สรุปความสำคัญ

ทหารและตำรวจเข้าจับกุมเด็กชาย (อายุ 14 ปี) 1 คน วัยรุ่นชาย (อายุ 18-20 ปี) 6 คน จากบ้านและสถานศึกษาในตำบลบ้านแท่น อ.ชนบท จ.ขอนแก่น และจับกุมชายอีก 2 คน นำไปควบคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น และมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) กรุงเทพฯ รวม 6 วัน ก่อนที่จะส่งตัวกลับมาให้ตำรวจ สภ.ชนบท และ สภ.บ้านไผ่ ดำเนินคดีในข้อหา ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่ และซ่องโจร จากพฤติการณ์รับจ้างวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ใน อ.บ้านไผ่ และ อ.ชนบท รวม 3 จุด และตระเตรียมวางเพลิงใน อ.เปือยน้อย ต่อมา พนักงานอัยการจังหวัดพลส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่ม และยื่นฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ต่อศาลจังหวัดพลรวม 3 คดี และแยกฟ้องเด็กอายุ 14 ปี ต่อศาลเยาวชนและครอบครัว จ.ขอนแก่น เป็นอีก 1 คดี

ต่อมาภายหลัง ทหารและตำรวจจับกุมนายปรีชา ผู้จ้างวาน และนายสาโรจน์ นำไปควบคุมตัวที่ มทบ.11 รวม 7 วัน ก่อนส่งตัวมาดำเนินคดีที่ จ.ขอนแก่น ในข้อหาเดียวกันกับจำเลยทั้ง 9 คน ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีไปก่อนหน้านั้น รวมทั้งสิ้น 3 คดี

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ภรรยาปรีชา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • ข่มขู่ / คุกคาม / ติดตาม
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • เต้ย
    • ฟอส
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในชีวิตและร่างกาย
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • เต้ย
    • แทน
    • ฟลุค
    • เบล
    • ฟอส
    • นายไตรเทพ
    • ไม่เปิดเผยชื่อ
    • นายฉัตรชัย
    • นายหนูพิน
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • ข่มขู่ / คุกคาม / ติดตาม
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปรีชา
    • สาโรจน์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • ข่มขู่ / คุกคาม / ติดตาม
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

กลางดึกคืนวันที่ 3 พ.ค. 60 เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่10 ตั้งอยู่ร่องกลางถนนสายบ้านไผ่-บรบือ เขตอำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เกิดความเสียหายเล็กน้อยบริเวณฐานซุ้ม แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีสื่อสำนักใดรายงานข่าว มีเพียงการแชร์รูปกันในโซเชียลมีเดีย

ต่อมา กลางดึกคืนวันที่ 12 พ.ค. 60 เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติขึ้นอีก 2 แห่ง ซุ้มดังกล่าวเป็นที่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่หน้าวัดป่าธรรมวิเวก ต.ชนบท และหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลชนบท อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ไฟลุกไหม้จนซุ้มทั้งสองได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีการรายงานข่าวของสื่อเช่นกัน

17 พ.ค.60 เช้าตรู่ เจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 50 นาย นำโดย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี ผู้บังคับการกองร้อยรักษาความสงบ
กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น เข้าตรวจค้นบ้านของนายปรีชา และโรงงานผลิตยาสมุนไพร โดยอ้าง ม.44 แต่ไม่ได้แจ้งสาเหตุที่เข้าตรวจค้น ขณะนั้นมีเพียงภรรยา และลูกชายของนายปรีชาอยู่ที่บ้าน หลังการตรวจค้นราว 3 ชม. ทหารได้ยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง และเอกสารจำนวนหนึ่งไป พร้อมทั้งควบคุมตัวภรรยาของปรีชา แจ้งว่า จะพาตัวไปสอบ 2-3 วัน โดยไม่แจ้งสถานที่

