ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 187/2559
แดง 7/2560

ผู้กล่าวหา
  • ร.ท.ชวิน ชยาวิวัฒนาวงศ์ นายทหารพระธรรมนูญ (ทหาร)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 187/2559
แดง 7/2560
ผู้กล่าวหา
  • ร.ท.ชวิน ชยาวิวัฒนาวงศ์ นายทหารพระธรรมนูญ

ความสำคัญของคดี

บุรินทร์ (สงวนนามสกุล) ถูก ปอท. ดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 โดยมีนายทหารเป็นผู้กล่าวหาว่า เขาส่งข้อความสนทนาทางช่องแชทกับพัฒน์นรี แม่ของ "นิว" นักกิจกรรมทางการเมือง และพิมพ์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ บุรินทร์ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน และถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแม้จะมีการยื่นคำร้องถึง 3 ครั้ง ในชั้นพิจารณาของศาลทหาร บุรินทร์จึงให้การรับสารภาพในที่สุด

บทสนทนาที่ถูกทหารนำมากล่าวหาดำเนินคดีเป็นข้อความส่วนตัวระหว่างบุคคล ไม่ได้เผยแพร่ทางสาธารณะ และบุรินทร์ยืนยันว่า ในระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร เขาไม่ได้มอบรหัสผ่านเฟซบุ๊กให้เจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่กลับนำสำเนาเอกสารการสนทนาดังกล่าวมาประกอบการซักถาม จึงเป็นที่สงสัยว่า เจ้าหน้าที่เข้าถึงบทสนทนาส่วนตัวของเขาได้อย่างไร นอกจากนี้ การสนทนาดังกล่าว รวมทั้งการพิมพ์ข้อความที่ถูกนำมาดำเนินคดียังเป็นเพียงการที่บุรินทร์ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง การถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกกว่า 11 ปี ขัดกับหลักความได้สัดส่วนของการลงโทษทางอาญาเป็นอย่างยิ่ง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ฟ้องนายบุรินทร์ ระบุว่า จำเลยเป็นบุคคลพลเรือนได้กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมีการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557 และตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557 จำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดตามกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ในระหว่างที่ประกาศ คสช.ทั้งสองฉบับบังคับใช้ กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559 จำเลยและ น.ส.พัฒน์นรี ได้ร่วมกันกระทำความผิดด้วยการหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ โดยจำเลยและ น.ส.พัฒน์นรีได้ร่วมกันพิมพ์ข้อความสนทนาโต้ตอบกันผ่านเฟซบุ๊กของจำเลยและของ น.ส.พัฒน์นรี โดยกล่าวถึงความเดือดร้อนของประชาชน การสืบสันตติวงศ์ และการรัฐประหารในปี 2549 ข้อความดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊กของจำเลยตลอดมาจนถึงวันที่ 27 เม.ย. 2559 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานซึ่งเป็นบุคคลที่สามได้เปิดพบในเฟซบุ๊กของจำเลย การกระทำดังกล่าวของจำเลยและ น.ส.พัฒน์นรี เป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์และรัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

2. เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2559 จำเลยได้พิมพ์ข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลย ซึ่งเมื่อบุคคลที่สามได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้วย่อมเกิดความเข้าใจผิดต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง และถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

คดีนี้จำเลยถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 1520/2552 ของศาลจังหวัดพะเยา ให้จำคุกในความผิดฐานอื่น มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน พ้นโทษเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2554 จำเลยได้มากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ จึงขอให้ศาลเพิ่มโทษในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92

(อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำเลขที่ 187/2559 คดีแดงที่ 7/2560 ลงวันที่ 27 ม.ค. 2560)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังนายบุรินทร์ถูกทหารควบคุมตัวจาก สน.พญาไท นำไปควบคุมไว้ที่ มทบ.11 โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นวันที่ 3 เวลา 16.30 น. พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. ได้นำตัวเขาไปที่ บก.ปอท. พร้อมซีพียูคอมพิวเตอร์จำนวน 3 เครื่อง ที่ได้จากการตรวจยึดมาจากที่พักของเขา มาส่งให้ พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง รอง ผกก. (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพที่ 33/2559 ลงวันที่วันเดียวกันนี้ (29 เม.ย. 2559)

    จากนั้นเวลาประมาณ 21.00 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 ข้อความ เบื้องต้น นายบุรินทร์ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ส่วนรายละเอียดอื่นๆ จะไปให้การในชั้นศาล

