ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
ดำ 177/2561

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ 177/2561
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์

ความสำคัญของคดี

คดีนี้สืบเนื่องจากการที่รังสิมันต์ โรม ถูกนำตัวไปสถานีตำรวจหลังจากจบการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งบริเวณสกายวอร์ค สี่แยกปทุมวัน “MBK39” โดยในดังกล่าว สน.ปทุมวัน ได้มีการตั้งข้อหาต่อผู้ร่วมกิจกรรมในวันนั้นจำนวน 39 คน มี 9 คน ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาร่วมกันขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อีก 30 คนแต่เดิมถูกตั้งข้อกล่าวหาตามความผิด พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ โดย 1 ใน 9 คน คือรังสิมันต์ โรม

ต่อมาวันที่ 20 ก.พ. 2561 พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ รองผู้กำกับสอบสวนสน.ปทุมวันได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายรังสิมันต์ โรมในข้อหาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน โดยเจ้าพนักงานอ้างว่าระหว่างการสอบสวนในคดีเกี่ยวกับการชุมนุมที่บริเวณสกายวอร์ค สี่แยกปทุมวัน รังสิมันต์ โรมได้ปฏิเสธที่จะพิมพ์ลายนนิ้วมือต่อเจ้าพนักงาน โดยเจ้าหน้าทที่ตำรวจได้อ้าง ประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ฉบับที่ 25 ซึ่งประกาศไว้เมื่อปี 2549 เรื่องการไปพิมพ์ลายนิ้วมือ มาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่รังสิมันต์ โรม

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง พ.ท.ต. สมัคร ปัญญาวงศ์ รอง ผกก. สอบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหานายรังสิมันต์ โรม ในข้อหาร่วมกันจัดการชุมนุมในที่สาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากวัง, ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และนายรังสิมันต์ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน แต่นายรังสิมันต์ฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน อันเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา เป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 29 กันยายน 2549

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลแขวงปทุมวัน คดีหมายเลขดำที่ 177/2561 ลงวันที่ 23 ก.พ. 2561)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมการชุมนุม “หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเวลา 19.45 น. นายรังสิมันต์ โรม, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนายอานนท์ นำภา ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายจับ ของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ จ.89/2561 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 จากกรณีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์คปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 หลังถูกนำตัวไป สน.ปทุมวัน และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่ถึง 150 เมตร ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ แล้ว นายรังสิมันต์ ได้ปฏิเสธที่จะพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหานายรังสิมันต์อีกข้อหาหนึ่งในข้อหา "ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริ์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ที่ได้สั่งผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ"

    นายรังสิมันต์ให้การปฏิเสธ และไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนปล่อยตัวและให้มารายงานตัวอีกครั้งวันที่ 20 ก.พ. 61

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 และ https://www.tlhr2014.com/?p=6336)
  • นายรังสิมันต์เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการศาลแขวงปทุมวัน โดยอัยการนัดฟังผลการพิจารณาสั่งคดีในวันที่ 23 ก.พ. 61 เวลา 10.00 น.

    (อ้างอิง: https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/1582042075178974)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6) ได้สั่งฟ้องนายรังสิมันต์ โรม จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ต่อศาลแขวงปทุมวัน กรณีไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือ ระหว่างรับทราบข้อกล่าวหาในคดี #MBK39 ที่สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 ก.พ.61

    คำฟ้องของพนักงานอัยการระบุว่าเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 พันตำรวจโทสมัคร ปัญญาวงศ์ รองผู้กำกับสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อหาเรื่องการจัดการชุมนุมในรัศมี 150 จากวัง, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 แก่นายรังสิมันต์ แต่จำเลยได้ฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน อันเป็นการฝ่าฝืนคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2549

    นายรังสิมันต์ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลแขวงปทุมวันจึงได้นัดพร้อม สอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 6 มีนาคม 2561 เวลา 9.00 น. และศาลให้ปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องประกันตัว

    สำหรับประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ระบุให้ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือ หรือลายเท้า ตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    (อ้างอิง: https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/1584472481602600)
  • ศาลแขวงปทุมวันอ่านและอธิบายฟ้อง นายรังสิมันต์ให้การปฏิเสธพร้อมทั้งยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร และแถลงต่อศาลว่าประสงค์จะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับความยุติธรรมทางอาญา ลงวันที่ 25 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นกฎหมายที่อัยการใช้ฟ้องจำเลย ขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ศาลจึงเลื่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 30 เม.ย. 61 เวลา 09.00 น.