ช่วงบ่าย ทหารและตำรวจเข้าจับกุมตัวเด็ก (อายุ 14 ปี) และวัยรุ่น (อายุ 18-20 ปี) ในตำบลบ้านแท่น อ.ชนบท รวม 7 คน โดย 3 คน เจ้าหน้าที่ยกกำลังไปควบคุมตัวมาจากสถานศึกษานำตัวไปค้นหาหลักฐานที่บ้าน เช่น เสื้อผ้าที่ใส่ในวันเกิดเหตุ รถจักรยานยนต์ แล้วควบคุมตัวพร้อมของที่ตรวจยึดไปที่ สภ.ชนบท โดยที่ญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยม/จัดส่งอาหาร หรืออยู่ร่วมขณะสอบปากคำ ต่อมา เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมชายวัย 25 ปี (ฉัตรชัย) จากอำเภอโนนศิลา มาที่ สภ.ชนบท อีก จากนั้น ทั้งหมดถูกส่งตัวไป มทบ.23 ในตอนกลางดึก พร้อมภรรยาของปรีชาที่ถูกควบคุมตัวมาจาก มทบ. 23 ในช่วงค่ำเพื่อมาสอบปากคำที่ สภ.ชนบท

นอกจากนี้ ตำรวจยังจับกุมนายหนูพิณ อายุ 64 ปี ที่ จ.สกลนคร ควบคุมตัวไปที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง ก่อนนำตัวมาตรวจค้นบ้านใน อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น ในวันรุ่งขึ้น จากนั้นควบคุมตัวที่ มทบ.23 และควบคุมตัวไป มทบ.11 ในวันต่อมา

ในระหว่างการควบคุมตัวที่ มทบ.23 เป็นเวลา 1 คืนนี้ กลุ่มวัยรุ่นให้ข้อมูลว่า พวกเขาถูกขู่ไม่ให้ยิ้ม และไม่ให้มองออกไปนอกหน้าต่างห้อง โดยมีคนหนึ่งถูกเตะด้วยรองเท้าคอมแบทเข้าที่กกหู 1 ครั้ง ทหารกล่าวหาว่า เขายิ้มตอนที่ถูกสอบสวนที่สถานีตำรวจ และมีอีกคนถูกเตะที่กลางหลัง 1 ครั้ง จนเป็นแผลมีเลือดออก โดยถูกล่าวหาว่ายิ้มใส่ทหารที่ควบคุมตัวอยู่

18 พ.ค. 60 ผู้ต้องสงสัย/ภรรยาผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุม-ควบคุมตัวทั้ง 9 คน ถูกนำตัวขึ้นรถตู้ออกเดินทางจาก มทบ.23 โดยไม่แจ้งจุดหมายปลายทาง รถตู้วิ่งเข้ากรุงเทพฯ และนำบุคคลทั้งหมดไปส่งยังค่ายทหาร (ผู้ถูกควบคุมตัวให้ข้อมูลว่าเป็น มทบ.11 โดยสังเกตเห็นจากโต๊ะเก้าอี้) โดยมีการปิดตาช่วงก่อนที่รถผ่านเข้าค่าย ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลาที่ทั้งหมดถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารทั้ง 2 แห่ง ญาติไม่สามารถติดต่อได้ หรือได้รับการแจ้งว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน ผู้ถูกควบคุมตัวก็ไม่รู้ว่าตนเองอยู่ที่ใด และไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับใครได้แม้แต่กับคนที่ถูกควบคุมตัวมาด้วยกัน รวมถึงไม่รู้ว่าจะถูกควบคุมตัวถึงเมื่อไหร่ แต่ละคนถูกเรียกสอบปากคำหลายครั้ง และให้เซ็นเอกสารจำนวนหลายแผ่นโดยไม่รู้ว่าเป็นเอกสารอะไร

ขณะที่ทั้ง 10 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ มทบ.11 วันที่ 20 พ.ค. 60 ศาลจังหวัดพลเพิ่งมีการออกหมายจับบุคคลรวม 8 คน ในคดีดังกล่าว (ยกเว้นภรรยาของปรีชา) รวมทั้งศาลเยาวชนและครอบครัว จ.ขอนแก่น ก็ออกหมายจับเด็กอายุ 14 เช่นกัน

22 พ.ค. 60 ผู้ถูกควบคุมตัว 9 คน (ยกเว้นหนูพิณ) ถูกส่งตัวกลับมาที่ สภ.ชนบท ตำรวจทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นส่งตัวเด็กไปฝากขังที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ก่อนศาลอนุญาตให้ควบคุมตัวที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น ขณะที่อีก 7 คน ถูกขังอยู่ สภ.ชนบท แต่ตำรวจยังไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยม ส่วนภรรยาปรีชา หลังลงชื่อในบันทึกข้อตกลงเงื่อนไขในการปล่อยตัวของทหาร ก็ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน โดยตำรวจไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

