได้ตลอดเวลา เนื่องจากนางสาวพัฒน์นรีอยู่ระหว่างถูกควบคุมตัวไว้ ซึ่งการเข้าค้นดังกล่าวขัดต่อมาตรา 102 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่กำหนดว่า “การค้นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้ต้องหา หรือจำเลยซึ่งถูกควบคุม หรือขังอยู่ให้ทำต่อหน้าผู้นั้น ถ้าผู้นั้นไม่สามารถหรือไม่ติดใจมากำกับ จะตั้งผู้แทนหรือให้พยานมากำกับก็ได้ ถ้าผู้แทนหรือพยานไม่มี ให้ค้นต่อหน้าบุคคลในครอบครัวหรือต่อหน้าพยานดังกล่าวในวรรคก่อน”

    นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าการยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไป 2 เครื่องนั้น แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกล่าวอ้างว่าพบข้อความที่ผิดกฎหมายในภายหลังก็ไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด เนื่องจากการค้นและตรวจยึดคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไม่มีการทำสำเนาต่อหน้าผู้ครอบครอง ทำให้การนำพยานหลักฐานจากเครื่องดังกล่าวนั้น ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด

    (อ้างอิง: บันทึกการตรวจยึด/ตรวจค้น กก.3. บก.ปอท. ลงวันที่ 7 พ.ค. 2559 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/05/07/janew_mom_112/)
  • พนักงานสอบสวน ปอท. ได้ยื่นคำร้องฝากขัง น.ส.พัฒน์นรี ต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องทำการสอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวน 7 ปาก, รอผลการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ที่มีการตรวจยึดมาจากที่พักของผู้ต้องหา, ผลตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา และผลการตรวจสอบประวัติพิมพ์ลายนิ้วมือ

    นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าหากได้รับการประกันตัว ผู้ต้องหาอาจหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

    ด้านทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจาก น.ส.พัฒน์นรีไม่มีพฤติกรรมหลบหนี และเข้าพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองตั้งแต่ยังไม่ได้รับหมายเรียก การกระทำตามที่กล่าวหาไม่เข้าองค์ประกอบความผิด และ น.ส.พัฒน์นรีได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนแล้ว เจ้าหน้าที่ได้พยานหลักฐานไปแล้ว น.ส.พัฒน์นรีไม่อาจยุ่งเหยิงพยานหลักฐานได้อีก

    ทนายความให้เหตุผลคัดค้านการฝากขังอีกว่า น.ส.พัฒน์นรีมีภาระจำเป็นต้องดูแลครอบครัว และในชั้นสอบสวนได้ขอประกันตัวต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนก็มีความเห็นให้ประกันตัว แต่ผู้บังคับบัญชาไม่อนุญาต รวมถึงคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนที่ระบุว่าคัดค้านประกันตัว ไม่ได้ค้านเพราะพฤติการณ์ร้ายแรง แต่เป็นไปตามระเบียบเท่านั้น

    ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขัง น.ส.พัฒน์นรี ไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ระหว่างวันที่ 8-19 พ.ค. 2559 ตามคำขอของพนักงานสอบสวน ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว น.ส.พัฒน์นรี ต่อศาล โดยใช้หลักประกันเงินสด 500,000 บาท จากการระดมทุนเพื่อประกันตัวเพื่อนของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ

    12.30 น. ศาลทหารอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขห้ามไม่ให้ผู้ต้องหากระทำการใดๆ ในลักษณะยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง อันอาจก่อให้เกิดภยันตรายใดๆ หรือเกิดความเสียหาย หรือความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

    16.10 น. น.ส.พัฒน์นรี ถูกปล่อยตัวที่ทัณฑสถานหญิกลาง โดยมีจ่านิว ทนายความ และประชาชนไปรอให้กำลังใจ

    อย่างไรก็ตาม น.ส.พัฒน์นรี ต้องมารายงานตัวในการฝากขังครั้งที่ 2 ที่ศาลทหาร ในวันที่ 19 พ.ค. 2559 ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พนักงานสอบสวนสามารถขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาได้ไม่เกิน 7 ครั้ง ครั้งละ 12 วัน

    (อ้างอิง: คำร้อง ฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1, คำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 1 และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ ฝพ.20/2559 ลงวันที่ 8 พ.ค. 2559 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/05/08/ja-new-mom-release/)
  • ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐาน “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา14(3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

