สรุปความสำคัญ

กลุ่มประชาชนจัดกิจกรรม ‘รวมพลคนอยากเลือกตั้ง’ เมื่อวันที่เสาร์ที่ 27 มกราคม 2558
ถูกออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา หลังจากจัดกิจกรรมที่บริเวร skywalk หอศิลป์กรุงเทพฯ
เป็นจำนวน 39 คน หรือเรียกอีกชื่อหนี่งว่า ‘MBK39’

คดี MBK39 นับเป็นคดีที่ตำรวจเร่งรัดดำเนินคดีอย่างมาก เนื่องจากออกหมายเรียกระหว่างวันที่ 29-30 ม.ค. 2561 แต่เรียกให้มาพบพนักงานสอบสวนวันที่ 2 ก.พ. 2561 โดยให้เวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ไม่เปิดเผยชื่อ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นางนัตยา ภาณุทัต
    • นางสาวพัฒน์นรี
    • นายวีระ สมความคิด
    • อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ (ฟอร์ด เส้นทางสีแดง)
    • นายสมบัติ บุญงามอนงค์
    • นายวราวุธ (สุชาติ นาคบางไทร) ฐานังกรณ์
    • นายนพพร (เต้ มดแดง) นามเชียงใต้
    • นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
    • นางสาวมัทนา อัจจิมา
    • นายเอกศักดิ์ สุพรรณขันธ์
    • นางรักษิณี แก้ววัชระรังษี
    • นางจุฑามาศ ทรงเสี่ยงไชย
    • นางพรนิภา งามบาง
    • นางกมลวรรณ หาสาลี
    • นายพรชัย ประทีปเทียนทอง
    • นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด
    • นายสุรศักดิ์ อัศวเสนา
    • นางนภัสสร บุญรีย์
    • นายคุณภัทร คะชะนา
    • นายกันต์ แสงทอง
    • นายกิตติธัช สุมาลย์นพ
    • รศ.สุดสงวน สุธีสร
    • สุวรรณา ตาลเหล็ก
    • นางสาวณัฏฐา มหัทนา
    • นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ
    • นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ
    • นายสุวัฒน์ ลิ้มสุวรรณ
    • นางประนอม พูลทวี
    • นายสงวน คุ้มรุ่งโรจน์
    • นางพรวลัย ทวีธนวาณิชย์
    • นางสาวอรัญญิกา จังหวะ
    • นายวรัญชัย โชคชนะ
    • นายสามารถ เตชะธีรรัตน์
    • นางสาวอ้อมทิพย์ เกิดผลานนท์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์
    • อานนท์ นำภา
    • นายเอกชัย หงส์กังวาน
    • นายรังสิมันต์ โรม
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

27 ม.ค. 2561 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ DGR นัดประชาชนรวมตัวภายหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้โรดแมปการเลือกตั้งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี เคยประกาศไว้ว่าน่าจะจัดการเลือกตั้งประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องเลื่อนออกไป

การชุมนุมเริ่มขึ้นเวลาประมาณ 17.30 น. บริเวณสกายวอล์ก หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง สี่แยกปทุมวัน โดยมีนายรังสิมันต์ โรม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน นางสาวณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน และประชาชนจำนวนมากเข้าร่วม ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ โดยทางตำรวจได้เข้ามาเจรจากับทางแกนนำให้ยุติการชุมนุมภายในเวลา 20.00 น.

นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน ทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นในปีนี้ เป็นเหตุให้ต้องออกมาแสดงพลังเพื่อส่งสัญญาณให้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับรู้ว่า ประชาชนไม่ต้องการให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอีกแล้ว

ด้านนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้พรากสิทธิของประชาชนในการเลือกตั้ง ซึ่งได้ประกาศว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชน แต่ในวันนี้กลับผิดคำสัญญา รัฐบาลบอกว่า จะมาปราบโกง แต่ก็โกงเหมือนกัน เช่น กรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่แม้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.จะบอกว่านาฬิกาเป็นของเพื่อนไม่ต้องชี้แจงก็ได้ แต่ถ้ากรณีนี้เป็นนักการเมืองในระบอบการเลือกตั้งพูดแบบนี้ ตนถามจะอยู่ต่อไปได้หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ตามกฏหมายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินถือว่า มีความผิด (อ้างอิง: http://www.voicetv.co.th/read/S1mYfQqBM)