23 พ.ค. 60 ตำรวจนำผู้ต้องหาวัยรุ่น 6 คน ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ก่อนนำไปขออำนาจศาลจังหวัดพลฝากขังระหว่างสอบสวน โดยไม่ให้ญาติติดตามไปด้วย หลังจากศาลอนุญาตให้ฝากขัง เจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งหกคนไปขังที่เรือนจำอำเภอพล จ.ขอนแก่น

24 พ.ค. 60 ตำรวจยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดพลขอฝากขังนายฉัตรชัย และนายหนูพิน ก่อนนำตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปขังที่เรือนจำอำเภอพลเช่นเดียวกัน (ข้อมูลจาก http://www.tlhr2014.com/th/?p=4443)

จากกรณีดังกล่าวนี้พบว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนต่าง ๆ นับตั้งแต่ การจับกุมโดยไม่มีหมายจับ ไม่แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุม ไม่เปิดโอกาสให้ติดต่อญาติ ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยรวมถึงเด็กอายุ 14 ปี และภรรยาผู้ต้องสงสัย โดยพลการในค่ายทหาร 2 แห่ง รวม 6 วัน ตัดขาดการติดต่อกับผู้อื่น แม้แต่กับผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปพร้อมกัน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย (ละเมิดสิทธิในความมั่นคงปลอดภัย) นอกจากนี้ยังเป็นการข่มขู่โดยสภาพให้ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ โดยการสอบสวนในค่ายทหารนำไปสู่การออกหมายจับและดำเนินคดีในที่สุด นอกจากนี้ ในขั้นตอนการสอบสวน พนักงานสอบสวนยังปฏิเสธสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติ สิทธิที่จะให้ทนายความหรือผู้ไว้ใจเข้าฟังการสอบปากคำ ตั้งข้อหาหนักเกินพฤติการณ์จริงทั้งข้อหาอั้งยี่ รวมถึงข้อหาดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีการแจ้งเพิ่มเติมในภายหลัง อันเป็นการขยายขอบเขตการใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปจนสร้างความหวาดกล้วต่อประชาชน ไปจนถึงศาลเองก็ปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา

อีกทั้งการที่ทหารเข้าจับกุมตัวเด็กอายุ 14 ปี และควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 6 วัน โดยไม่รับการเยี่ยมเยียนจากญาติ เป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามกฎหมายพิเศษดำเนินการกับเด็กเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ อันเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และการควบคุมตัวภรรยาผู้ต้องสงสัยในค่ายทหารก็เป็นปฏิบัติการที่เกินเลยจากที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ให้อำนาจไว้ ถือเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างน่าหวั่นวิตก

ในขณะที่คดีของจำเลย 9 คน ข้างต้น บางส่วนศาลมีคำพิพากษาแล้ว บางส่วนอยู่ระหว่างรอการพิพากษา วันที่21 ธ.ค. 60 ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) กรุงเทพฯ สนธิกำลังกับตำรวจ สภ.ศิลาลาด จ.ศรีสะเกษ เข้าจับกุมนายปรีชา และนายสาโรจน์ ผู้ต้องหาจ้างวานเผาซุ้มฯ ตามหมายจับศาลจังหวัดพล และนำตัวไปควบคุมที่ มทบ.11 ต่อมา วันที่ 25 ธ.ค. 60 ภรรยาและลูกของนายปรีชาเดินทางไปขอเยี่ยมนายปรีชาที่ มทบ.11 เจ้าหน้าที่ทหารออกมารับและแจ้งว่า ไม่อนุญาตให้เยี่ยม แต่ให้ข้อมูลว่า นายปรีชามีอาการความดันต่ำเนื่องจากถูกสอบปากคำทั้งคืน