    ขั้นตอนต่อไป พนักงานสอบสวนจะต้องทำความเห็นและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการตรวจสอบ และมีความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หากอัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีจะถือเป็นอันสิ้นสุดลง โดยในคดีนี้สำนวนจะถูกส่งให้อัยการทหารพิจารณาต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอยกเลิกฝากขัง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ ฝพ.20/2559 ลงวันที่ 13 ก.ค. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=1184)
  • พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ยื่นคำร้องขอยกเลิกฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ ระบุว่า ตามที่พนักงานสอบสวน ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหานี้ไว้ระหว่างสอบสวนเป็นครั้งที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 7 - 18 ก.ค. 2559 นั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2559 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา จึงขอยกเลิกฝากขังผู้ต้องหาตั้งแต่เวลานี้ โดยศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาต

    (อ้างอิง: คำร้องขอยกเลิกฝากขัง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ ฝพ.20/2559 ลงวันที่ 13 ก.ค. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=1184)
  • เวลา 10.30 น. ทนายความของพัฒน์นรีได้รับแจ้งจาก พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง ว่า อัยการศาลทหารมีความเห็นสั่งฟ้องนายบุรินทร์ ผู้ต้องหาที่ 1 และ น.ส.พัฒน์นรี ผู้ต้องหาที่ 2 ในความผิดฐาน “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3)

    โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดการเข้ารายงานตัวของพัฒน์นรี เนื่องจากได้รับการติดต่อกระทันหัน ทนายไม่สามารถเตรียมตัวได้ทันและยังไม่ได้เตรียมเงินประกันตัว ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินราว 500,000 บาท

    ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายศาลทหารได้อนุญาตพัฒน์นรีให้เลื่อนเข้ารายงานตัวเป็นวันที่ 1 ส.ค. 2559

    (อ้างอิง: หนังสือเรื่องขอให้ส่งตัวผู้ต้องหา ที่ กห.0202.2.1/501 ลงวันที่ 22 ก.ค. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=1273)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นฟ้อง น.ส.พัฒน์นรี ต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐาน “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3)

    คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559 พัฒน์นรีร่วมกับบุรินทร์ พิมพ์ข้อความสนทนาโต้ตอบกันผ่านเฟซบุ๊ก โดยข้อความที่อัยการเห็นว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 มาจากบุรินทร์ฝ่ายเดียว แต่อัยการระบุในคำฟ้องว่า การกระทำของพัฒน์นรีและบุรินทร์เป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาทขณะนั้นเสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท

    หลังศาลรับฟ้อง จำเลยได้ยื่นขอประกันตัวด้วยวงเงินจำนวน 500,000 บาท ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันตัว โดยมีเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาตและห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง

    เวลา 17.00 น. พัฒน์นรี ถูกปล่อยตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=1478)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดถามคำให้การ เมื่อเริ่มกระบวนพิจารณาคดี อัยการได้แถลงขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ เนื่องจากเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และข้อความที่ปรากฎในคำฟ้อง รวมถึงการนำสืบพยานหลักฐานและการพิจารณาคดี เป็นข้อเท็จที่หากพิจารณาโดยเปิดเผย อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกในหมู่ประชาชน

    ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบัน อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกในหมู่ประชาชน เพื่อประโยชชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงให้พิจารณาคดีเป็นการลับตั้งแต่นัดนี้จนศาลชั้นต้นพิพากษา ตามที่โจทก์แถลง โดยอนุญาตให้อยู่ในห้องพิจารณาได้เฉพาะ โจทก์ จำเลย ทนายจำเลย พยานที่คู่ความจะนำเข้าสืบ เจ้าหน้าที่หน้าบังลังค์ ผู้ประกันตัวจำเลย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาล

    จากนั้นศาลได้อ่านคำฟ้องและถามคำให้การ พัฒน์นรีให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี อัยการแถลงขอสืบพยาน ทนายจำเลยแถลงขอให้ศาลกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 มี.ค. 2560