    คำให้การเพิ่มเติมของนายรังสิมันต์ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายที่ยืนยันว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องของโจทก์ เนื่องจาก ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 เป็นประกาศที่ในทางรูปแบบและเนื้อหา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 3, มาตรา 26 และมาตรา 28 นอกจากนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิในการชุมนุมโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฏหมายที่พอสมควรแก่เหตุจึงไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฏหมาย

    (อ้างอิง: คำให้การเพิ่มเติมของจำเลย ศาลแขวงปทุมวัน คดีหมายเลขดำที่ 177/2561 ลงวันที่ 6 มี.ค. 2561)
  • รังสิมันต์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงปทุมวันขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย และขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3, มาตรา 26, มาตรา 28, และมาตรา 29 หรือไม่

    ในคำร้องดังกล่าวระบวุ่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและใช้บังคับไม่ได้อีก เนื่องจากประกาศของคณะรัฐประหารที่ออกมาในช่วงสภาวการณ์ไร้กฎหมาย จะมีผลบังคับใช้ต่อไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนรับรองไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เขียนรับรองให้ประกาศ คปค. มีผลบังคับใช้ แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ไม่ได้รับรองประกาศ คปค. ให้ชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับใช้อีกต่อไป

    และแม้ ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 จะมีสถานะเป็นกฎหมายก็ยังขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นคณะบุคคลที่ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยการใช้กองกำลังทหารและอาวุธสงครามเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินหรือทำรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ขัดต่อมาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ…”

    นอกจากนี้ รังสิมันต์ยังระบุในคำร้องอีกว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 26, มาตรา 28, และมาตรา 29 โดยมาตรา 26 บัญญัติว่า

    “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

    กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”

    มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย”

    มาตรา 29 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในคดีอาญาจะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้”

    การที่พนักงานสอบสวนจะบังคับให้บุคคลต้องพิมพ์ลายนิ้วมือของตนให้กับพนักงานสอบสวนเพียงเพราะถูกกล่าวหาในคดีอาญา ซึ่งพนักงานอัยการก็ยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี และศาลก็ยังไม่ได้พิพากษาลงโทษ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา และย่อมถือได้ว่าเป็นการบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง เพราะว่าการมอบหลักฐานส่วนตนไม่ว่าจะเป็นคำให้การ พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร อันรวมทั้งลายพิมพ์นิ้วมือของตนให้แก่พนักงานสอบสวนนั้นย่อมถือเป็นการให้การของผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้น หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ยินยอมให้การหรือมอบพยานหลักฐานดังกล่าวกับพนักงานสอบสวน ย่อมถือเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้ถูกกล่าวหา การออกกฎหมายบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมอบลายพิมพ์นิ้วมือของตนให้กับพนักงานสอบสวนตามประกาศดังกล่าวจึงเป็นการบังคับให้บุคคลต้องให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

    อย่างไรตาม ศาลแขวงปทุมมีคำสั่งให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่ว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 หรือไม่ แต่ไม่ส่งในประเด็นโต้แย้งที่ว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากศาลแขวงปทุมวันเห็นว่า การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต้องเป็นกรณีที่ศาลหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงสภาพการบังคับใช้กฎหมายด้วย ทั้งนี้ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าต้องการคัดค้านคำสั่งศาลที่ไม่ส่งประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

    ศาลแขวงปทุมวันให้เลื่อนนัดพร้อมเพื่อรอฟังผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 31 ก.ค. 2561 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=7043)
  • ศาลแขวงปทุมวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐาน คู่ความมาศาล ศาลแจ้งว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 25 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีคำสั่ง ศาลจึงจะดำเนินกระบวนพิจารณาไปก่อนโดยยังไม่มีคำพิพากษา

    หลังคู่ความตรวจพยานหลักฐานของอีกฝ่าย โจทก์แถลงขอนำพยานเข้าสืบ 5 ปาก ทนายจำเลยแถลงนำพยานเข้าสืบ 3 ปาก ใช้เวลาสืบฝ่ายละ 1 นัด โดยสืบพยานโจทก์ในวันที่ 26 ก.ย. 61 เวลา 9.00 น. และสืบพยานจำเลยในวันที่ 28 ก.ย. 61 เวลา 9.00 น.