    (อ้างอิง: บันทึกการตรวจยึด ลงวันที่ 29 เม.ย. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=2492)
  • พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง นำตัวบุรินทร์ไปยื่นคำร้องขออำนาจศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน โดยระบุว่า เนื่องจากยังต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในสำนวนคดี ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. - 11 พ.ค. 2559 บุรินทร์จึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยยังไม่มีการยื่นประกันตัว

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=2492)
  • พนักงานสอบสวนกองกำกับการ 3 บก.ปอท. ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ 2 ต่อศาลทหารกรุงเทพ ระบุว่า เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องทำการสอบสวนพยานบุคคลอีก 6 ปาก, รอผลการตรวจพิสูจน์เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการตรวจยึดมาจากบ้านพักของผู้ต้องหา, รอการตรวจสอบข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์มือถือและผลการตรวจสอบประวัติลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา

    ขณะเดียวกัน นายอานนท์ นำภา ทนายความของนายบุรินทร์ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 2 ให้เหตุผลว่า คดีนี้ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธและขอให้การในชั้นศาลแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ส่วนการตรวจสอบอาชญากรรมและการสอบสวนพยานอื่นก็เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา อีกทั้งพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนผู้ต้องหาโดยใช้เวลาพอสมควรแล้ว จึงไม่อาจอ้างเพื่อขอฝากขังผู้ต้องหาได้อีกในผัดนี้ ผู้ต้องหามีถิ่นที่อยู่แน่นอน ไม่ปรากฎว่ามีพฤติการณ์จะหลบหนี การควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ทำให้ผู้ต้องหาขาดโอกาสในการแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดี รวมทั้งผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของ คสช. ในการสร้างความกลัวโดยการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 แต่ในระยะยาวที่ประเทศไทยต้องดำรงอยู่ในสังคมโลกย่อมเป็นผลเสียและกระทบต่อความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทย

    นอกจากนี้ คำร้องของผู้ต้องหายังขอให้ศาลเปิดการไต่สวนคำร้องฝากขัง และให้ทนายความของผู้ต้องหาได้ถามค้านพนักงานสอบสวน แต่ตุลาการศาลทหารกรุงเทพพิจารณาคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2 แล้ว เห็นว่าพนักงานสอบสวนมีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างการสอบสวน จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาไว้มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-23 พ.ค. 2559 ให้ยกคำร้องคัดค้านการฝากขังของผู้ต้องหา

    ทั้งนี้ ทนายความผู้ต้องหายังไม่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากอยู่ในระหว่างการรวบรวมหลักทรัพย์

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 2, คำร้องขอคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 2 และรายงานพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ ฝพ.19/2559 ลงวันที่ 11 พ.ค. 2559 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/05/11/burin112case/)
  • พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ยื่นคำร้องขอฝากขังนายบุรินทร์เป็นครั้งที่ 3 มีกำหนด 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. - 4 มิ.ย. 2559 เนื่องจากต้องทำการสอบสวนพยานบุคคลอีก 4 ปาก, รอผลการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต โทรศัพท์มือถือของกลาง และผลการตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายบุรินทร์มาศาลด้วย

    ศาลทหารกรุงเทพพิจารณาเห็นควรให้ฝากขังต่อเป็นเวลา 12 วัน จากนั้น ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายบุรินทร์ พร้อมวางเงินประกันเป็นเงินสด 300,000 บาท แต่ศาลทหารพิจารณาเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัวออกไปเกรงว่าอาจจะหลบหนีได้ จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ ฝพ.19/2559 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2559 และ https://www.thairath.co.th/content/624747)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ 4 มีกำหนด 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 5 - 16 มิ.ย. 2559 เนื่องจากต้องทำการสอบสวนพยานบุคคลอีก 2 ปาก, รอผลการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต โทรศัพท์มือถือของกลาง และผลการตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา พร้อมกันนี้พนักงานสอบสวนได้คัดค้านขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