    ทั้งนี้ อัยการทหารแยกฟ้องพัฒน์นรีกับบุรินทร์เป็นคนละคดี ในส่วนของบุรินทร์ ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การเมื่อ 25 พ.ย. 2559 แต่บุรินทร์ได้ขอเลื่อนให้การต่อศาลเนื่องจากเพิ่งแต่งทนายความเข้ามาในคดี และขอปรึกษาทนายความก่อน ศาลทหารจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดถามคำให้การไปเป็นวันที่ 24 ม.ค. 2560

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=3046)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดตรวจพยานหลักฐาน โจทก์แถลงขอนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 17 ปาก ทนายจำเลยแถลงสืบพยานบุคคลจำนวน 5 ปาก โดยในนัดหน้าโจทก์ขอสืบพยานโจทก์ ในลำดับที่ 1 ตามบัญชีระบุพยานโจทก์ คือ ร้อยโท ชวิน ชยาวิวัฒนาวงศ์ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปาก ร้อยโทชวิน ในวันที่ 16 มิ.ย. 2560

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 29 มี.ค. 2560)

  • ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก ร.ท.ชวิน ชยาวิวัฒนาวงศ์ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหาในคดีนี้

    ร.ท.ชวินเบิกความตอบอัยการถึงเหตุที่เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลย จากนั้นทนายจำเลยแถลงว่า ขอให้ศาลหมายเรียกบันทึกประจำวันรับแจ้งความดำเนินคดีจากพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เพื่อใช้ประกอบการถามค้านพยานปากนี้ ประกอบกับทนายจำเลยมีประเด็นที่จะถามค้านพยานปากนี้เป็นจำนวนมาก จึงขอเลื่อนไปถ้ามค้านพยานปากนี้ในนัดหน้า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงให้เลื่อนสืบพยานโจทก์ปาก ร.ท.ชวิน เพื่อให้ทนายจำเลยถามค้านไปในวันที่ 4 ก.ย. 2560 และหมายเรียกเอกสารตามที่ทนายจำเลยแถลง

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2560)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก ร.ท.ชวิน ชยาวิวัฒนาวงศ์ ต่อจากนัดที่แล้ว เพื่อให้ทนายจำเลยถามค้าน คู่ความมาศาล ส่วนนายประกันไม่มาศาลเนื่องจากบิดาป่วย โจทก์แถลงว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้ไม่มาศาล เนื่องจากติดราชการจำเป็นเร่งด่วน โจทก์ยังประสงค์จะสืบพยานปากนี้ เนื่องจากเป็นพยานสำคัญในคดี จึงขอเลื่อนสืบพยานปากนี้ไป ศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงให้เลื่อนสืบ ร.ท.ชวิน ไปเป็นในวันที่ 26 ธ.ค. 2560

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 4 ก.ย. 2560)

  • โจทก์นำ ร.ท.ชวิน ชยาวิวัฒนาวงศ์ พยานโจทก์ที่นัดไว้เข้าสืบเพื่อให้ทนายจำเลยถามค้าน

    ร.ท.ชวิน เบิกความตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับขั้นตอนการซักถามผู้ที่ถูกจับกุมตามคำส้่ง คสช. และการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน การตรวจสอบเฟซบุ๊กของนายบุรินทร์ และความเห็นของพยานต่อข้อความที่เป็นการสนทนาส่วนตัวระหว่างนายบุรินทร์กับจำเลยตามฟ้องของโจทก์

    ร.ท.ชวินตอบคำถามค้านของทนายจำเลยจนเสร็จ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไป จ.ส.อ.ระวีโรจน์ พวงคต ในวันที่ 4 เม.ย. 2561

    (อ้างอิง: คำให้การพยานและรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2560)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 จ.ส.อ.ระวีโรจน์ พวงคต สังกัดกองพันทหารสื่อสารที่ 12 รอ. เป็นรองหัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็ว ปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่รักษาความสงบในเขตราชเทวี ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

    จ.ส.อ.ระวีโรจน์ เบิกความตอบคำถามอัยการศาลทหารเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมตัวนายบุรินทร์ ผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลย จาก สน.พญาไท ไปควบคุมไว้ที่ มทบ.11 และกองร้อยทหารสารวัตร กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ และความเห็นต่อข้อความสนทนาในช่องแชทส่วนบุคคลของจำเลยกับนายบุรินทร์

    จากนั้นพยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยเกี่ยวกับการพูดคุยของพยานกับนายบุรินทร์ขณะควบคุมตัวนายบุรินทร์ไปไว้ที่กองร้อยทหารสารวัตร และการเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนในคดีนี้