29 ม.ค. 2561 พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ปทุมวัน ได้รับแจ้งความจาก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฎิบัติหน้าที่ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ หลังได้รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้มาร้องทุกข์ดำเนินคดี 1.นายรังสิมันต์ โรม 2.นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 3.น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา 4.นายอานนท์ นำภา 5.นายเอกชัย หงส์กังวาน 6.นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ 7.นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

สืบเนื่องจาก กองกำลังรักษาความสงบ กองทัพภาคที่ 1 ได้ตรวจสอบการใช้เฟสบุ๊ค เพจ พลเมืองโต้ตอบ Resistant Citizen พบว่ามีการแชร์โพสต์ของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group เมื่อวันที่ 25 ม.ค. เวลา 22.00 น.โดยมีข้อความว่า นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้งแสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.ในวันเสาร์ที่ 27 ม.ค.2561 เวลา 17.30 น. ที่สกายวอล์คปทุมวัน ซึ่งเป็นการเชิญชวนให้กลุ่มของตนเองและประชาชนที่มีแนวคิดเหมือนกันมาเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมต่อต้าน คสช.และยังได้อัพเดทข้อความนัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้งแสดงพลังต่อต้านสืบทอดอำนาจ คสช.ในวันเสาร์ที่ 27 ม.ค.เวลา 17.30 น.ที่สกายวอล์ค ปทุมวัน จึงได้รายงานให้ คสช.ทราบและดำเนินการสืบสวนหาข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายรังสิมันต์กับพวก ทาง คสช.เห็นว่า การปราศรัยดังกล่าวเป็นการชุมนุมกันเกิน 5 คนในที่สาธารณะ เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและเป็นการกระทำด้วยวาจาอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง จึงมอบหมายให้ พ.อ.บุรินทร์ มาแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนนายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว เคยถูกศาลจังหวัดขอนแก่นตัดสินจำคุก 6 เดือน โดยรอลงอาญาไว้ 2 ปี ห้ามออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ตอนนี้ผิดเงื่อนไขศาล ทางตำรวจต้องทำเรื่องส่งไปที่ศาลขอนแก่น เพื่อพิจารณาต่อไป (อ้างอิง: https://www.dailynews.co.th/politics/624392)

31 ม.ค. 2561 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล กล่าวว่า ได้เชิญชุดสืบสวนสอบสวนและพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ซึ่งทำคดีการชุมนุมของกลุ่มเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเข้าพบเพื่อเร่งรัดติดตามคดี หลังออกหมายเรียกแกนนำชุมนุมไปแล้ว 7 คน

รอง ผบ.ตร. กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 61 นางนวพร กลิ่นบัวแก้ว ผู้อำนวยการสานักงานเขตปทุมวัน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ยืนยันว่าจุดที่จัดให้มีการชุมนุมเป็นพื้นที่สาธารณะ พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงค์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) หัวหน้างานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพิ่มเติม รวม 39 คน ในความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ฐานร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังของรัชทายาทหรือของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พุทธศักราช 2558 มาตรา 7 วรรคแรก โดยให้ทั้งหมดมาพบพนักงานสอบสวนในวันศุกร์ที่ 2 ก.พ. นี้ ซึ่งในจำนวนนี้มี 7 คน ที่ถูกออกหมายเรียกไปก่อนหน้าด้วย

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจาก 39 รายนี้แล้ว การรวบรวมพยานหลักฐานของชุดสืบสวนสอบสวน ที่ติดตามผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ไปหลายจุด มากว่า 6-7 ท้องที่ พบว่า ยังมีผู้เข้าข่ายร่วมชุมนุม ปรากฏตามหลักฐานของเจ้าหน้าที่ ทั้งภาพเคลื่อนไหว ภาพถ่าย การถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 66 คน กำลังพิสูจน์ทราบตัวบุคคล หากทราบตัวว่าเป็นใครชื่ออะไร มีข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน ก็จะออกหมายเรียก แต่หากไม่สามารถออกหมายเรียกได้ก็ต้องออกหมายจับ ทั้งนี้ ใครที่ร่วมชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมาย ต้องดำเนินคดีทุกคน ไม่เว้นไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือแนวร่วมเอาหมด หากมีความผิดอื่นเพิ่มเติมก็แจ้งข้อหาเพิ่ม ถ้ายังมาชุมนุมอีกแบบผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินคดีอีก รอง ผบ.ตร.กล่าวด้วยว่า จากการสอบถามตำรวจท้องที่ก็ทราบว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา ไม่ได้ขออนุญาตก่อน หากขอก็คงไม่อนุญาตเพราะอยู่ในรัศมีเขตพระราชฐานห้ามชุมนุมอยู่แล้ว (อ้างอิง: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/790787)