  • ก่อนพิจารณาคดีศาลได้ให้เก็บเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดฝากไว้ที่หน้าบัลลังก์ นัดนี้โจทก์นำพยานเข้าเบิกความ จำนวน 2 ปาก คือ พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงศ์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ และ พ.ต.ท.ธีรพงศ์ สุทธิจำนงค์ พนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหา

    พ.ต.ท.สมัคร เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับสอบสวน สน.ปทุมวัน เมื่อจำเลยถูกจับกุม มีการสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น จำเลยให้การปฏิเสธ จากนั้นจึงนำตัวจำเลยไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากร แต่จำเลยปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือโดยพยานจำไม่ได้ว่าจำเลยแจ้งเหตุผลว่าอย่างไร เมื่อนำชื่อ สกุล และเลขบัตรประชาชนของจำเลยไปตรวจสอบกับกองทะเบียนประวัติอาชญากร ไม่พบประวัติอาชญากรรม

    ทนายจำเลยถามค้านเกี่ยวกับการชุมนุมที่สกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 โดยพยานยอมรับว่า พื้นที่ สน.ที่พยานรับราชการอยู่มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองบ่อยครั้ง พยานทราบเรื่องกฎหมายและสถานการณ์ทางการเมือง อีกทั้งพยานทราบว่า ขณะมีการชุมนุมในวันดังกล่าว มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ในมาตรา 44 แล้ว นอกจากนี้ พยานยังทราบว่ามีการประกาศโรดแมพการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2561 ก่อนจะเลื่อนไปเป็นกุมภาพันธ์ 2562 พยานเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิและหน้าที่ การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเป็นการเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ โดยพยานไม่ได้รับรายงานว่า มีการใช้อาวุธและความรุนแรงในที่ชุมนุม อีกทั้งพยานไม่ทราบว่าการชุมนุมในวันนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องให้เลือกตั้งให้เร็วที่สุด แต่ทราบว่ากลุ่มคนที่มาชุมนุมถูกเรียกว่า “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง”

    ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.สมัคร ดูประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ซึ่งพยานรับว่าเป็นประกาศที่ออกโดยคณะรัฐประหารที่ใช้กำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประกาศหรือคำสั่งใด ๆ ของ คปค. และ คมช.ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ตามมาตรา 308 ในหน้า 180 แต่พยานไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้รับรองประกาศ คมช.ไว้ แต่ทราบว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้สิ้นสุดลงเมื่อมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 11/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ให้ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

    ต่อมา พ.ต.ท.ธีรพงศ์ เข้าเบิกความโดยระบุว่า ขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวนในคดี โดยพยานประจำอยู่ที่ สน.ปทุมวัน ในช่วงปี 2555- เมษายน 2560 วันเกิดเหตุเวลา 23.00 น. พยานเป็นพนักงานเวรสอบสวน พ.ต.ท.สมัครได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายรังสิมันต์ โรมในข้อหาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน หลังจากนายรังสิมันต์ถูกจับกุมตามหมายจับที่ 89/2561 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ในข้อหายุงยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 และชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป โดยหลังจากที่พยานได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ จำเลยให้การปฏิเสธและไม่ยอมลงลายมือชื่อรวมถึงพิมพ์ลายนิ้วมือ พยานจึงได้ส่งชื่อ นามสกุล และเลขบัตรประชาชนของจำเลยไปตรวจสอบที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร โดยตรวจแล้วไม่พบประวัติการกระทำความผิด แต่ทางกองทะเบียนประวัติอาชญากรแจ้งว่า หากใช้ลายนิ้วมือในการตรวจสอบจะได้ข้อมูลที่ดีกว่า และหากเป็นชาวต่างชาติจะไม่สามารถตรวจสอบประวัติได้ถ้าไม่ใช้ลายนิ้วมือ หลังจากตรวจสอบไม่พบประวัติการกระทำความผิด พยานจึงสรุปสำนวนและสั่งฟ้องจำเลย