    หลังเสร็จการสืบพยานปากนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไป ร.ต.ทรรศภณ วงศ์น้อย ในวันที่ 2 ก.ค. 2561

    (อ้างอิง: คำให้การพยานและรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 4 เม.ย. 2561)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ร.ต.ทรรศภณ วงศ์น้อย เจ้าหน้าที่ทหารที่ซักถามนายบุรินทร์ โจทก์แถลงว่า พยานโจทก์ที่นัดไว้ไม่มาศาล เนื่องจากติดเข้ารับการศึกษาหลักสูตรชั้นนายร้อย กรมการทหารสื่อสาร โจทก์ยังประสงค์จะสืบพยานปากนี้ เนื่องจากเป็นพยานสำคัญในคดี จึงขอเลื่อนสืบพยานปากนี้ออกไปก่อน นัดหน้าขอนำพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.รัฐศาสตร์ ไชยพลี เข้าสืบ ศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงให้เลื่อนสืบ ร.ต.ทรรศภณ ออกไปก่อน และให้สืบ พ.ต.ท.รัฐศาสตร์ ในวันที่ 24 ก.ย. 2561

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 2 ก.ค. 2561)
  • ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 พ.ต.ท.รัฐศาสตร์ ไชยพลี กก.3 บก.ปอท. ผู้รับมอบตัวจำเลยในคดีนี้ รวมถึงนายบุรินทร์

    พ.ต.ท.รัฐศาสตร์ เบิกความตอบคำถามอัยการศาลทหารเกี่ยวกับการซักถามนายบุรินทร์ถึงข้อความที่สนทนาทางช่องแชทกับจำเลย และการจัดทำบันทึกการซักถาม การรับมอบตัวจำเลย จัดทำบันทึกการมอบตัว การค้นบ้านจำเลย และการส่งตัวจำเลยให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี รวมทั้งความเห็นต่อบทสนทนาตามฟ้องโจทก์

    พยานยังได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยเกี่ยวกับความเห็นต่อบทสนทนาของจำเลยและนายบุรินทร์ รวมทั้งคำให้การของทั้งสองในชั้นจับกุม

    เสร็จการสืบพยานปากนี้ ศาลนัดสืบพยานปากต่อไป นายพงศธร วรรณสุคนธ์ ในวันที่ 2 พ.ย. 2561

    (อ้างอิง: คำให้การพยานและรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 24 ก.ย. 2561)
  • ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 4 นายพงศธร วรรณสุคนธ์ สังกัดกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสารสนเทศ กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของจำเลยและนายบุรินทร์

    นายพงศธรเบิกความตอบคำถามอัยการศาลทหารเกี่ยวกับการตรวจสอบการมีอยู่ของบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กของจำเลยและนายบุรินทร์ การใช้งานโปรแกรมแมสเซนเจอร์ในการส่งข้อความและการเข้าถึงโดยบุคคลอื่น

    ต่อมา นายพงศธรตอบคำถามค้านของทนายจำเลยเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์เพื่อยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ รวมทั้งให้ความเห็นต่อพยานหลักฐานในคดีนี้ซึ่งเป็นการบันทึกภาพจากหน้าจอคอมพิวเตอร์

    เสร็จการสืบพยานปากนี้ ศาลนัดสืบพยานปากต่อไป นายศรายุทธ สังวาลย์ทอง และนายชัพวิชญ์ ทั่งทอง บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความ ในวันที่ 8 ก.พ. 2562

    (อ้างอิง: คำให้การพยานและรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 2 พ.ย. 2561)
  • เดิมอัยการทหารจะนำพยานเข้าสืบในนัดนี้จำนวน 2 ปาก ได้แก่ นายศรายุทธ สังวาลย์ทอง และนายชัพวิชญ์ ทั่งทอง แต่พยานทั้งสองปากไม่มาศาล โดยไม่ทราบผลการส่งหมายเรียกพยาน ศาลทหารจึงให้เลื่อนการนัดสืบพยานทั้งสองปากออกไปเป็นวันที่ 5 มิ.ย. 2562