6 ก.พ. 2561 นพเก้า คงสุวรรณ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวข่าวสด หนึ่งใน 39 ผู้ถูกกล่าวหาในคดีขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊กรายงานว่า ตนได้เข้าไปรับฟังข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวันแล้ว โดยพนักงานสอบสวนนำตัวนพเก้าไปที่ศาลเพื่อส่งฟ้องต่ออัยการ ซึ่งนพเก้าปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และอัยการเองก็ยังไม่สั่งฟ้อง เพียงแต่ให้พนักงานสอบสวนไปทำสำนวนมาใหม่ พนักงานสอบสวนจึงยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเพื่อกลับไปทำสำนวนใหม่ และขอฝากขังนพเก้าต่อศาลแขวงปทุมวัน ก่อนที่นพเก้าจะใช้หลักทรัพย์จำนวน 30,000 บาทประกันตัวออกมา และต้องไปรายงานตัวที่ศาลทุก ๆ 6 วัน (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2018/02/75316)

8 ก.พ. 2561 ที่ สน.ปทุมวัน ผู้ต้องหากลุ่ม MBK 39 จำนวน 34 คน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน ในเบื้องต้นพวกเขาเกือบทั้งหมดปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยังไม่ให้การใดๆ กับพนักงานสอบสวน โดยจะทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรส่งในภายหลัง มีเพียง 1 รายที่ให้การรับสารภาพ

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาฝ่าฝืนฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ข้อ 12, ข้อหาชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา รวม 3 ข้อหา แก่ผู้ต้องหาจำนวน 5 คน ได้แก่ น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา, นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ, นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และนายวีระ สมความคิด

ทั้งนี้ นายสมบัติและนายวีระ 2 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นเพิ่มเติม ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าในเหตุการณ์วันนั้นพวกตนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่มาขอสัมภาษณ์เท่านั้นไม่ได้ร่วมขึ้นปราศรัยแต่อย่างใด ตามที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังพราหมณกุล รองผบ.ตร.กล่าวหาพวกตน นายสมบัติยังกล่าวอีกว่า กรณีของนายวีระยิ่งหนักกว่าเพราะอยู่ในบริเวณนั้นเพียงครู่เดียวเท่านั้น นายสมบัติยังตั้งข้อสงสัยถึงข้อหาชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานในระยะ 150 เมตร ว่าวันเกิดเหตุ รองผู้กำกับ สน.ปทุมวัน เป็นคนชี้จุดให้ทำกิจกรรมเองด้วยตนเอง

หลังจากที่ทั้ง 5 คนรับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนได้นำตัวไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง

ส่วนกลุ่มผู้ต้องหา 29 คน ที่พนักงานสอบสวนแจ้ง 2 ข้อหา คือ ฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 และชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ หลังรับทราบข้อกล่าวหา โดย 28 คน ให้การปฏิเสธ มีเพียงนายนพพร นามเชียงใต้ ที่ให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนนัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้งหมดเดินทางไปที่ศาลแขวงปทุมวันด้วยตนเองเพื่อทำเรื่องขอผัดฟ้องต่อศาล เนื่องจากคดีนี้พวกเขามารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเองไม่ได้เป็นการจับกุม พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจควบคุมตัวไปศาล (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=6289)

10 ก.พ. 2561 ตั้งแต่เวลาประมาณ 7.15 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 4 นาย เดินทางไปรออยู่ที่หน้าบ้านพักของนายเอกชัย หงส์กังวาน 1 ใน 4 นักกิจกรรมซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้อนุมัติหมายจับ เนื่องจากไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก 2 ครั้ง นายเอกชัยได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่รอเขาทำภารกิจส่วนตัวก่อน