27 ธ.ค. 60 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. นำตัวปรีชาและสาโรจน์ส่งให้กองกำกับการตำรวจปราบปราม เพื่อทำบันทึกจับกุม ก่อนส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ชนบท ซึ่งมารอรับตัวอยู่ นำตัวไปดำเนินคดี โดยมีแพทย์มารอตรวจร่างกายด้วย ทั้งนี้ ในขั้นตอนการทำบันทึกจับกุม ทหารไม่อนุญาตให้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าพบผู้ต้องหาทั้งสอง แต่ให้ทนายความที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้เข้าให้คำแนะนำ โดยทั้งตำรวจและทนายที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมมาไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุม และไม่ได้แนะนำให้ผู้ต้องหาอ่านบันทึกจับกุมก่อนลงชื่อ ต่อมา ตำรวจนำตัวนายปรีชาและนายสาโรจน์ถึง สภ.ชนบทในช่วงกลางดึก

28 ธ.ค. 60 ตำรวจพาผู้ต้องหาทั้งสองไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ก่อนนำตัวมาสอบปากคำ ทั้งสองให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนทำบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวน โดยใช้คำให้การที่ผู้ต้องหาให้การขณะถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร แต่หลังจากทนายความอ่านบันทึกดังกล่าวให้ผู้ต้องหาฟัง ผู้ต้องหาจึงแย้งและขอให้แก้เอกสารในหลายจุด

29 ธ.ค. 60 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังปรีชาและสาโรจน์ต่อศาลจังหวัดพล

กรณีของปรีชาและสาโรจน์ก็เกิดการละเมิดสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องหา/จำเลยกลุ่มแรก ต่างกันในชั้นสอบสวนที่ให้ทนายความเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนด้วยเท่านั้น

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 20-05-2017
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ ในวันที่ 20 พ.ค.60 ขอให้ชี้แจงกรณีการควบคุมตัวเด็กอายุ 14 ปี และยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการภายในค่ายทหาร โดยแสดงความกังวลถึงการควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมตัวเด็กอายุ 14 ปี ซึ่งจำเป็นต้องกระบวนการที่เหมาะสมอันแตกต่างจากผู้ใหญ่
ทั้งนี้ หากกลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องหาว่ากระทำความผิดใดตามประมวลกฎหมายอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ควรที่จะดำเนินการไปตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553
 
วันที่ : 23-05-2017
Human Rights Watch เผยแพร่ถ้อยแถลงของ แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ที่แสดงความกังวลต่อ “การควบคุมตัวเด็กผู้ชายวัย 14 ปีแบบลับในค่ายทหารของไทย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ร้ายแรง โดยเมื่อคำนึงว่าแม้ที่ผ่านมามีรายงานการปฏิบัติมิชอบของทหาร แต่ไม่มีปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์แต่อย่างใด" “เยาวชนทั้งสี่คนที่ถูกจับกุมไม่ควรถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการนำตัวไปขึ้นศาล และไม่ควรถูกควบคุมตัวในค่ายทหารโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ไม่ว่าพวกเขาจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาใดก็ตาม” พร้อมทั้งเรียกร้องให้ “รัฐบาลไทยควรทำให้เราคลายความกังวลที่จริงจังต่อความปลอดภัยของเด็กชาย... โดยให้ปล่อยตัวเขาไปพบกับครอบครัวโดยทันที ให้เขาสามารถเข้าถึงทนายความ และเอาตัวเขาออกจากที่คุมขังของทหาร”
 
วันที่ : 10-07-2017
เช้าวันที่ 10-11 ก.ค. 60 เรือนจำอำเภอพลได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 3 คดี รวม 8 คน ทั้งนี้ เนื่องจากพนักงานสอบสวนกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 8 ว่ากระทำความผิดอาญาในข้อหาที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูง 7 ปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรค 5 กำหนดให้ศาลมีอํานาจสั่งขังครั้งละไม่เกิน 12 วัน รวมแล้วไม่เกิน 48 วัน โดยการฝากขังครั้งที่ 4 ครบกำหนดในวันที่ 9 และ 10 ก.ค. 60 แต่พนักงานอัยการจังหวัดพลยังไม่สามารถสรุปสำนวนเพื่อยื่นส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดพลได้ ทำให้ต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา ทั้งนี้ หากพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล ศาลจะนัดผู้ต้องหาทั้ง 8 มาอ่านฟ้องให้ฟังและสอบคำให้การต่อไป ขณะที่ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กเยาวชนอายุ 14 ปี ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น ยังถูกควบคุมตัวไว้ในระหว่างสอบสวน ไม่ได้รับการปล่อยตัว และตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ในคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จําคุกเกิน 5 ปี หากอัยการไม่สามารถยื่นฟ้องได้ทันภายใน 30 วัน ศาลมีอำนาจอนุญาตให้พนักงานสอบสวนหรืออัยการผัดฟ้องได้อีกครั้งละ 15 วัน รวม 4 ครั้ง
 