    ตั้งแต่การสั่งฟ้องคดีจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 6 เดือนเศษ ศาลทหารมีการนัดหมายคดีไปจำนวนทั้งสิ้น 10 นัด ในจำนวนนัดทั้งหมดนี้ต้องเลื่อนการสืบพยานไป 3 นัด เนื่องจากพยานไม่มาศาล ทำให้คดีนี้ทำการสืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งหมด 4 ปาก โดยที่ทางฝ่ายโจทก์มีการระบุบัญชีพยานไว้ทั้งหมด 17 ปาก และฝ่ายจำเลยระบุพยานอีก 5 ปาก ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีกว่าคดีจะสืบพยานแล้วเสร็จ

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 8 ก.พ. 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=10826)
  • ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 5 และที่ 6 นายศรายุทธ สังวาลย์ทอง พนักงานบริษัท และนายชัพวิชญ์ ทั่งทอง อาชีพขับรถตู้รับจ้าง เป็นบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความแล้วให้ความเห็น

    นายศรายุทธและนายชัพวิชญ์เบิกความตอบอัยการศาลทหาร และตอบคำถามค้านของทนายจำเลยเกี่ยวกับความเห็นของพยานต่อข้อความการสนทนาในเฟซบุ๊กระหว่างจำเลยและนายบุรินทร์

    หลังการสืบพยานทั้ง 2 ปากเสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานปากต่อไป ร.ต.อ.สุธิรพงศ์ ชัยศิริ ในวันที่ 28 ส.ค. 2562

    (อ้างอิง: คำให้การพยานและรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 5 มิ.ย. 2562)

  • ศาลทหารกรุงเทพแจ้งให้คู่ความทราบว่า ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เรื่องการยกเลิกประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 โดยในข้อที่ 2 กำหนดให้การกระทำความผิดตามประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้โอนคดีนั้นๆ ไปยังศาลยุติธรรม

    ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารอีกต่อไป แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงให้ยกเลิกนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28 ส.ค. 2562 และงดการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว กับให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลนี้ ให้สัญญาประกันยังมีผลต่อไป

    ตั้งแต่อัยการทหารยื่นฟ้องคดีนี้จนถึงวันนี้ซึ่งศาลทหารมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรมเป็นเวลา 3 ปีเศษ ศาลทหารกรุงเทพสืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งหมด 6 ปาก จากทั้งหมด 17 ปาก และยังมีพยานจำเลยที่ต้องสืบอีก 5 ปาก

    (อ้างอิง: รายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 194/2559 ลงวันที่ 6 ส.ค. 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=13244)
  • ศาลอาญา รัชดาฯ นัดพร้อมเพื่อกำหนดวันสืบพยาน หลังคดีโอนย้ายมาจากศาลทหารกรุงเทพ ศาลให้คู่ความตกลงเรื่องการยอมรับหรือตัดพยานในสำนวนคดีที่เหลือ โจทก์แถลงว่า คดีนี้ยังคงมีพยานโจทก์ที่ยังไม่ได้สืบอีก 10 ปาก แต่หากฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงในเอกสารและวัตถุพยานที่โจทก์จะอ้างส่งต่อศาลแทนการสืบพยานบุคคลรวม 9 ปาก โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบพยานดังกล่าว ฝ่ายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารและวัตถุพยานดังกล่าว ทำให้เหลือพยานโจทก์ที่ต้องสืบเพียง 1 ปาก คือ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน

    ส่วนพยานจำเลยยังคงติดใจสืบพยานบุคคลตามบัญชีระบุพยานที่เคยยื่นต่อศาลทหารกรุงเทพ จำนวน 5 ปาก รวมจ่านิวซึ่งถูกคุกคามจากการเป็นนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย โดยคู่ความได้ตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยระหว่างวันที่ 3 – 4 พ.ย. 2563 เวลา 9.00 น.

    จากนั้นในเวลา 14.00 น. พัฒน์นรีได้ถูกควบคุมตัวในห้องใต้ถุนศาลอาญา เพื่อรอให้นายประกันทำเรื่องประกันตัวต่อจากศาลทหารโดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่เคยวางไว้เป็นเงินสด 500,000 บาท หลังการทำเรื่องประกันตัวเสร็จสิ้น ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวพัฒน์นรีชั่วคราว แต่มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3059/2562 ลงวันที่ 29 ม.ค. 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=15893)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นางสาวพัฒน์นรี

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นางสาวพัฒน์นรี

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์