จนเวลา 9.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวนายเอกชัย จากหน้าบ้านพัก โดยมีการแสดงหมายจับ ลงวันที่ 9 ก.พ. 61 ก่อนจะนำตัวไปที่ สน.ปทุมวัน เพื่อทำการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และข้อหาชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่ถึง 150 เมตร ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ

ต่อมา หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมการชุมนุม “หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเวลา 19.45 น. นายรังสิมันต์ โรม, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนายอานนท์ นำภา ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จัดรถตู้มารอรับแล้ว ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับ และนำตัวไป สน.ปทุมวัน จากนั้น ทางพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาเช่นเดียวกับนายเอกชัย ทั้งสามคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ทางนายรังสิมันต์ โรม ยังปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญาด้วย (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=6309 และ https://www.tlhr2014.com/?p=6336)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 01-02-2018
ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีอาญาโดยทันทีต่อนักเคลื่อนไหวทั้ง 39 คน ซึ่งชุมนุมประท้วงอย่างสงบต่อต้านระบอบปกครองของทหารที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561

“การดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวที่ประท้วงต่อต้านระบอบปกครองของทหารอย่างสงบโดยรัฐบาลทหารไทย แสดงให้เห็นว่าไม่มีความจริงใจที่จะผ่อนคลายการปราบปรามทางการเมือง” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ยิ่งมีการดำเนินคดีโดยพลการต่อผู้ที่เห็นต่างและผู้วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ยิ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย” (อ้างอิง: https://www.hrw.org/th/news/2018/02/01/314565)
 
วันที่ : 06-02-2018
ณัฏฐา มหัทธนา พิธีกรโทรทัศน์และอาจารย์ หนึ่งในเก้าผู้ถูกกล่าวหาในคดีแกนนำของกิจกรรม รวมพลคนอยากเลือกตั้ง ที่สกายวอล์กหน้าหอศิลปและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 61 ได้เดินทางไปยังสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ที่อาคารมณียาเพื่อดื่มกาแฟ และแถลงข่าวสืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาดังกล่าวและการระดมทุนประกันตัว การแถลงข่าววันนี้มีผู้ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์เดียวกันหรือที่รู้จักกันในนาม MBK39 มาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง

เมื่อเวลาราว 10.00 น. ผู้สื่อข่าวที่รออยู่บนชั้น Penthouse ที่ตั้งของสมาคมฯ ถูกผู้จัดการอาคารขอให้ลงไปรอณัฏฐาที่ด้านล่าง โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าแต่เดิมการแถลงข่าวจะมีขึ้นที่สมาคมฯ แต่ต้องเปลี่ยนแผนเพราะผู้จัดการอาคารมณียาไม่สะดวกให้ใช้อาคาร ผู้สื่อข่าวมาทราบภายหลังจากโจนาธาน เฮด อดีตประธานสมาคมฯ และผู้สื่อข่าว BBC ที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าเมื่อวานนี้ทางสมาคมฯ ได้ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ลุมพินี เรื่องการมาของณัฏฐาว่าอาจเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ ถ้ามีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งสมาคมฯ ในฐานะเจ้าของสถานที่จึงตัดสินใจไม่ให้จัดแถลงข่าวเพราะอาจมีผลต่อการเปิดทำการของสมาคมฯ แต่ณัฏฐาสามารถเข้ามานั่งดื่มกาแฟได้ตามปรกติในฐานะสมาชิก

เวลาราว 10.30 น. ณัฏฐาได้เดินทางมาถึงอาคารมณียา และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตอนนี้มีความกังวลเพราะ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้บอกผ่านสื่อว่าตั้งใจจะฝากขังแน่ ๆ ซึ่งผิดหลักการกฎหมายเพราะกฎหมายทั่วโลกนั้นผู้ต้องหายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วจะมาตั้งข้อสันนิษฐานว่าจะหนีได้อย่างไรในเมื่อเราไปรอรายงานตัวมาแล้ว การที่ ศวร บอกผ่านสื่อว่าจะเป็นคนขอฝากขังเอง จะคัดค้านการประกันตัวจึงเป็นข้อกังวลมากสำหรับ MBK 39 เพราะเงินประกันตัวโดยรวมนั้นสูงกว่า 2 ล้านบาท คนที่เหลืออีก 30 คนที่ไม่ใช่แกนนำ ตอนนี้ทนายความแจ้งว่าเงินประกันตัวเพิ่มเป็น 60,000 บาท ซึ่งเหลือเวลาระดมทุนอีก 2 วัน ตรงนี้ก็เป็นอีกข้อกังวลหนึ่ง

ณัฏฐาระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้ติดต่อผ่าน FCCT ในฐานะสมาชิก ซึ่งก็ติดต่ออย่างกระชั้นชิดว่าจะมาจ่ายเงินค่าเช่าสถานที่หน้างานเป็นเงินจำนวน 8,000 บาท แต่เมื่อวานนี้ สน.ลุมพินี ได้มีการติดต่อกับผู้บริหาร สมาคมฯ ให้ไปพบเพราะกังวลว่าการแถลงข่าวจะมีความผิดข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน กลัวจะมีปัญหาเรื่องความมั่นคง สารพัดจะอ้าง ทางสมาคมฯ จึงไม่มีทางเลือกเพราะกลัวจะโดนตั้งข้อหา เลยได้ติดต่อมาบอกว่าคงลำบากที่จะรับการจอง ซึ่งเธอก็เข้าใจ แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิก ทาง FCCT ก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะให้เธอมาใช้พื้นที่เพื่อดื่มกาแฟ จึงเดินทางมาเพื่อดื่มกาแฟตามที่ระบุไว้ในเฟซบุ๊ก และก็พบว่าการมาดื่มกาแฟทำให้เจอลูกไม้ใหม่ เมื่อเล่น FCCT ไม่ได้ ก็ไปติดต่อทางเจ้าของอาคารให้เจ้าหน้าที่มาต้อนนักข่าวลงมารออยู่ด้านล่าง

(อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2018/02/75297)
 
วันที่ : 08-03-2018
ที่ศาลแขวงปทุมวัน ได้มีการอ่านคำพิพากษานายนพเก้า คงสุวรรณและนายนพพร นามเชียงใต้ 2 จำเลย คนอยากเลือกตั้ง MBK39 ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมที่สกายวอล์คหน้าห้างสรรพสินค้า MBK (มาบุญครอง) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 ซึ่งจำเลยทั้ง 2 คนให้การรับสารภาพ

ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุป เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ให้ลงโทษบทหนักที่สุด ตามคำสั่งหัวหน้ าคสช.ที่ 3/2558 พิพากษาให้จำคุกจำเลย 12 วัน ปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ให้ลดโทษครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 วัน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี
 
วันที่ : 09-03-2018
สำนักงานอัยการแขวงปทุมวัน พนักงานอัยการได้นัดหมายผู้ต้องหาในคดีคนอยากเลือกตั้ง หรือ “MBK39” ในส่วนของผู้ชุมนุม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ให้มารายงานตัว โดยมีผู้ต้องหาเดินทางไปที่สำนักงานอัยการแขวงปทุมวันทั้งหมด 23 คน ส่วนอีกผู้ต้องหา 5 คน ได้ขอเลื่อนการเข้ารายงานตัวไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากติดภารกิจ

ทั้งนี้ พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าการฟ้องจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และจะได้ทำความเห็นพร้อมส่งสำนวนไปที่อัยการสูงสุด ให้มีความเห็นต่อไป
 
วันที่ : 03-10-2018
ที่สำนักงานอัยการสูงสุดกรุงเทพใต้ เป็นนัดฟังคำสั่งฟ้อง 8 แกนนำคดีชุมนุมหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง หรือคดี “MBK39” ข้อหาทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องนายวีระ สมความคิด ไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้สอบคำให้การจำเลยที่เหลือ และจำเลยให้การปฏิเสธ ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมดโดยไม่ใช้หลักทรัพย์