วันที่ : 16-08-2017
พนักงานสอบสวนมีหมายเรียกผู้ต้องหาทั้ง 8 ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 ส่งสำนักงานอัยการจังหวัดพล และอัยการส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดพลในวันเดียวกัน รวม 3 คดี แยกเป็นคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.10 ใน อ.บ้านไผ่ ฟ้องจำเลยวัยรุ่น 6 คน ในข้อหาร่วมกันวางเพลิง, ทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์, คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.9 จำนวน 2 ซุ้ม ใน อ.ชนบท อัยการฟ้องจำเลยวัยรุ่ย 4 คน ในข้อหาร่วมกันวางเพลิง, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ และคดีตระเตรียมเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.9, พระราชินีใน ร.9, และ ร.10 ใน อ.เปือยน้อย ซึ่งอัยการฟ้องฉัตรชัยและหนูพิณในข้อหาร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์, เป็นอั้งยี่ และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ ก่อนที่จำเลย 8 คน จะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำอำเภอพลในช่วงเย็น
 
วันที่ : 21-08-2017
ศาลเยาวชนฯ ขอนแก่น ได้เบิกตัว ด.ช.แฟง มาอ่านฟ้องให้ฟัง และถามคำให้การ จากนั้นอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว (90 วัน) และเพื่อให้มีโอกาสกลับไปเรียนหนังสือต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
 
วันที่ : 15-11-2017
ศาลจังหวัดพลนัดอ่านคำพิพากษาคดีตระเตรียมเผาซุ้มใน อ.เปือยน้อย ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดพลเป็นโจทก์ฟ้องนายหนูพิณ และนายฉัตรชัย หลังจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ฐานเป็นอั้งยี่ ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นและหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด ให้จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะ คดีมีพฤติการณ์ร้ายแรง ไม่มีเหตุให้รอลงอาญา ให้ริบน้ำมัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และรถกระบะ ซึ่งเป็นของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิด
 
วันที่ : 31-01-2018
ศาลจังหวัดพลอ่านคำพิพากษา คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติใน อ.บ้านไผ่ และ อ.ชนบท รวม 2 คดี หลังจำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา คดีเผาซุ้มฯ ใน อ.บ้านไผ่ ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ), 217 (วางเพลิงเผาทรัพย์), 358 (ทำให้เสียทรัพย์), 209 (เป็นอั้งยี่), 210 (เป็นซ่องโจร) ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งหก โดยหลังจากลดมาตราส่วนกระทงละ 1 ใน 3 กรณีที่จำเลยที่ 1,ที่ 3 ถึงที่ 6 อายุเกิน 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี และลดกึ่งหนึ่งเนื่องจากทั้งหมดรับสารภาพ คงจำคุกจำเลยที่ 1,ที่ 3 ถึงที่ 6 คนละ 2 ปี 16 เดือน และคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี ไม่รอลงอาญา จำเลยทั้ง 6 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท แก่ อบต.หินตั้งแล้ว

ส่วนคดีเผาซุ้มฯ ใน อ.ชนบท ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217, 209 , 210 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ โดยหลังจากลดมาตราส่วนกระทงละ 1 ใน 3 กรณีที่จำเลยที่ 1,ที่ 3 และที่ 4 อายุไม่เกิน 20 ปี และลดกึ่งหนึ่งเนื่องจากทั้งหมดรับสารภาพ คงจำคุกจำเลยที่ 1,ที่ 3 และที่ 4 คนละ 3 ปี 16 เดือน และคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา อีกทั้งให้นับโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ ต่อจากโทษจำคุกในคดีแรกทำให้จำเลยที่ 1,ที่ 3 และที่ 4 ต้องโทษจำคุกคนละ 5 ปี 32 เดือน หรือ 7 ปี 8 เดือน และจำเลยที่ 2 ต้องโทษจำคุกมีกำหนดรวม 11 ปี 6 เดือน และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 958,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่เทศบาลตำบลชนบท ผู้เสียหาย
 