    ในส่วนผู้ต้องหา ทนายความก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 4 และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้และผู้ต้องหาจะได้รับผลกระทบต่อการประกอบสัมมาชีพและสภาวะจิตใจของครอบครัวผู้ต้องหาอย่างมาก คดีนี้ผู้ต้องหาได้ให้การในชั้นสอบสวนในข้อเท็จจริงโดยละเอียดแล้ว พยานหลักฐานทั้งหมดก็ถูกพนักงานสอบสวนยึดอายัดไว้ตามกฎหมายแล้ว ผู้ต้องหาไม่สามารถจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้อีก อีกทั้งพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนถึง 3 ผัดแล้ว นานเพียงพอที่จะสอบสวนพยานหลักฐานได้ครบถ้วน การฝากขังครั้งนี้จึงกระทบต่อเสรีภาพของผู้ต้องหาจนเกินความจำเป็น

    นอกจากนี้ ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ที่ถูกฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้น ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคี

    อย่างไรก็ตาม หลังศาลทหารไต่สวนพนักงานสอบสวนและทนายความผู้ต้องหาแล้วเห็นว่า การสอบสวนของพนักงานสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาต่อเป็นครั้งที่ 4 ตามที่พนักงานสอบสวนขอ

    ทนายความผู้ต้องหาจึงยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเป็นครั้งที่ 2 โดยวางเงินสดจำนวน 400,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ประกัน ระบุเหตุผลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยอ้างอิงหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งบุคคลทุกคนที่ต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาก็จะได้มีโอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่ศาลยังมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ 4, คำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 4, รายงานพิจารณา และคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ ฝพ.19/2559 ลงวันที่ 3 มิ.ย. 2559)
  • พนักงานสอบสวน บก.ปอท. นำตัวนายบุรินทร์ซึ่งถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เข้ายื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 5 ต่อศาลทหารกรุงเทพ ในคำร้องฝากขังระบุเหตุผลว่า พนักงานสอบสวนยังต้องรอผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานคอมพิวเตอร์ของกลางและข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา พร้อมกันนี้พนักงานสอบสวนได้คัดค้านขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

    ด้านทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 5 และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน แต่ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตฝากขังผู้ต้องหามีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 - 28 มิ.ย. 2559 ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมยื่นหลักทรัพย์ประกันเงินสด 500,000 บาท ระบุเหตุผลประกอบว่า ศาลทหารกรุงเทพได้ทำการไต่สวนในคดีระหว่าง พนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 บก.ปอท. กับนางสาวพัฒน์นรี ซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นคนเดียวกันกับคดีนี้ และผู้ต้องหาเป็นคู่คดีกับคดีนี้ โดยพนักงานสอบสวนได้ตอบทนายความผู้ต้องหาซักถามได้ความว่า ที่ต้องคัดค้านการประกันตัวเป็นเพียงระเบียบของทางราชการเท่านั้น และศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวนางสาวพัฒน์นรีไปโดยวางหลักทรัพย์จำนวน 500,000 บาท เมื่อคดีนี้กับคดีดังกล่าวมีมูลเหตุคดีเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนก็เป็นสำนวนเดียวกัน จึงขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวนายบุรินทร์เช่นเดียวกับนางสาวพัฒน์นรีด้วย

    ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง ประกอบกับคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี อีกทั้งศาลเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว นอกจากนี้ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้อยู่ที่ศาลและติดต่อไม่ได้ จึงยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 5, คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ ฝพ. 19/2559 ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2559 และ https://www.tlhr2014.com/?p=631)
  • รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กก.3บก.ปอท. เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อนายบุรินทร์ขณะที่นายบุรินทร์ถูกขังระหว่างการสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

    บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมระบุว่า เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีนี้ เป็นกรณีที่ผู้ต้องหาซึ่งใช้บัญชีเฟซบุ๊กของตนเองโพสต์ข้อความสนทนากับบัญชีเฟซบุ๊กของ น.ส.พัฒน์นรี เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559 ระหว่างเวลา 22.23 น. ถึง 22.35 น. มีเนื้อหาที่เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน โดยผู้ต้องหาได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการยึดอำนาจปี 49, การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 9 และวิธีการปกครองของพระองค์ โดย น.ส.พัฒน์นรีได้ตอบกลับด้วยคำว่า “จ้า” ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นการยอมรับและเห็นด้วยกับการโพสต์ข้อความของผู้ต้องหา พฤติการณ์ทางคดีจึงเป็นเรื่องการกระทำความผิดร่วมกันระหว่างผู้ต้องหาและ น.ส.พัฒน์นรี จึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อผู้ต้องหาว่า “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3)