    ทนายจำเลยถามค้านเรื่องที่ไม่มีการแจ้งสิทธิผู้ต้องหาในการลงบันทึกประจำวัน พยานตอบว่า เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ได้ถูกจับกุมควบคุมตัวจึงไม่ได้มีการแจ้งสิทธิ แต่ได้แจ้งไว้ในบันทึกคำให้การและบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ทนายจำเลยยังถามอีกว่า พนักงานสอบสวนหรือข้าราชการทั่วไปสามารถตรวจหาลายนิ้วมือจากบัตรประชาชนได้หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ แต่ตามระเบียบการสอบสวนต้องส่งไปตรวจที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร ส่วนกองทะเบียนประวัติอาชญากรจะใช้ข้อมูลลายนิ้วมือจากกรมการปกครองหรือไม่ พยานไม่ทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่า การตรวจลายนิ้วมือนั้นหากพบว่าจำเลยมีการกระทำผิดจะทำให้มีการเพิ่มโทษหรือบวกโทษตามกฎหมายได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายจำเลยจึงถามต่อว่า ในการให้ปากคำโดยทั่วไปผู้ต้องหามีสิทธิที่จะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองใช่หรือไม่ ซึ่งพยานยอมรับว่า ใช่

    สำหรับพยานปากที่ 3-5 คือ ร.ต.อ.ณรงศักดิ์ เทพจันทร์ตา, ร.ต.อ.สกลวิชญ์ เทพมา ผู้ให้การในฐานะพยานในคดี และ ร.ต.ท.บุญส่ง พงษ์เสน เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือ ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงในบันทึกคำให้การพยาน จึงไม่ติดใจถามค้าน โจทก์แถลงหมดพยาน

    จากนั้น ทนายจำเลยได้นำจำเลย ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความ โดยอัยการไม่ติดใจถามค้าน ทนายจำเลยแถลงหมดพยาน ศาลจึงยกเลิกนัดวันที่ 28 กันยายน และเนื่องจากคดีนี้อยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามที่จำเลยยื่นคำร้อง ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงจะนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง

    โดยศาลอนุญาตให้ทนายจำเลยแถลงประสงค์จะยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 20 วัน รวมถึงอนุญาตให้คู่ความคัดถ่ายรายงานกระบวนและขอให้คู่ความไม่เผยแพร่รายงานกระบวนและเอกสารในสำนวนนี้ในสื่อออนไลน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ก่อนได้รับอนุญาตจากศาล


  • ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 ลงวันที่ 27 ก.พ. 62 ว่าด้วย ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ลงวันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2549 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้เป็นความผิดและโทษทางอาญา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ซึ่งสรุปสาระสำคัญเป็น 4 ประเด็น ดังนี้

    ประเด็นที่ 1 การบัญญัติกฎหมายที่ไม่ได้สัดส่วน

    ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มพิจารณาประเด็นแรก ด้วยการอธิบายบริบทขณะที่ประกาศฉบับดังกล่าวบังคับใช้ ซึ่งบัญญัติให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้าตามคำสั่งของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม จะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น ว่าเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ได้สัดส่วนพอเหมาะพอควร รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้หรือไม่

    ในประเด็นนี้ศาลมีความเห็นว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 มีความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า การอ้างประกาศฉบับดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาเพราะในยามที่บ้านเมืองปกติสุข การใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างไปจากสถานการณ์ที่ประกาศฉบับนี้บังคับใช้ โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

    อีกทั้งการกระทำผิดดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทำอันเป็นการร้ายแรงหรือกระทบกระเทือนความสงบสุขของบ้านเมืองถึงขนาดต้องบัญญัติให้เป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาที่มีระวาง โทษจำคุกถึง 6 เดือน ตามหลักภยันตราย (principal of harm) ซึ่งใช้เป็นกรอบในการกำหนดความผิดที่มีโทษทางอาญา