วันที่ : 14-03-2018
พนักงานอัยการจังหวัดพลเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายปรีชา และนายสาโรจน์ ต่อศาลจังหวัดพล รวม 3 คดี แยกเป็นคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.10 ใน อ.บ้านไผ่ ฟ้องในข้อหาร่วมกันวางเพลิง, ทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์, คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.9 จำนวน 2 ซุ้ม ใน อ.ชนบท อัยการฟ้องในข้อหาร่วมกันวางเพลิง, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ และคดีตระเตรียมเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.9, พระราชินีใน ร.9, และ ร.10 ใน อ.เปือยน้อย ซึ่งอัยการฟ้องในข้อหาร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์, เป็นอั้งยี่ และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์
 
วันที่ : 11-04-2018
ทนายความของจำเลยวัยรุ่น 6 คน เข้ายื่นอุทธรณ์ที่ศาลจังหวัดพล คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในทั้ง 2 คดี โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ตามระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร หรือให้จำเลยเสียค่าปรับ หรือทำงานบริการสังคม โดยจำเลยทั้งหกยินยอมถือปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และในคดีที่สองให้ลดหย่อนค่าเสียหายทางแพ่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อขอโอกาสให้จำเลยทั้งหกปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคม พร้อมทั้งดูแลครอบครัวต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าการจำคุกจำเลยทั้งหกไว้เป็นเวลานาน และศาลจังหวัดพลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 61 รับอุทธรณ์ของจำเลยในทั้ง 2 คดี ส่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาต่อไป
 
วันที่ : 18-06-2018
ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้
 
วันที่ : 18-09-2018
ศาลจังหวัดพลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงวันที่ 11 ก.ค. 61 รวม 2 คดี คือ คดีเผาซุ้มในอำเภอบ้านไผ่ และคดีเผาซุ้มในอำเภอชนบท โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติอำเภอบ้านไผ่ ซึ่งมีนายไตรเทพกับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ทำให้เสียทรัพย์ เป็นอั้งยี่ และซ่องโจร จำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ
ส่วนคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในอำเภอชนบท ซึ่งมีนายไตรเทพกับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาแก้ ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น เป็นอั้งยี่ และซ่องโจร จำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด
ทั้งนี้ นายฟลุก จำเลยที่ 2 เหลือโทษจำคุกทั้งสองคดีรวม 9 ปี (ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 11 ปี 6 เดือน) จำเลยที่ 1, 3 และ 4 เหลือโทษจำคุกทั้งสองคดีรวม 6 ปี (ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 7 ปี 8 เดือน) ส่วนเต้ยและแทน ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดียว เหลือโทษจำคุก 3 ปี (ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 3 ปี 4 เดือน)
 
วันที่ : 02-10-2018
ทนายจำเลยเข้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นใน 3 คดี คือ คดีเผาซุ้มในอำเภอบ้านไผ่, คดีเผาซุ้มในอำเภอชนบท และและคดีตระเตรียมเผาซุ้มในอำเภอเปือยน้อย ซึ่งมีนายปรีชา และนายสาโรจน์ เป็นจำเลยในทั้ง 3 คดี ศาลจังหวัดพลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยในทั้ง 3 คดี ส่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาต่อไป

ภูมิหลัง

  • แทน
    กำลังศึกษา กศน. ระดับชั้นมัธยมต้น อาศัยอยู่กับอา พ่อแม่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ
  • เบล
    กำลังศึกษาชั้น ปวส.1
  • ฟอส
    กำลังศึกษาชั้น ปวช.2 วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น
  • นายไตรเทพ
    จบ ปวช. แต่ไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากไม่มีทุนทรัพย์ แม่หารายได้เพียงคนเดียว พ่อเสียชีวิต จึงเปิดรับซ่อมรถช่วยแม่หารายได้
  • ฟลุค
    จบ ปวช. สมัครเรียน ปวส.1 ไว้แต่ยังไม่ได้ไปเรียน ถูกดำเนินคดีก่อน
  • เต้ย
    จบ ป.6 ไม่ได้เรียนต่อ อยู่กับยาย เพราะพ่อกับแม่เลิกกัน และแม่ไปทำงานกรุงเทพฯ

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์