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559)
  • วันนี้ซึ่งเป็นวันครบฝากขังผัดที่ 7 ของนายบุรินทร์ อัยการศาลทหารกรุงเทพได้มีคำสั่งฟ้องนายบุรินทร์ ผู้ต้องหาที่ 1 และ น.ส.พัฒน์นรี ผู้ต้องหาที่ 2 ในความผิดฐาน “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) แม้ว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องพัฒน์นรีหรือแม่จ่านิวในคดีนี้

    แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนเพิ่งโทรศัพท์แจ้งทนายความของพัฒน์นรีในตอนเช้าวันเดียวกันนี้ ทำให้พัฒน์นรีไม่สามารถมาศาลได้ และยังไม่ได้เตรียมเงินประกันตัว ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินราว 500,000 บาท ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดการเข้ารายงานตัวของพัฒน์นรี เป็นวันที่ 1 ส.ค. 2559

    ในส่วนของบุรินทร์ ซึ่งไม่ได้ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำ อัยการศาลทหารกรุงเทพได้ยื่นฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพแล้วในวันนี้ โดยศาลยังไม่ได้กำหนดวันนัดสอบคำให้การ

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=1273 และ https://prachatai.com/journal/2016/07/67006)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอเลื่อนการสอบคำให้การไปก่อน เนื่องจากจำเลยเพิ่งแต่งตั้งทนายความ คือ อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นทนายในการสู้คดี จึงต้องการเวลาในการปรึกษาแนวทางคดีก่อนที่จะให้การต่อศาล องค์คณะตุลาการศาลทหาร ได้แก่ น.อ.กมล ธรรมพิทักษ์, พ.อ.ธวัชชัย สุพรรณ และ พ.ท.สุพัฒน์ อติเรก พิจารณาแล้วอนุญาตให้เลื่อนสอบคำให้การในคดีนี้ไปเป็นวันที่ 24 ม.ค. 2560

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=2894)
  • ศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 รวม 2 กรรม กล่าวคือ

    1. เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559 จำเลย และ น.ส.พัฒน์นรี ได้ร่วมกันพิมพ์ข้อความสนทนาโต้ตอบกันผ่านเฟซบุ๊กของทั้งสอง โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์และรัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติยศฯ อันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

    2. เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2559 จำเลยได้พิมพ์ข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลย ซึ่งเมื่อบุคคลที่สามได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้วย่อมเกิดความเข้าใจผิดต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

    จากนั้น ศาลได้ถามคำให้การ บุรินทร์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดมาฟังคำพิพาษาวันที่ 27 ม.ค. 2560

    ทั้งนี้ อัยการทหารแยกฟ้องบุรินทร์กับพัฒน์นรีเป็นคนละคดี แม้จะฟ้องในกระทงแรกว่า ทั้งสองร่วมกันกระทำความผิด โดยพัฒน์นรียืนยันให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=3364)
  • ศาลทหารกรุงเทพอ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผย ไม่ปิดลับเช่นคดี 112 อื่นๆ โดยพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดรวม 2 กระทง

    1. ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3) (จากการแชทในเฟซบุ๊ก) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 อันมีโทษหนักที่สุด จำคุก 7 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 9 ปี 4 เดือน จำเลยรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 4 ปี 8 เดือน

    2. ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1)(3) (จากการพิมพ์ข้อความในเฟซบุ๊ก) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 อันมีโทษหนักที่สุด จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน จำเลยรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 8 เดือน

    รวมโทษ 2 กระทง คงให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 10 ปี 16 เดือน ตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอศาลให้ลงโทษในสถานเบานั้น ศาลพิเคราะห์จากสภาพแห่งความผิดและพฤติการณ์ที่จำเลยได้กระทำไป เห็นว่าศาลได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว จึงให้ยกคำขอของจำเลย

    สาเหตุที่มีการเพิ่มโทษเนื่องจากนายบุรินทร์เคยถูกพิพากษามีโทษจำคุกมาก่อนและเพิ่งพ้นโทษเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดซ้ำภายใน 5 ปี

    หลังฟังคำพิพากษาบุรินทร์ได้แจ้งทนายความว่าไม่ประสงค์จะอุทธรณ์ในคดีนี้แล้ว

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 187/2559 คดีแดงที่ 7/2560 ลงวันที่ 27 ม.ค. 2560 และ https://www.tlhr2014.com/?p=3403)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายบุรินทร์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายบุรินทร์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. พ.อ.ธวัชชัย สุพรรณ
  2. พ.ท.สุพัฒน์ อติเรก

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 27-01-2017

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์