ภูมิหลัง

  • นายวราวุธ (สุชาติ นาคบางไทร) ฐานังกรณ์
    แกนนำ กลุ่มฅนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ และ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (คปพร.)
    อดีตนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ต้องโทษจำคุก 3 ปี แต่ภายหลังได้รับการอภัยโทษ
  • นายนพพร (เต้ มดแดง) นามเชียงใต้
    เคยอยู่ใน “กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ” เป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการทหาร
    และการรัฐประหารที่โดดเด่นคนหนึ่ง ปราศรัยตั้งแต่เวทีคาราวานคนจน ที่สวนจตุจักร
    ปราศรัยท้องสนามหลวง เป็นคนแรก ๆ เมื่อครั้งมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
    ปี 2550 เป็นผู้ร่วมถวายฎีกา ให้ปลด ประธานองคมนตรี
    เม.ย.52 ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง จนล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา
    เหตุสงกรานต์ เม.ย.52 ทหารสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ก็อยู่บนเวทีปราศรัย จึงถูกหมายจับร่วมกับคนอื่น
    อีก 27 คน เมื่อผู้มีอำนาจปิด พีทีวี ก็ถูกหมายเรียก ข้อหา มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พีทีวี ณ ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว
  • นายรังสิมันต์ โรม
    นักกิจกรรมกลุ่มธรรมศาสตร์เสรี (LLTD), ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM), กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)
  • รศ.สุดสงวน สุธีสร
    นักวิชาการที่ร่วมต่อสู้ชุมนุมกับมวลชนเสื้อแดง
    เคยถูกจำคุกข้อหาละเมิดอำนาจศาล เป็นเวลา 1 เดือน เมื่อวันที่ 8 พฤษจิกายน 2559
  • นายสมบัติ บุญงามอนงค์
    นายสมบัติ บุญงานมอนงค์ หรือชื่อที่บุคคลรู้จักในวงกว้างคือ บก.ลายจุด เป็นนักกิจกรรมที่ทำงานด้านพัฒนาสังคมตั้งแต่แสดงละครเวทีที่สะท้อนปัญหาสังคมกับกลุ่มสื่อชาวบ้านหรือมะขามป้อม ตั้งแต่ปี 2531 รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงาโดยทำงานในประเด็นปัญหาคนไร้สัญชาติ ปัญหาการศึกษา ปัญหายาเสพติดและอื่นๆ และในทางการเมือง นายสมบัติได้ก่อตั้งกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวรณรงค์ในประเด็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด
  • นางสาวพัฒน์นรี
    มารดาของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านการรัฐประหาร พัฒน์นรีมีอาชีพรับจ้างทำความสะอาดบ้าน ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน เพียงแต่ไปติดตามสิรวิชญ์เมื่อสิรวิชญ์ไปทำกิจกรรมต่างๆ ภายหลังจากถูกดำเนินคดีมาตรา 112 นี้ เธอยังถูกดำเนินคดีร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอีก 2 คดี ได้แก่ คดีการชุมนุมที่สกายวอล์กบริเวณห้างมาบุญครอง หรือ MBK39 และคดีการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน หรือคดี RDN50
  • อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ (ฟอร์ด เส้นทางสีแดง)
    ทำกิจกรรมช่วยเหลือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมตั้งแต่ปี 2553
  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • สุวรรณา ตาลเหล็ก
    ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ผู้รณรงค์ยกเลิกมาตรา 112

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์
    อานนท์-จ่านิว-โรม: 3 ผู้ถูกดำเนินคดีมากที่สุดตั้งแต่หลังรัฐประหาร

    นับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ การใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนก็ถูกจำกัด และมีผู้ถูกคุกคามจากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว ไปจนถึงถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐหรือทุน เพื่อปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ของตน เช่น กรณีเหมืองแร่ทองคำ-เหมืองแร่โปรแตช กรณีที่ดินป่าไม้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือแม้แต่กรณีกลุ่มนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ตรวจสอบการทุจริต หรือเรียกร้องการเลือกตั้ง

    ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี ผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถูกกล่าวหาดำเนินคดีถึง 11 คดี รองลงมาคือสองนักกิจกรรม “จ่านิว” หรือนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกกล่าวหาจำนวน 10 คดี และนายรังสิมันต์ โรม ถูกกล่าวหาจำนวน 9 คดี

    ทั้งสามคนล้วนถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทั้งสิ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีข้อกล่าวหาที่ซ้ำกันในหลายคดีอยู่ 3 ข้อหาหลักๆ คือ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จึงอาจอนุมานได้ว่า ทั้งสามข้อหาเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมืองภายใต้ระบอบ คสช. ซึ่งประชาชนอีกหลายร้อยคนก็ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเหล่านี้เช่นกัน

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=10249)
  • นายสมบัติ บุญงามอนงค์
    ถูกอายัดบัญชีธนาคารจนส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศในระดับมหาวิทยาลัยของบุตรสาวของนายสมบัติ รวมทั้งกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตประจำวันของนายสมบัติเอง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์