    ประเด็นที่ 2 ความผิดลหุโทษที่เหมาะสมอยู่แล้ว

    ศาลเห็นว่าการบัญญัติให้เป็นหน้าที่ผู้ต้องหาคดีอาญาต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของบุคคลเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนหาผู้กระทำผิดในคดีอาญา อีกทั้งการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะตัวของบุคคลไม่ต่างไปจากการลงลายมือชื่อ ซึ่งแม้จะเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดย่อมถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์

    ศาลยังมีความเห็นว่า เมื่อชั่งน้ำหนักหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมของรัฐตามวัตถุประสงค์ของประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ถือเป็นบทบัญญัติที่เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพทางร่างกายเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ได้สัดส่วนหรือไม่ความสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนรวมเมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิและเสรีภาพประชาชนที่สูญเสียไป

    ดังนั้น ศาลเห็นว่า มีมาตรการทางกฎหมายอื่นซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์อยู่แล้ว อันได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ที่เป็นมาตรการลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นความผิดลหุโทษที่เหมาะสมกับการกระทำฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าว

    ประเด็นที่ 3 การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะตัวของบุคคล

    ในประเด็นนี้ศาลเห็นว่า การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะตัวของบุคคลไม่ต่างไปจากการลงลายมือชื่อ ซึ่งแม้จะเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดย่อมถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิดังกล่าวจึงย่อมได้รับความคุ้มครองแม้กฎหมายจะบัญญัติให้เป็นหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม

    แต่ย่อมไม่อาจถือเป็นความผิดทางอาญาในฐานที่ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้าได้ รัฐชอบที่จะหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อบังคับการให้ผู้ต้องหาที่ไม่ยอมปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องเกิดภาระหรือความรับผิดได้เพียงเท่าที่จำเป็น และพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

    บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ในชีวิตและร่างกายของบุคคลอย่างไม่สมเหตุสมผล ไม่พอเหมาะพอควรตามความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนหรือไม่มีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนจะต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากกฎหมายนั้น

    ตลอดจนมีมาตรการทางกฎหมายอื่นที่ทดแทนได้อยู่แล้ว ขัดต่อหลักนิติธรรมรวมทั้งกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง

    ประเด็นที่ 4 ไม่วินิจฉัยว่าคปค. เป็นคณะบุคคลที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย

    อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญมิได้หยิบประเด็นโต้แย้งของผู้ต้องหาในประเด็นที่ว่า ประกาศฉบับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เนื่องจาก “คปค.” เป็นคณะบุคคลที่ได้อำนาจการปกครองประเทศโดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินหรือทำการรัฐประหาร ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    มีเพียงการระบุไปถึง ขณะที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนั้น เป็นช่วงเวลาที่คปค. กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินสำเร็จเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่ใช้อำนาจ โดยให้คปค. ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจทั้งในส่วนของอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ

    ดังนั้นเพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุขจนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว เป็นกรณีจำเป็นในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงการรัฐประหาร และในยามที่บ้านเมืองปกติสุข การใช้ชีวิตของปัจเจกชนย่อมต่างไปจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งกรณีไม่พิมพ์ลายนิ้วมือของรังสิมันต์ โรม แตกต่างจากช่วงเวลาที่ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ประกาศใช้

    (อ้างอิง : https://www.tlhr2014.com/?p=11373)
  • ศาลแขวงปทุมวันพิพากษายกฟ้อง คดีที่รังสิมันต์ โรม อดีตนักกิจกรรมและ สส.พรรคอนาคตใหม่ ถูกฟ้องฐานไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ ฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ซึ่งเป็นประกาศของคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 เนื่องจากประกาศดังกล่าวมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้

    ประมาณ 10.00 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ศาลแขวงปทุมวัน ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษาคดีของรังสิมันต์ โรม ที่ถูกฟ้องฐานฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือ หรือลายเท้า ตามคำสั่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน มีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหารังสิมันต์ฐานชุมนุมทางเมืองและสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือ แต่ผู้ต้องหาปฏิเสธ เป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่

    ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 ให้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเฉพาะในส่วนที่กำหนดให้เป็นความผิดและโทษทางอาญา และเมื่อบทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงใช้บังคับไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายรังสิมันต์ โรม

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์